© 2017 Copyright - Haijai.com
“คลอดธรรมชาติ” เจ็บน้อยกว่าคลอดแบบผ่าตัดจริงหรือ?
เชื่อว่าคุณแม่ทุกคน พอใกล้ถึงวันใกล้คลอดทีไรเป็นต้องกังวลนั่นกังวลนี่กันทั้งนั้น โดยเฉพาะการคลอดธรรมชาติ มักมีคนพูดให้ได้ยินแตกต่างกันเสมอว่า คลอดธรรมชาติไม่เจ็บ กับคลอดธรรมชาติเจ็บ ทำให้เกิดความสงสัย และส่งผลให้คุณแม่ที่ใกล้คลอดเริ่มกังวลกันแทบทั้งนั้น
การคลอดธรรมชาติ ที่ผ่านช่องคลอด
นี่เป็นการคลอดที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ และทารกต้องอยู่ในท่าเอาศีรษะลงเข้าสู่เชิงกราน โดยการคลอดแบบธรรมชาตินี้ จะส่งผลดีกับคุณแม่และทารกมากกว่าการผ่าตัดคลอด และแน่นอนว่าขณะที่กำลังรอคลอด คุณแม่ทุกคนคงจะมีความรู้สึกกังวลและกลัวการเจ็บครรภ์เป็นที่สุด ซึ่งทางการแพทย์อาจจะมีวิธีบรรเทาความเจ็บปวดด้วยการใช้ยาแก้ปวด และอีกวิธีก็คือการบล็อกหลัง ซึ่งการบล็อกหลังต้องดูความเหมาะสมและความสมัครใจของคุณแม่เป็นรายๆ ไป และจะมีการปรับระดับยาที่จะลดความเจ็บปวดให้เหมาะสมกับคุณแม่ จนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมอ 10 เซนติเมตร คุณแม่ก็ยังสามารถมีแรงเบ่งคลอดบุตรได้ ถ้าเป็นการคลอดครั้งแรก แล้วทารกมีขนาดตัวที่ค่อนข้างใหญ่ แต่คุณแม่ค่อนข้างมีรูปร่างที่ตัวเล็ก ก็อาจทำให้คุรแม่เจ็บครรภ์คลอดที่ค่อนข้างมาก อีกทั้งการที่ไม่ตัดแผลฝีเย็บเพื่อขยายช่องทางคลอด ก็อาจจะทำให้เกิดแผลฉีกขาด และเป็นอันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียงได้เช่นกัน
การคลอดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน 3 ชนิด ซึ่งจะหลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนแห่งความรัก ที่จะช่วยสร้างความอบอุ่น ความรัก ความผูกพัน ระหว่างแม่กับลูก ฮอร์โมนที่ช่วยให้กล้ามเนื้อเต้านมบีบตัวเพื่อหลั่งน้ำนม และฮอร์โมนที่ทำให้มีความสุข ซึ่งจะหลั่งขณะปวดคลอด และด้วยสัญชาตญาณของทารก เขาสามารถรับรู้ถึงสายสัมพันธ์แม่ ลูก ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับอาการเจ็บเบ่งของแม่ ความรู้สึกรี้คุณแม่อาจหยั่งรู้ไม่ถึง แต่ลูกของคุณแม่รับรู้ได้ตามเส้นทางที่ธรรมชาติได้กำหนดไว้
เจ็บจริง หรือเจ็บหลอก
• การเจ็บครรภ์ในคุณแม่ใกล้คลอดนั้น จะมีอาการปวดร่วมกันพร้อมกับมีการหดรัดตัวของมดลูก ที่เป็นการปวดเหมือนกับการปวดประจำเดือน แต่การปวดท้องคลอดจะเป็นการเจ็บปวดที่บริเวณมดลูกทั้งหมด ความปวดจะมีระดับความรุนแรง(severity) ที่เพิ่มขึ้นๆ และช่วงเวลาของการปวดแต่ละครั้ง(Interval) จะสั้นลงๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ็บทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนเป็นเจ็บทุกๆ 30 นาที
• ความเจ็บปวดจากการที่มดลูกหดรัดตัว จะมีระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งที่นานขึ้นเรื่อยๆ จาก 10 วินาที เป็น 20 วินาที เป็น 40 วินาที และเมื่อคุณแม่เจ็บครรภ์คลอดจริงขึ้นมา การคลอดก็จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งทารกคลอดเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อทารกได้คลอดออกมา และส่งเสียงร้องขึ้นนั่นเอง
• อาการเจ็บปวดครรภ์ไม่สม่ำเสมอ เจ็บที่มีการทิ้งระยะห่างออกไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งมดลูกมีการหดรัดตัวเบาๆ ไม่รุนแรง จนกระทั่งการเจ็บปวดหยุดลง อาการนี้มักเรียกกันว่าการเจ็บครรภ์หลอก (False Labor)
Steps การเจ็บครรภ์คลอดในแบบวิถีธรรมชาติ
ระยะที่ 1 ของการคลอด First Stage of Labor เป็นการเริ่มเจ็บครรภ์จริงจนถึงปากมดลูกเปิดหมด โดยแบ่งย่อยออกเป็น 3 ระยะ
• Early Labor เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกยังปิดอยู่ จนกระทั่งปากมดลูกเปิดได้ 4 เซนติเมตร ก็จะมีการหดรัดตัวของมดลูก ทุกๆ 5-30 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 15-40 วินาที คุณแม่ที่เจ็บคลอดจะมีอาการปวดแบบปวดตะคริว มีอาการปวดหลังร่วมด้วย
