
© 2017 Copyright - Haijai.com
แผลร้อนใน
หน้าร้อนปีนี้อากาศร้อนจัดมากๆ “ร้อนนอก” นั้นไม่เท่าไหร่ เปิดแอร์ก็หาย แต่บางคนนี่สิ เป็น “ร้อนใน” ควบด้วย เลยยิ่งทรมานหนักขึ้นไปอีก แล้วจะทำอย่างไรกันดีล่ะทีนี้
แผลร้อนใน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบบ่อยในวัยรุ่นจนถึงวัยหนุ่มสาว โดยแผลร้อนในจะเกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุผิวในช่องปาก สาเหตุของการเกิด “ร้อนใน” ถ้าไม่นับรวมการทำให้เกิดแผลในช่องปากโดยตรง (เช่น แปรงฟันกระแทกเหงือกหรือกระพุ้งแก้ม โดนเหล็กเกี่ยวฟันเกี่ยวหรือกด โดนขอบฟันปลอมที่คมหรือไม่ดีพอเสียดสี ก้างปลาหรือกระดูกทิ่มแทงเหงือก) เป็นแผลที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาเอง โดยทั่วไปนั้นแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่ชัด แต่พอจะรู้ถึงปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดแผลร้อนใน ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่
• พันธุกรรม พบว่าร้อยละ 30-40 ของผู้ที่เป็นร้อนในบ่อยๆ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
• ความเครียด พบว่าแผลร้อนในมักเกิดในช่วงที่มีความเครียดความกังวลทางจิตใจ
• ฮอร์โมนเพศ เพราะมักพบแผลร้อนในได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงใกล้มีประจำเดือน แต่จากการศึกษายังไม่สามารถระบุถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนได้
• การแพ้สารเคมีในอาหารหรือสิ่งที่ใช้ในช่องปาก เช่น แพ้สารบางชนิดในน้ำยาบ้วนปากหรือยาสีฟัน
• การขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด เช่น วิตามินบี เหล็ก และสังกะสี
• การติดเชื้อบางชนิด เช่น แบคทีเรีย Helicobacter pylori หรือเชื้อไวรัสโรคเริม
• การสูบบุหรี่
• อาจเกิดจากโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น SLE
แผลร้อนในเป็นอย่างไร
ลักษณะอาการของแผลร้อนใน คือ มีแผลเปื่อย เจ็บมาก เกิดในเนื้อเยื่อช่องปากได้ทุกที่ เช่น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก เพดานลิ้น ใต้ลิ้น รอยต่อระหว่างริมฝีปากกับเหงือก และบางรายที่รุนแรงอาจพบแผลในลำคอได้ แผลที่เกิดอาจเกิดเพียงหนึ่งหรือหลายแห่ง โดยปกติตอนแรกก็จะเกิดเป็นจุดแดงหรือตุ่มเล็กๆ ก่อน ต่อมาจึงพัฒนาเป็นสีขาวมีขอบแดงๆ และขยายออกมาเป็นแผลเปื่อย บนตัวแผลจะมีสีเหลืองหรือสีขาวปกคลุมอยู่บนแผล ขอบแผลจะแดง อาการเจ็บแผลจะลดน้อยลงเมื่อแผลเริ่มหาย และแผลอาจเปลี่ยนเป็นสีออกเทาๆ ทั้งนี้ขนาดของแผลมีได้ตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร อาจมีเพียงแผลเดียวหรือมีได้เป็นสิบแผล
โดยลักษณะสำคัญของแผลร้อนในคือเป็นแผลที่เจ็บมาก โดยเฉพาะเมื่อถูกกระทบหรือสัมผัส เช่น การรับประทานอาหารร้อนจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด จะทำให้เจ็บมาก นอกจากนั้นอาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้คางใกล้ๆ ขากรรไกรบวมโตขึ้น แต่ขนาดไม่โตมาก และมีอาการเจ็บร่วมด้วย เราสามารถแบ่งแผลร้อนในได้เป็น 3 ลักษณะตามระดับความรุนแรง ได้แก่
• แผลร้อนในขนาดเล็ก เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ 80 ของแผลร้อนในทั้งหมด แผลมีขนาดเล็ก มักมีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และเป็นแผลตื้นๆ มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ พบบ่อยในกลุ่มอายุ 15-45 ปี
