Haijai.com


ปรึกษาก่อนแต่งงานลดปัญหาหลังสมรส


 
เปิดอ่าน 5301

ปรึกษาก่อนสมรส

 

 

“เรามีปัญหาส่วนตัว คิดว่าแยกทางกันน่าจะดีสำหรับเราทั้งคู่ คุยกันและตกลงกันได้” คำตอบที่หลายท่าน รวมทั้งดาราที่มักตอบคำถามเมื่อถูกถามเรื่องแยกทางกัน คำว่า “ปัญหาส่วนตัว” คงเป็นการบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนสองคนที่มีปัญหากัน บอกคนอื่นไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร และในระยะที่พึ่งแยกทางกันทั้งคู่ไม่อยากเล่าเรื่องของตนเองให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะการต้องมาพูดในที่สาธารณะให้ได้รับทราบ เพราะเจ้าตัวเพิ่งผ่านการถกกันระหว่างคนสองคน กว่าจะตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาด้วยการแยกทางกัน ก็ใช้เวลาพอสมควร

 

 

สำหรับคนนอกมักมีคำถามเสมอว่าปัญหาอะไรหนักหนาถึงขนาดต้องแยกทางกันด้วย โดยเฉพาะคู่ที่พึ่งแต่งงานกันไม่นาน ก่อนแต่งงานก็ดูตั้งใจที่จะใช้ชีวิตคู่ แต่ในการใช้ชีวิตคู่คนที่แต่งงานจะรู้ดีว่า ความตั้งใจก่อนแต่งงานกับความจริงที่เกิดขึ้น หลังแต่งงานแตกต่างไปจากที่คิดเอาไว้ก่อนแต่ง ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรถึงจะพอคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไร และควรต้องเตรียมตัวอย่างไร

 

 

“การปรึกษาก่อนแต่งงาน” ดูเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับในบ้านเรา ก่อนแต่งงานก็คงปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ในครอบครัว แต่ส่วนใหญ่ของการปรึกษากันในครอบครัว มักเป็นเรื่องการเตรียมการเรื่องงานแต่ง หลังแต่งงานจะอยู่ที่ไหน แต่การปรึกษาก่อนสมรสเป็นการพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา เพื่อเตรียมความเข้าใจกับสถานการณ์ที่รออยู่หลังแต่ง ทั้งสองฝ่ายมีรูปแบบการแสดงออกอย่างไร เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังแต่ง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเตรียมรับมือไว้ก่อน ซึ่งรวมทั้งการตรวจสุขภาพของทั้งคู่ ที่อาจมีผลต่อการวางแผนเรื่องการตั้งครรภ์ต่อไป ถ้าได้ตระหนักไว้ก่อนที่จะได้แต่งงานกัน ก็อาจจะช่วยให้การครองคู่หรือการใช้ชีวิตสมรสเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาหรือว่ามาผิดหวังกันภายหลัง

 

 การปรึกษาทางการแพทย์

 

ในเรื่องการปรึกษาทางการแพทย์ โรคบางโรคอาจจะทำให้รู้สึกลำบากใจ ในการที่จะใช้ชีวิตสมรสร่วมกัน ถ้าได้ตรวจก่อน ได้ทำการรักษาก่อน เพราะโรคหลายๆ โรครักษาให้หายได้ หรือถ้าเป็นโรคบางโรครักษาไม่ได้ ก็อาจจะมีข้อแนะนำจากแพทย์ในเรื่องการดูแลหรือการที่จะแก้ไข หรือป้องกันอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลายท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หลายท่านอาจจะพลาดไปโดยที่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโรคเอดส์ โรคต่อไปที่แพทย์จะตรวจก็คือโรคทางพันธุกรรม อาจจะไม่ใช่เป็นข้อกำหนดชัดเจนว่า ถ้ามีโรคทางกรรมพันธุ์อย่างนี้แล้ว จะไม่แต่งงานกัน เพียงแต่ว่าหลายๆ โรคทางกรรมพันธุ์นั้นแพทย์สามารถให้คำปรึกษาในเรื่องการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ และควรจะทำอย่างไรในการที่จะป้องกันหรือแก้ปัญหาในเรื่องการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์อันนี้ จะเห็นว่าการตรวจทางการแพทย์นั้นไม่ใช่เพื่อเป็นการจับผิด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ใช่เป็นข้อกำหนดที่จะไม่แต่งงานกัน แต่จริงๆ แล้ว เป็นการช่วยให้การแต่งงานมีความปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

