© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคเบื่ออาหาร เพราะสมองสั่งการ
กลายเป็นที่ฮือฮาในวงการนางแบบและคนทั่วโลกเป็นอย่างมาก เมื่อประเทศแห่งศูนย์กลางแฟชั่นอย่างฝรั่งเศสได้มีการเตรียมออกกฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับนางแบบที่คลั่งในความผอมให้กลับมาอยู่ในกรอบของความงามในสถานะปกติ โดยการกำหนดให้บริษัทตัวแทนผู้จัดหานางแบบนายแบบ ตรวจใบรับรองทางการแพทย์จากนางแบบ นายแบบในสังกัด เพื่อยืนยันว่านางแบบคนนั้น มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่ไม่ต่ำกว่า 18 และต้องมีการตรวจเช็คน้ำหนักมวลกายนี้เป็นประจำ แต่นอกจากการเสพติดความผอมจนมีกรณีการเสียชีวิตของนางแบบไปบ้างแล้ว การเสพติดความคิดว่าใบหน้าและรูปร่างของตัวเองผิดปกติ ก็ถือเป็นสิ่งที่อันตรายไม่แพ้กัน แม้จะไม่ถึงกับเปลี่ยนแปลงลดน้ำหนักรูปร่างจนเว่อร์ แต่ก็บั่นทอนสภาพจิตใจจนเหี่ยวบางได้เหมือนกัน
โรคร่างกายปกติ ความคิด (ไม่) ปกติ
โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ หรือ Body Dysmorphic Disorder (BDD) จัดได้ว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งดูจะคล้ายโรค Anorexia (แอนอเร็กเซีย) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคคลั่งผอม ที่เกิดจากความไม่พอใจในรูปร่างน้ำหนักตัวของตนเอง มักจะมองว่าตนเองอ้วนเกินไป กลัวการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว แต่โรค BDD จะเป็นการหมกมุ่นเกี่ยวกับอวัยวะบนใบหน้ามากวก่าอวัยวะตามร่างกาย เช่น คิดว่าจมูกหรือใบหูของตนเองมีความผิดปกติ ทั้งที่ความจริงแล้วจมูกหรือใบหูของคนนั้นก็ดูปกติ และสมบูรณ์แบบพอดี โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นกังวลอย่างมาก มีความไม่สมเหตุสมผลในตัวเอง และเชื่ออยู่เสมอว่าตัวเองมีความผิดปกติจริง ส่วนมากผู้ป่วยมักจะให้ความกังวลกับลักษณะใบหน้า จมูก ปาก คาง รวมถึงหน้าอกและอวัยวะเพศ จากการตรวจสอบพบว่า โรคนี้พบได้มากในกลุ่มคนที่ชอบเข้าสังคม หรือกลุ่มคนที่เป็นที่สนใจจากคน และสังคมที่เป็นอยู่ ซึ่งบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ คือ ดารา นางแบบ ศิลปิน และวัยรุ่นทั่วไป ผู้ป่วยมักจะเลือกวิธีแก้ไขโดยการเข้าพบแพทย์ เพื่อขอรับการผ่าตัด หนักกว่านั้นอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าแทรกซ้อน จนทำให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ ทั้งนี้โรคดังกล่าวมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สำหรับคุณผู้ชายก็อย่าเพิ่งวางใจไปว่าตัวเองจะไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะครุ่นคิดว่า ร่างกายตัวเองผิดปกติแบบคุณผู้หญิง เพราะได้มีการค้นพบโรคไบกอร์เร็กเซีย (Bigorexia) หรือโรคที่คิดว่าตัวเองตัวเล็กเกินไป ซึ่งมีพฤติกรรมคล้ายกันกับผู้ป่วยกลุ่ม BDD แทบจะทุกอย่าง เช่น ชอบส่องกระจกบ่อย ย้ำคิดย้ำทำ หมกมุ่นอยู่กับรูปลักษณ์ของตัวเอง หาจุดตำหนิได้ตลอดเวลา แต่เป็นความคิดที่สลับขั้วกันสักหน่อย เพราะผู้ป่วยในโรคไบเกอร์เร็กเซีย จะมีความคิดที่ว่าตนเองมีรูปร่างที่เล็กกว่าปกติ มักชอบถามความคิดเห็นจากบุคคลอื่นเกี่ยวกับรูปร่างของตน และจะไม่เชื่อเมื่อมีคนบอกว่าตนเองมีรูปร่างปกติ ข้อมูลเพิ่มเติมยังระบุอีกว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการหวาดกลัวสังคม ซึ่งเป็นอาการที่เข้าขั้นเป็นโรคอย่างชัดเจน เพราะผู้ป่วยจะเริ่มมีความรู้สึกขาดความมั่นใจในตนเอง จนแยกตัวออกจากสังคม ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกได้ จนเกิดความเศร้า ความทุกข์ ความเครียด และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด ซึ่งผู้ชายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน ถือว่าเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้สูงสุด
