© 2017 Copyright - Haijai.com
ย้ำคิดย้ำทำ ทำลายเซ็กส์
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่หากเกิดเป็นโรคทางความคิดหมอที่ไหนก็ไม่ดีเท่าตัวเราเอง เพราะความคิดเป็นสิ่งที่สมองเราสั่งการ ดังนั้น การรักษาด้วยหมออาจเป็นการรับคำปรึกษา หรือหาแนวทางเพื่อเป็นการแก้ไข ซึ่งโรคที่เกิดจากความคิดก็เช่น โรคกลัวอ้วน โรคซึมเศร้า หรือกระทั่งโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยแต่ละโรคล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะจิตเสื่อม หรือสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ไม่ต่างกัน แต่ได้มีการค้นพบปัญหาที่เกิดจากโรคทางความคิดอย่างโรคย้ำคิดย้ำทำว่า สามารถทำลายความสัมพันธ์ หรืออารมณ์ทางเพศของคู่รักได้อย่างไม่รู้ตัว นั่นหมายถึง การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งป่วยเป็นโรคทางความคิดแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่กระทบต่อจิตใจของคนใกล้ตัว เช่น คนรัก เป็นต้น
โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD
เป็นโรคที่เกิดจากความวิตกกังวลด้วยตัวผู้ป่วยเอง จัดว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งก็ว่าได้ โดยผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมทางความคิดแบบซ้ำไปซ้ำมา ไม่สามารถหาเหตุผลของการกระทำและไม่สามารถยับยั้งความคิดเหล่านั้นได้ ซึ่งผลที่ได้ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดมากขึ้น อาการของโรคจะเริ่มตั้งแต่ความรุนแรงระดับต่ำจนถึงความรุนแรงระดับสูง หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถ หรือบกพร่องในหน้าที่การงาน การเรียน หรือแม้กระทั่งขณะอยู่ที่บ้านของตนเอง โดยส่วนโรคนี้จะเกิดกับวัยรุ่น แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กเช่นกัน นอกจากนี้อาการสำคัญของโรคมีได้ 2 อย่างคือ
• อาการย้ำคิด (Obsessive) คือ การที่ผู้ป่วยมีความคิดความรู้สึก หรือภาพที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างแบบซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ป่วยและมักจะคิดในแง่ลบ เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจแก่ผู้ป่วย และผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นทุกข์กับความคิดของตนเอง เช่น คิดซ้ำไปซ้ำมาว่าตนเองจะไปทำสิ่งที่ไม่ดีกับคนที่ตนเองรัก คิดซ้ำไปซ้ำมาว่าลืมปิดประตู และคิดทบทวนตลอดว่าตนเองได้ทำอะไรลงไปแล้วบ้าง โดยผู้ป่วยจะพยายามหยุดความคิดเหล่านั้นแต่ไม่สามารถทำได้ จึงก่อให้เกิดเป็นความวิตกกังวลได้ในที่สุด
• อาการย้ำทำ (Compulsive) คือ พฤติกรรมของการกระทำที่มีเป้าหมายชัดเจน ที่เป็นไปเพื่อช่วยลดความกังวลใจจากการย้ำคิดของตนเอง และเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล เช่น ชอบเดินไปตรวจลูกบิดประตูว่า ตนเองล็อคแล้วหรือยัง และทำแบบนั้นอยู่บ่อยครั้ง เพื่อเป็นการแน่ใจว่าตนเองได้ล็อคประตูแล้วจริงๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องของความสะอาด การนับสิ่งของรวมถึงการจัดวางความเป็นระเบียบแบบซ้ำไปซ้ำมา และผู้ป่วยจะพยายามควบคุมอาการย้ำทำในระหว่างเวลาที่ทำงาน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมย้ำทำที่ซ้ำซากเหล่านี้ได้ และหากมีอาการมากขึ้น จะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะทำงานได้ตามปกติสาเหตุของโรค OCD
• ยังไม่มีการระบุได้อย่างแน่ชัดว่า สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยจากวิเคราะห์ว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยทางด้านจิตใจ เป็นการจัดการภายในจิตใจของตัวผู้ป่วย ซึ่งเกิดความขัดแย้ง สับสนภายในจิตใต้สำนัก และปัจจัยทางด้านชีวภาพ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ จะมีความผิดปกติของเซลล์บางอย่างในสมองอย่าง 5-HIAA และการหลั่งสาร Serotonin (สารสื่อประสาท) ที่ผิดปกติ หรือมีจำนวนของเซลล์สมองบางชนิดที่นอ้ยกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาเหตุจากพันธุกรรมร่วมด้วย
ย้ำคิดย้ำทำ จนเซ็กส์ช้ำ