• แผลร้อนในขนาดใหญ่ พบบ่อยบริเวณด้านข้างลิ้น เพดานอ่อน ด้านในริมฝีปาก และพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่เลยวัยรุ่นไปแล้ว ผู้ป่วยมักเจ็บปวดมาก กินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด แผลมักหายช้าเป็นเดือน เมื่อหายแล้วแผลมักเกิดซ้ำได้บ่อย และอาจก่อให้เกิดพังผืดหรือแผลเป็นที่บริเวณที่เกิดแผลได้
• แผลชนิดคล้ายเฮอปีส์ เป็นแผลร้อนในเป็นกลุ่มขนาดเล็กที่พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 แต่รุนแรงกว่าทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวมาแล้ว มักเกิดในผู้ใหญ่ และพบบ่อยในเพศหญิง โดยจะมีแผลเล็กๆ หลายแผล (มีรายงานว่าเป็นแผลเล็กๆ ได้มากกว่าร้อยแผล) กระจายได้ทั่วทั้งช่องปาก ต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เพราะผู้ป่วยจะเจ็บแผลมากจนกระทบต่อการกินอาหารและดื่มน้ำ เมื่อได้รับการรักษาแผลมักหายภายในระยะเวลาน้อยกว่า 1 เดือน และมักไม่เกิดเป็นพังผืดหรือแผลเป็น
ดูแลตนเองเมื่อเป็นร้อนใน
แนวทางการดูแลตนเองเมื่อเป็นร้อนใน ควรปฏิบัติดังนี้
• พักผ่อนให้เพียงพอ
• กินอาหารอ่อน รสจืด เพื่อลดการระคายเคืองต่อช่องปาก ลดอาการเจ็บช่องปาก
• ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
• ถ้าแผลอักเสบปวดมาก สามารถกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล และทายาต้านการอักเสบที่แผลในช่องปาก
• รีบไปพบแพทย์เมื่อกินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อยลง เจ็บแผลมาก มีไข้ และแผลไม่หายเองภายใน 2 สัปดาห์
สิ่งสำคัญ คือ เมื่อแผลร้อนในชนิดใดก็ตาม มีอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองภายใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อแยกจากการอักเสบติดเชื้อหรือมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นอายุที่เริ่มพบโรคมะเร็งของช่องปากได้สูงขึ้น อนึ่งยังไม่เคยมีรายงานว่าแผลร้อนในนั้นกลายเป็นมะเร็ง แต่แผลโรคมะเร็งอาจมีลักษณะแผลเหมือนกับแผลร้อนในได้
ร้อนในกับมุมมองของแพทย์ทางเลือก
สำหรับการแพทย์ทางเลือกทั้งแพทย์แผนไทยและแผนจีน เชื่อว่า “ร้อนใน” เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายสำแดงออกมา เพื่อให้รู้ว่าร่างกายของเราไม่สมดุล หากเปรียบเป็นศาสตร์จีน ก็หมายถึงหยินและหยางในร่างกายไม่เท่ากัน ทำให้รู้สึกแปรปรวนอยู่ภายใน โดยมีสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ ดังนี้
• นอนดึก พักผ่อนน้อย ร่างกายอ่อนเพลีย แน่นอนว่าเมื่อร่างกายของเราไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะลดลง ส่งผลให้ร่างกายไม่สบายและเจ็บป่วยได้ง่าย
• ขับถ่ายไม่เป็นเวลา ท้องผูก ทำให้ของเสียที่จริงๆ แล้วจะต้องถูกขับออกจากร่างกาย ถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดเป็นความร้อนสะสมอยู่ภายในร่างกายต่อไป
• รับประทานรสจัด อาหารมัน หรืออาหารทอดบ่อยๆ เพราะนั่นก็เหมือนกับการนำเอาความร้อนเพิ่มเข้าไปในร่างกายนั่นเอง
• เครียดจัด เนื่องจากความเครียดจะมีผลกระทบต่อจำนวนภูมิที่ตอบสนองในการติดเชื้อ และเม็ดเลือดขาว จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
จะเห็นได้ว่าสาเหตุก็ค่อนข้างไปในทางเดียวกันกับแพทย์แผนปัจจุบัน นั่นคือเกิดจากมีเหตุให้ร่างกายมีความอ่อนแอลงนั่นเอง ทราบกันอย่างนี้แล้วก็น่าจะพอดูแลตนเอง เพื่อป้องกันและรักษา อาการ “ร้อนใน” เบื้องต้นกันได้แล้วนะคะ
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)