• Accelerated Labor มีการหดรัดตัวของมดลูกทุกๆ 2-3 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 45-60 วินาที โดยการหดรัดตัวจะแรงขึ้นในระยะนี้ สารเอนเดอร์ฟินจะเริ่มหลั่งออกมาเพื่อช่วยให้ผู้คลอดสามารถดำเนินการคลอดต่อไปได้ พฤติกรรมของผู้คลอดจะเริ่มเปลี่ยนไปโดยจะเงียบลง ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะนั่งหรือนอนอยู่กับที่ หลับตาลง อาการแสดงเหล่านี้ได้บอกว่าระดับสารเอนดอร์ฟินในร่างกายของคุณแม่นั้นมีเพียงพอสำหรับความต้องการ และการคลอดก็จะดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ
• Transition ในระยะนี้จะมีการหดรัดตัวของมดลูกทุกๆ 1-3 นาที เป็นระยะเวลา 45-90 วินาที โดยจะหดรัดรุนแรงที่สุด และจะทำให้คุณแม่เจ็บปวดมาก ร่วมทั้งร่างกายจะมีการสร้างสารเอนเดอร์ฟินจะสูงที่สุดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้สามารถทนต่อความเจ็บปวดและทำให้ผู้คลอดมุ่งสนใจแต่ภายในตัวของผู้คลอด(Focus Inwardly) คุณแม่จะมีปฏิกิริยาในการหายใจที่ถี่และเร็วขึ้นจากการปวด ในคุณแม่บางรายอาจร้องครวญครางออกมาได้ หรือร้องขอยาแก้ปวด หรือขอให้ผ่าตัด ซึ่งหากผู้ดูแลรู้หลักการดังกล่าวแล้วก็จะช่วยประคับประคองให้การคลอดดำเนินไปสู่ระยะที่ 2 ของการคลอดโดยปราศจากการแทรกแซงที่ไม่จำเป็น เนื่องจากอาการทั้งหมดนี้เป็นผลของสารเอนเดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้คุณแม่สามารถลืมอาการเจ็บปวดหลังคลอดแล้ว และยังช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก(Bonding) หลังคลอด ในระยะนี้มดลูกกำลังเปลี่ยนสถานะของการกระทำจากการขยายปากมดลูก เป็นการผลักดันทารกผ่านช่องทางคลอด ซึ่งสามารถจะทราบได้โดยผู้คลอดเริ่มมีความต้องการอยากที่จะเบ่ง
ระยะที่ 2 ของการคลอด Second Stage of Labor
• โดยทั่วไปหลังจากสิ้นสุดระยะที่ 1 ของการคลอดจนถึงความรู้สึกอยากเบ่งคลอดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก มีระยะเวลาประมาณ 10-30 นาที ซึ่งเป็นระยะพักหลังจากที่ได้ผ่านการเจ็บครรภ์คลอดในระยะที่ 1 หลังจากนั้นจึงมีความรู้สึกอยากเบ่ง ดังนั้นจึงไม่ควรให้ผู้คลอดเบ่งในระยะที่อยู่ในระยะพักดังกล่าว มดลูกในระยะนี้มรการหดรัดตัวทุก 3-5 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 45-70 วินาที ระยะที่ 2 ของการคลอดจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วส่งเสียงร้องแรกนั่นเอง
ฝึกการหายใจเพื่อการคลอด
การหายใจขณะที่กำลังจะคลอดก็มีส่วนทำให้การคลอดผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเช่นกัน ดังนั้นการหายใจหรือการกำหนดลมหายใจเข้าออก จึงมีหลักในการให้คุณแม่ที่ใกล้คลอดได้ไปลองฝึกปฏิบัติกันดูคะ ซึ่งการหายใจจะมีอยู่ 3 ระดับ ดังนี้
• การหายใจ แบบล้างปอด
คือการสูดหายใจเข้าลึกๆ โดยใช้มือข้างหนึ่งวางไว้ที่ท้อง ถ้าหายใจถูกต้อง ท้องจะต้องป่อง จากนั้นก็ให้ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ
• การหายใจ ระดับอก
คือการสูดหายใจ ถึงแค่ระดับอก โดยใช้มืออข้างหนึ่งวางไว้ที่อก ถ้าหายใจถูกต้อง อกจะต้องพองขึ้น จากนั้นก็ให้ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ
• การหายใจ ระดับคอ
คือการสูดหายใจตื้นๆ เร็วๆ โดยหายใจ ถึงแค่ระดับคอ แล้วหายใจออกทางปากถี่ๆ ซึ่งการหายใจแต่ละระดับจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายลง และบรรเทาความเจ็บปวดในระยะต่างๆ ของการคลอดได้
วิธีปฏิบัติขณะคลอด
เมื่อมดลูกเริ่มหดรัดตัว ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง ให้หายใจล้างปอด 1 ครั้ง จากนั้นให้หายใจระดับอก นับ 1 2 3 แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปาก นับ 1 2 3 ทำเช่นนี้ 6-9 ครั้งต่อนาที เมื่อมดลูกคลายตัวเต็มที่ ให้หายใจล้างปอดอีก 1 ครั้ง สำหรับการหายใจแบตื่นๆ ถี่ๆ จะใช้ในช่วงที่อยากเบ่ง แต่ปากมดลูกยังไม่เปิดเต็มที่ คุณพยาบาลแนะนำว่า อย่าเพิ่งเบ่ง(เพราะเบ่งยังไง ลูกก็ยังไม่คลอด ควรที่จะเก็บแรงไว้ก่อน) แต่ให้ผ่อนคลายด้วยการหายใจ ตื้นๆ ถี่ๆ โดยหายใจเข้านับ 1 หายใจออกทางปากนับ 2 ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการเบ่งคลอดขั้นสุดท้าย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)