 

 

 การปรึกษาเรื่องสภาพจิตใจ

 

นอกจากจะให้การปรึกษาทางการแพทย์แล้ว จะมีการให้คำปรึกษาเรื่อสภาพจิตใจไปด้วย การแต่งงานเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตมาก คนสองคนจะต้องมาปรับตัวเข้าหากัน ต้องมาอยู่ร่วมกัน ใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดเวลามากกว่าตอนที่เป็นแฟนกัน นอกจากนี้ตอนที่เป็นแฟนกันบางครั้งด้วยความที่เรารักกัน ทำให้มองไม่เห็นปัญหาบางอย่าง ซึ่งซ่อนอยู่หรือไม่ได้เปิดเผยหรือว่าไม่ได้แสดงออกมา แต่งงานแล้วไปตำหนิกันในภายหลังก็คงทำให้ขุ่นข้องหมองใจกัน เพราะฉะนั้นการให้คำปรึกษาก่อนสมรส ก็มักจะเป็นการศึกษากันอย่างเปิดเผย โดยผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นคนนอกมองเข้าไปในความสัมพันธ์ของทั้งสองคน ชี้แนะให้เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีความคิด มีความรู้สึก มีแนวคิด มีความเห็นอย่างไรต่อกัน และเมื่อต่างฝ่ายต่างได้ศึกษากันอย่างเปิดเผย แล้วมองเห็นกันและกันด้วยความชัดเจนขึ้น ผู้ให้คำปรึกษาก็จะให้คำแนะนำต่อไปในการที่เราจะปรับตัวเข้าหากัน ในข้อที่อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง หรือให้คำแนะนำในเรื่องลดความขัดแย้ง

 

 

 แนวทางลดความขัดแย้ง

 

วิธีการลดความขัดแย้งที่สำคัญที่ต้องฝึกก่อนจะแต่งงานกันเป็นเรื่องของ “การสื่อสาร” ผู้ให้คำปรึกษาจะช่วยวิเคราะห์เรื่องการสื่อสารว่า มีแนวโน้มที่จะสื่อสารกันอย่างไรเวลาที่อยู่ด้วยกัน แนวโน้มที่จะสื่อสารกันเมื่อเกิดปัญหาขึ้น การสื่อสารใดที่อาจจะทำให้เกิดปัญหา เราอาจจะได้เห็นตัวเราชัดขึ้นว่า หลายครั้งเราเป็นคนชอบต่อว่าเขา เราเป็นฝ่ายตำหนิเขา เราเป็นฝ่ายคอยชี้นำชี้แนะสั่งสอนเขาทุกอย่าง แต่ด้วยความที่ตอนเป็นแฟนกันเขาก็อาจจะยอมให้เราตำหนิ ยอมให้เราต่อว่า ชี้นำเขาทุกอย่าง แต่เมื่อแต่งงานกันไปแล้ว มันอาจไม่ได้เกิดสถานการณ์อย่างที่เป็นแฟนกัน เขาอาจจะเริ่มลุกขึ้นมาไม่ฟังคำตำหนิ อาจจะตำหนิเรากลับมาด้วย เราอาจจะรับไม่ได้ หรืออาจจะเกิดปัญหามากขึ้น เพราะฉะนั้นการฝึกเรื่องการสื่อสารเสียตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ก็จะช่วยให้การครองคู่มีความสุขมากขึ้น เรื่องของการสื่อสารที่ดีนี้ ความจริงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ด้วยความที่พูดอยู่ทุกวัน อาจจะไม่ค่อยได้วิเคราะห์ตัวเองว่ามีปัญหาในเรื่องการสื่อสารอย่างไรบ้าง ซึ่งปัญหาของการสื่อสารมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

 