อย่างไรก็ตาม โรคไบกอร์เร็กเซีย หรือโรคที่คิดว่าตัวเองตัวเล็กเกินไป ยังไม่มีการค้นพบผู้ป่วยในประเทศบ้านเรา แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะสังคม ณ ขณะนี้ก็มีกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย หันไปนิยมออกกำลังกายกันอย่างหนัก เพื่อฟื้นฟูร่างกายและสร้างสุขภาพที่ดีกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
สัญญาณเตือน
ความคิดหมกมุ่นที่คิดว่าตัวเองมีรูปร่างผิดปกติเกินไป จะทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมใช้เวลาทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ซ้ำเดิม เช่น ส่องกระจก แต่งตัว แต่งหน้าเป็นเวลานาน เริ่มมีความแปลกแยก ทำให้ต้องหลบๆ ซ่อน หรือเลี่ยงการเข้าสังคม เพราะคิดว่าตนเองมีความบกพร่องหรือจุดด้อย นอกจากนี้ยังมีอาการที่แสดงออกถึงความป่วยต่อโรคได้อย่างชัดเจน เช่น ปากแห้ง ร้อนวูบวาบ มือเย็นหรือมีเหงื่อออกมาก กระวนกระวายอยู่ไม่สุข เป็นต้น ทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน สังคม รวมไปถึงครอบครัวด้วย
จากการศึกษายังไม่สามารถระบุได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดมีอยู่ด้วยกันดังนี้
• กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงต่อโรค เพราะหากมีประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นโรค
• อารมณ์แปรปรวน (Mood Disorder) ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าในคนทั่วไป
• ความผิดปกติจากระบบประสาท Serotonin ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ และควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ และควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย
• ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder)
• มีปมด้อย หรือความทุกข์ฝังใจ เช่น ถูกรังแก ถูกล้อเลียน เป็นต้น
วิธีรักษา
ขั้นตอนการรักษาโรค BDD มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การรักษาด้วยยา เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคก็มาจาก ความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) จึงสามารถเข้ารับยาเพื่อใช้ในการกระตุ้นการหลังสารเซโรโทนินได้ วิธีที่สองคือ การรักษาด้วยจิตแพทย์ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับคำปรึกษา และพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อเปลี่ยนแนวความคิดเรื่องความงามภายนอกใหม่ รวมทั้งกำจัดทัศนคติด้านลบ ทั้งความสวยความงามและมุมมองต่อสังคม ภาวะป่วยเช่นนี้ถือเป็นอาการป่วยที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาในระดับหนึ่ง เพราะเกิดจากอาการป่วยทางความคิด ไม่ใช่การป่วยจากสภาพร่างกาย อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยบางท่าน ก็ได้แสดงความเห็นต่ออาการป่วยเหล่านี้ว่า ผู้ป่วยมักเลือกทีจะขอการรักษาจาแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขรูปร่างของตัวเอง อาจเรียกว่าเป็นการเสพติดศัลยกรรมอย่างหนึ่งก็ว่าได้ โดยจะมีพฤติกรรมสนใจตำแหน่งหรืออวัยวะในแบบเฉพาะ เช่น จมูก หรือปาก เป็นต้น เมื่อแพทย์ผู้ทำการรักษาค้นพบความผิดปกติดังกล่าว และได้รับการตรวจสอบจากจิตแพทย์แล้วว่ามีอาการป่วยจริงๆ ศัลยแพทย์ก็ต้องปฏิเสธที่จะทำศัลยกรรมให้
เคยมีคนเคยบอกว่า ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเป็น เราก็จะยังแข็งแรงกว่าเทคโนโลยี เพราะผลงานชิ้นเหล็กเหล่านั้นล้วนถูกสร้างมาจากฝีมือของมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น อีกทั้งเทคโนโลยีก็ถูกตั้งค่าให้มีความคิด การประมวลผลต่างๆ ก็ด้วยฝีมือของมนุษย์อีกเช่นกัน หากแต่ความคิดของเรานั้นจะสามารถดัดแปลง ปรับเปลี่ยนได้ ก็ต้องด้วยความคิด และประสบการณ์ที่สะสมมาด้วยตัวเอง อีกทั้งปัญหาเกี่ยวกับความคิดเหล่านี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจของเรา ซึ่งหมายถึงเราสามารถควบคุมพฤติกรรมทั้งหลายได้ด้วยตัวของเราเอง หนทางของการมีชีวิตที่มีความสุขอยู่ที่การเลือกที่จะคิดและตัดสินใจลงมือทำเท่านั้นเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)