Haijai.com


4 วิธีบอกลาโรคอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน


 
เปิดอ่าน 4002

4 วิธีบอกลาอุ้งเชิงกรานหย่อน

 

 

รู้ไหมคะ โรคที่หลายคนมักมองข้ามอย่างโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และยังทำให้สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลอยู่มากโขทีเดียว ขอชวนคุณผู้หญิงทั้งหลายหันมาสนใจการดูแล และป้องกันโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ซึ่งจะทำให้คุณมีความสุขอย่างเต็มร้อย โดยไม่มีปัญหาแบบหน่วงๆ มากวนใจแต่อย่างใด

 

 

อวัยวะในอุ้งเชิงกรานคืออะไร

 

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกแล้วพบถึงร้อยละ 50

 

 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุวิทย์ บุณยะเวชชีวิน หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า

 

 

“อวัยวะในอุ้งเชิงกราน คือ มดลูก ช่องคลอด ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนส่วนใหญ่ จะไม่แสดงอาการให้เห็นด้วยตาเปล่า แต่ในกรณีที่เป็นมากๆ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหน่วงบริเวณท้องน้อย มีก้อนตุงที่บริเวณอวัยวะเพศ เดินลำบาก ปัสสาวะ – อุจจาระลำบาก และปัสสาวะเล็ดราด รวมไปถึงกั้นอุจจาระไม่อยู่”

 

 

7 สาเหตุเสี่ยงอุ้งเชิงกรานหย่อน

 

 ตั้งครรภ์

 

 คลอดบุตรทางช่องคลอด

 

 ภาวะอ้วน

 

 เคยผ่าตัดอุ้งเชิงกรานมาก่อน

 

 ทำอาชีพที่ต้องออกแรงเกร็งช่องท้อง เช่น ผู้ที่ต้องยกของหนักหมอนวด

 

 มีโรคประจำตัวบางอย่างที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอเรื้อรัง มีก้อนในช่องท้อง

 

 ภาวะวัยทอง

 

 

4. วิธีธรรมชาติป้องกันการหย่อน

 

คุณหมอสุวิทย์แนะนำวิธีการป้องกันและดูแลไม่ให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ดังนี้

 

1.ลดน้ำหนัก ลดแรงดันในช่องท้อง ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน โดยคนอ้วนมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าสตรี ที่มีดัชนีมวลกายปกติถึง 4.2 เท่า

 

 

เพราะการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวจะทำให้น้ำหนักในช่องท้องเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงดันในช่องท้องและกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสเกิดโรคนี้สูงมาก ควรลดน้ำหนักอย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว จะสามารถลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 5

 

 

2.เลี่ยงยกของหนัก หยุดการออกแรง การออกแรงมากๆ เพื่อยกของหนักทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรค ดังนั้นแนะนำให้เลี่ยงการยกของหนักหรือใช้อุปกรณ์ช่วยทุ่นแรง

 

 

3.ป้องกันท้องผูก ยิ่งเบ่ง โรคยิ่งทรุด เมื่อมีอาการท้องผูก ผู้ป่วยจะต้องเกร็งหน้าท้องเพิ่มขึ้นเพื่อเบ่งอุจจาระ ดังนั้นวิธีป้องกันโรคอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งมีวิธีง่ายๆ คือ ดื่มน้ำปริมาณพอเหมาะ ประมาณวันละ 2 ลิตร หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนผสม เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเพิ่มการกินอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้างกล้อง

 

 

4.ฝึกขมิบ เพิ่มความกระชับในช่องท้อง การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะการขมิบ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รวมถึงภาวะปัสสาวะเล็ดได้ อย่างน้อยร้อยละ 60-85

 

 

การขมิบทำโดยเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณรอบช่องคลอดและแก้มก้น โดยฝึกติดต่อกันครั้งละ 20 นาที วันละ 3 วัน ฝึกติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้

 

 

แม้ว่าโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนจะไม่อันตรายมากนัก แต่ก็สามารถลดทอนความสุขในชีวิตประจำวันของคุณผู้หญิงได้มาก ดังนั้น รีบป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อคงสุขภาพที่แข็งแรงสดใสไว้ได้ทุกวัน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)