1.ความตรงของการสื่อสาร หลายๆ คนไม่ค่อยกล้าที่จะพูดตรงไปตรงมากับคนที่เราต้องการจะสื่อสารด้วย ก็อาจจะใช้วิธีเลี่ยงไปสื่อสารกับคนอื่นผ่านไปถึงอีกคนหนึ่ง กว่าจะไปถึงเจ้าตัวที่เราต้องการ หรือบางคนก็ใช้วิธีเลี่ยงไปเลย ไม่สื่อสาร หรือไม่พูดกันและขณะเป็นแฟนก็มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจหลายเรื่อง แต่ไม่กล้าจะพูดกันตรงๆ เพียงแต่เก็บเป็นความหวังว่าแต่งงานไปแล้วคงจะดีขึ้น แต่งงานไปแล้วจะเข้าใจกันมากขึ้น เป็นข้อที่ควรระวัง ควรจะได้แก้ไขความไม่เข้าใจกัน หรือความเห็นที่ไมลงรอยกันก่อนที่จะแต่งงาน เพราะจริงๆ พอแต่งงานกันไปแล้ว การแต่งงานอาจช่วยแก้ปัญหายางอย่างก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้ปัญหาบางอย่างรุนแรงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าอยากพูดอะไรกับเขาก็พูดกับตัวเขานั่นแหละ ไม่ต้องผ่านไปทางเพื่อนหรือทางพ่อแม่ของเขา

 

 

พูดกันตรงไปตรงมา บอกความรู้สึกไม่ชอบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยเหมือนกัน เราไม่กล้าสื่อสารความรู้สึกไม่ชอบกัน กลัวว่าเขาจะลำบากใจ กลัวว่าเขาจะน้อยใจ กลัวว่าเขาจะไม่รักเราอีก เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกไม่ชอบก็ต้องมีความสามารถจะพูดถึงความไม่ชอบของเรา แต่ไม่ได้พูดในลักษณะที่ตำหนิ พูดในลักษณะที่เราต้องการจะบอกความรู้สึกที่ตรงๆ ของเรา ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องฝึกเป็นผู้รับด้วย ตัวเองก็เหมือนกันเป็นการสื่อที่ตรงและเป็นการรับที่ตรงด้วย เวลาที่เขาพูดกับเราตรงๆ ก็ต้องหัดฟังด้วย ต้องยอมรับความรู้สึกตรงนี้กันบ้าง เพราะว่าเขาก็คงไม่ชอบเราทั้งหมด เราก็ไม่ได้ชอบเขาทั้งหมด

 

 

2.เนื้อหาในการสื่อสาร หลายครั้งสื่อเนื้อหาที่ไม่ตรง ไม่ได้บอกจริงๆ ว่ามีความต้องการอย่างไร ไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกได้ หลายๆ ท่านไม่ได้เปิดเผยความรู้สึกตัวเองตั้งแต่ก่อนแต่งงาน เรื่องที่เก็บสะสมเป็นความรู้สึกเก็บกดไปตลอดชีวิตแต่งงาน จนกระทั่งผ่านไปเกือบ 10-20 ปี จึงรู้สึกว่าเราไม่เหมาะกันเลย หลายท่านบอกว่าทัศนคติไม่ตรงกัน มันคงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหรอก ความเห็นที่ไม่ตรงกันหรือทัศนคติที่ไม่ตรงกัน แต่จริงๆ แล้ว คงเป็นเรื่องของการสื่อสารเนื้อหาที่ไม่สามารถเปิดเผยความต้องการ หรือความรู้สึกที่ตรงไปตรงมาได้ ดังนั้น ผู้ให้คำปรึกษาจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะสื่อความรู้สึกความคิดเห็นที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา อีกฝ่ายหนึ่งก็ฝึกที่จะรับความรู้สึกความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา ทั้งทางบวกและทางลบของอีกฝ่าย การฝึกการตอบสนองกันในการสื่อสารที่เหมาะสมตรงไปตรงมา จะทำให้มีความพร้อมมากขึ้นในการที่จะเข้าสู่ชีวิตสมรส

 

 

แม้ว่าจะมาจากชีวิตครอบครัวที่ต่างกัน มีวิธีชีวิตที่ต่างกัน ก็จะแก้ไขกันได้แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่งงาน หรือแม้กระทั่งตอนที่เตรียมจะแต่งงาน หลายท่านอาจเริ่มมีข้อขัดแย้ง มีปัญหาในเรื่องครอบครัวของทั้ง ฝ่ายชายฝ่ายหญิง ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องครอบครัวอีกมากมายหลายอย่าง ฉะนั้นการที่มีผู้ให้คำปรึกษาเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้เตรียมการเข้าสู่การแต่งงานด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน

 

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)