© 2017 Copyright - Haijai.com
ตู้ยาสามัญประจำบ้าน
ตู้ยาสามัญประจำบ้าน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่คุณแม่ควรมีติดไว้ที่บ้าน โดยเฉพาะเมื่อลูกน้อยเกิดเจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องพึ่งคุณหมอหรือโรงพยาบาลทุกครั้งไป เนื่องจากโรคหรืออาการเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ร้ายแรงมากนัก คุณแม่สามารถรักษาให้ลูกน้อยได้ด้วยตัวของคุณแม่เองค่ะ
ควรมีอะไรไว้ในตู้ยา
1. ยารับประทาน • ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟนสำหรับเด็ก • ยาบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล • ยาแก้ไอ ขับเสมหะ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ • ยาแก้แพ้และบรรเทาอาการคัน • ยาแก้จุกเสียด แน่นท้อง เช่น ยาเม็ดโซดามินต์ ยาลดกรด ยาธาตุน้ำแดง • ยาแก้ปวดท้อง เช่น เหล้าสะระแหน่ ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ • ยาระบาย ยาถ่ายพยาธิ • ผงน้ำตาลเกลือแร่ |
2. ยาที่ใช้ภายนอก • ยาทาแผลสด เช่น ทิงเจอร์ ยาแดง • ยาล้างแผล เช็ดแผล เช่น แอลกอฮอล์ 70% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ • ยาหม่อง หรือครีมทาแก้ปวด • ยาทาบรรเทาอาการคัน เช่น โลชั่นคาลาไมน์ • ยาสูดดม เช่น แอมโมเนีย • ยาล้างตา |
3. เวชภัณฑ์ต่างๆ • ผ้าพันแผล ควรมีไว้หลายๆ ขนาด • พลาสเตอร์ปิดแผล • สำลี คอตตอนบัด • กรรไกร • ปรอทวัดไข้ • ถุงน้ำแข็ง กระเป๋าน้ำร้อน • แหนบ • ไฟฉายและถ่านสำรอง • หลอดหยดยา |
ข้อควรรู้
• ขนาดของตู้ยา ควรเลือกให้เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว และจำนวนยาที่จะเก็บ ก่อนการติดตั้งตู้ยา ควรจัดมุมหนึ่งในบ้านไว้เป็นที่เก็บยา
• ตู้ยาที่ดีจะต้องกันแสงได้ หรือเป็นตู้ทึบได้ยิ่งดี ส่วนใหญ่นิยมทำข้างหน้าเป็นบานกระจกเลื่อนเปิดปิดได้ เพื่อให้มองเห็นข้างในได้ง่าย
• ตู้ยาควรแบ่งเป็นช่องชัดเจน สำหรับจัดแยกยาใช้ภายใน ยาใช้ภายนอก เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์พยาบาลต่างๆ รวมทั้งจัดให้มีฉลากยาให้ชัดเจน ทั้งชื่อยา สรรพคุณ วิธีการใช้ ขนาดที่ใช้ ข้อห้ามใช้ และคำเตือนการใช้ยาต่างๆ อย่างชัดเจน
• ก่อนการใช้ยา คุณแม่ควรศึกษาวิธีการใช้ คำเตือน ข้อห้ามใช้ของยานั้นๆ ให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อน โดยอ่านจากฉลากยาที่ติดบนกล่อง ขวดยา แผงยา หรือเอกสารกำกับยาให้ละเอียด หรือคุณแม่อาจปรึกษาการใช้ยาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของลูกน้อย
• คุณแม่ต้องตรวจดูยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบอย่าเสียดาย ควรทำลายหรือทิ้งไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)