จากการวิจัยพบว่าโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD มีผลกระทบต่อชีวิตรักของคู่รักหลายคู่ โดยผลการวิจัยจากวารสารทางการแพทย์ได้ระบุว่า โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคหรืออาการที่มักถูกมองข้ามจากคนรอบข้าง และคนภายในครอบครัว เพราะเป็นพฤติกรรมที่ตัวผู้ป่วยเองก็กระทำไปโดยไม่ทันสังเกตตนเองเท่าไรนัก มักจะคิดว่าสิ่งที่ตนทำเป็นเรื่องปกติ แต่ผลจากการวิจัยของโรงเรียนจิตวิทยาแห่งศูนย์สหวิทยาการในอิสราเอล ได้ค้นพบว่าโรคย้ำคิดย้ำทำเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาทางเพศของคู่รักได้แบบไม่รู้ตัว โดยการกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์จากผู้ชาย และผู้หญิงในอิสราเอลที่ต้องการประเมินอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำของตนเอง ทั้งสิ้น 160 คน พบว่ามีคู่รัก 2 คู่ หรือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถอยู่ร่วมกับคนรักที่มีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งอยู่รวมกันประมาณ 15 ปี ผลการวิจัยยังพบว่าผู้ที่ป่วยโรคนี้ จะมีระดับความสัมพันธ์และความพึงพอใจทางเพศลดลงกว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทั่วไป
ยกตัวอย่างเช่นผู้ป่วยโรค OCD รายหนึ่งได้กล่าวว่าเขารักแฟนของเขามาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดคิดว่าเขาอาจมีความสุขกับผู้หญิงในเฟซบุ๊ก ผู้หญิงที่เขาไม่รู้จักหรือผู้หญิงคนอื่นๆ ได้ ซึ่งพติกรรมทางความคิดนี้ จะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อาจกินเวลาหลายวันต่อสัปดาห์ และอาจเกิดซ้ำๆ เป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน ซึ่งหากมีอาการของโรคที่รุนแรงขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่พอใจในการร่วมเพศ หรืออาจทำลายความสามารถพันธะทางอารมณ์ จนนำไปสู่ความคิดและความรู้สึกเศร้าหมองได้
วิธีรักษาปัญหาของโรค
ดร.แอนโทนี่ นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ จากฟลอริดากล่าวว่า จิตแพทย์จะทำการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยให้คำแนะนำ คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย เพื่อหาวิธีบำบัดและช่วยให้คู่รักมีการสื่อสารต่อกันที่ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการโน้มน้าวและชักชวนให้ผู้ป่วยและคนรักของผู้ป่วยเกิดมุมมองใหม่ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนการพัฒนาให้ผู้ป่วย และคนรักมีความอดทนต่อโรคมากขึ้น รวมถึงให้ผู้ป่วยเรียนรู้พฤติกรรมการให้เผชิญ (Exposure) กับสิ่งที่ผู้ป่วยกังวลหรือกลัวอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง และพยายามไม่ให้ผู้ป่วยสนใจโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ พร้อมกับพยายามส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับไปทำหน้าที่ตามปกติให้ได้มากที่สุด
นอกจากการรักษาจากจิตแพทย์แล้ ยังมีวิธีรักษาด้วยยา โดยการรับยา SSRI (กลุ่มยาต้านเศร้า) ในปริมาณ 20-50 มิลลิกรัมต่อวัน และแพทย์จะเฝ้าสังเกตอาการของยาจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่จะมให้ขนาดยาที่มากเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการปกติ จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไร้กังวลแล้ว แพทย์จะยังคงให้ยาอย่างต่อเนื่องหลังจากวันที่ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่าหายขาดแล้ว เป็นระยะเวลา 6 เดือน จึงจะหยุดยา ทั้งนี้เพื่อการป้องกันการกลับมาของโรคอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการหากิจกรรมหรือสิ่งที่ตนเองถนัด และสนใจมาทำเพื่อเป็นการกลบเกลื่อนความคิด และการทำซ้ำๆ เหล่านั้น ก็สามารถช่วยลดระดับความรุนแรงของอาการได้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ เข้าฟิตเนส ทำอาหาร หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยสร้างความผ่อนคลาย และผ่อนอารมณ์ฟุ้งซ่านเหล่านั้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยมีความพยายามที่จะต้านความคิดแบบเดิมๆ และหันมาใส่ใจกับการคิด การทำสิ่งใหม่ๆ ที่มีรอบตัว ไม่ว่าจะเครียดจนเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ คงพ่ายต่อภูมิความแข็งแรงทั้งกายใจที่มาจากผู้ป่วยเองอย่างแน่นอน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)