© 2017 Copyright - Haijai.com
3 เมนูจีน หยุดปวดประจำเดือน
ประจำเดือนช่วยบอกสุขภาพของผู้หญิงเราได้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการใดก็ตาม แพทย์จีนจะต้องซักประวัติประจำเดือน เพื่อนำมาช่วยในการวินิจฉัยและรักษา
ปัญหาที่พบบ่อยคือ การปวดประจำเดือน แพทย์แผนปัจจุบันอธิบายว่า เกิดจากมดลูกผิดปกติ เช่น โพรงมดลูกตีบแคบ มีพังผืดในผนังมดลูก มีเนื้องอกในมดลูก ซึ่งเป็นเหตุให้มดลูกหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงมีประจำเดือน หรืออาจเกิดจากมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) มากเกินไป ซึ่งสารนี้มีฤทธิ์กระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก หรือเกิดจากสภาวะอารมณ์ เช่น เครียด วิตกกังวล ส่งผลให้การทนต่อความเจ็บปวดลดลง
สำหรับการแพทย์แผนจีนมองว่า สาเหตุหลักของอาการปวดประจำเดือนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ รองลงมาคือ การได้รับความเย็นและความชื้นจากอาหาร อากาศ การใช้ชีวิต เช่น การแต่งกาย การอยู่ในห้องแอร์ เป็นต้น
อาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อย คือ ปวดท้องน้อยร้าวไปถึงก้นกบ การถูกกระทบจากอารมณ์และความเย็นในช่วงก่อนมีประจำเดือน จะทำให้การหมุนเวียนเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานติดชัด และเกิดการบีบรัดตัวของมดลูกเพื่อขับประจำเดือนออกมา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดประจำเดือนมักมีลิ่มเลือดร่วมด้วย ซึ่งแพทย์แผนจีนอธิบายว่า เกิดจากเลือดคั่ง มีการหมุนเวียนเลือดในโพรงมดลูกช้า
ปัจจัยที่ทำให้เลือดคั่งเกิดจากอารมณ์ขุ่นมัวต่างๆ ส่งผลให้ชี่หรือลมปราณเดินไม่สะดวก เกิดภาวะชี่ติดขัดจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จะสังเกตว่าผู้หญิงเราหากอยู่ในภาวะเครียด เช่น ช่วงใกล้สอบ ประจำเดือนจะเลื่อนออกไปหรือมาช้ากว่าปกติ จนกว่าจะหายเครียด ประจำเดือนจึงจะมา
ภาวะชี่ติดขัดสังเกตได้จากจะมีอาการท้องอืดแน่น คัดตึงเต้านมก่อนมีประจำเดือน แสดงให้เห็นว่า อารมณ์มีผลอย่างมากต่อการไหลเวียนเลือด
การเกิดลิ่มเลือดประจำเดือน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับสภาวะอารมณ์แล้ว ยังเกิดจากได้รับความเย็นร่วมด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน คนนิยมดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ ชอบอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ สวมเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มตามสมัยนิยม เช่น นุ่งสั้น แขนกุด สายเดี่ยว ทำให้อวัยวะภายในมีความเย็นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประจำเดือนมาช้า มาน้อย เป็นลิ่มเลือด มีสีดำหรือแดงเข้ม ผู้ป่วยกลุ่มนี้มือเท้าจะเย็นได้ง่าย การประคบร้อนบริเวณท้องน้อย จะช่วยลดอาการปวดได้มาก
การรักษาอาการปวดประจำเดือนจากการได้รับความเย็น ต้องรักษาโดยใช้ยาฤทธิ์อุ่นร้อน เพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวก และลดการบีบตัวของมดลูก ร่วมกับการฝังเข็มบนจุดที่เชื่อมกับปลายประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของมดลูก และต้องออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในอุ้งเชิงกราน เช่น ไท้เก๊ก ชี่กง รมยาก่อนมีรอบเดือนเพื่อลดการบีบรัดตัวของมดลูก ประคับร้อนบริเวณท้องน้อย
เมนูลดปวดประจำเดือน ขอแนะนำเมนูอาหารลดปวดประจำเดือน ดังนี้
1.น้ำซานจา
ส่วนผสม อบเชย 6 กรัม เนื้ออซานจา (Hawthorn Berry) ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งของจีน 9 กรัม น้ำ 1 ลิตร น้ำตาลทรายแดง 50 กรัม
วิธีทำ ล้างอบเชยและเนื้อซานจาให้สะอาด นำไปต้มกับน้ำ เคี่ยวทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วเติมน้ำตาลทรายแดง
วิธีกิน ดื่มก่อนมีประจำเดือนวันละครั้ง ติดต่อกัน 2-3 วัน เมนูนี้ช่วยย่อยอาหารและขับประจำเดือน
2.ไข่ต้มอ้ายเย่ ฮ้ายเย่เป็นใบของพืชตระกูลโกศชนิดหนึ่ง (Artemisia argyi) มีฤทธิ์อุ่นร้อนทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก
ส่วนผสม อ้ายเย่ 9 กรัม ขิงสด 15 กรัม ไข่ไก่ 2 ฟอง น้ำพอประมาณ
วิธีทำ นำอ้ายเย่ห่อผ้า จากนั้นนำไปต้มรวมกับขิงสด ไข่ และน้ำจนไข่สุก จากนั้นลอกเปลือกไข่ออก นำไข่ที่ลอกเปลือกแล้วใส่ลงในน้ำต้มเดิม ต้มไข่ต่อประมาณ 15 นาที แล้วนำถุงอ้ายเย่กับขิงออก
วิธีกิน กินไข่และน้ำที่ต้มก่อนมีประจำเดือน 7 วัน วันละครั้ง ติดต่อกัน 4-5 วัน เมนูนี้จะช่วยอุ่นมดลูก เหมาะกับผู้ที่มดลูกโดนความเย็น
3.ขิงต้มพุทราจีน
ส่วนผสม ขิงสด 6 กรัม พุทราจีน 10 ลูก น้ำตาลทรายแดง 60 กรัม น้ำพอประมาณ
วิธีทำ ต้มส่วนผสมทุกอย่างรวมกับน้ำแล้วนำกากออก ดื่มน้ำวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3-5 วัน เมนูนี้ช่วยบำรุงชี่และอุ่นมดลูก ช่วยขับเลือดเสีย
ข้อแนะนำการปฏิบัติตัว
ก่อนมีประจำเดือนควรปฏิบัติตัวดังนี้
• งดดื่มชา กาแฟ เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทและหลอดเลือด
• งดกินผักสดหรือเครื่องดื่มเย็น เนื่องจากมีฤทธิ์เย็น จะทำให้มดลูกหดรัดตัว เลือดขับออกมาไม่สะดวก
• งดกินอาหารทะเล เพราะอาหารทะเลส่วนใหญ่มีฤทธิ์เย็น จึงมีข้อห้ามสำหรับคนที่ร่างกายอ่อนแอ หรือช่วงมีประจำเดือน จะทำให้กระเพาะอาหารย่อยได้ไม่ดี
• ห้ามมีเพศสัมพันธ์ เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
• งดกินเค็ม เพราะจะทำให้ตัวบวม หรือปวดศีรษะมากขึ้น
ในช่วงมีประจำเดือนควรปฏิบัติดังนี้
• งดอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ เพราะทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
• ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดแน่น เพราะทำให้เลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานหมุนเวียนได้ไม่ดี
• ไม่ควรใช้เสียงมากเกิน เพราะทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเสียงได้ง่าย
• ไม่ควรนวดแรงๆ บริเวณบั้นเอว เพราะจะกระตุ้นให้ประจำเดือนมามากเกิน
• งดการกระโดดโลดเต้น กิจกรรมผาดโผน
• งดการถอนฟันช่วงมีประจำเดือน เพราะช่วงนี้การแข็งตัวของเลือดจะช้า ทำให้เลือดหยุดยาก
ลองปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ ก็จะช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนได้ไม่มากก็น้อย
พญ.สุลัคนา น้อยประเสริฐ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)