
© 2017 Copyright - Haijai.com
คุมอาหาร ป้องกันเกาต์
โรคเกาต์เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของกรดยูริก ซึ่งเกิดจากากรสลายตัวของพิวรีนในร่างกาย และบางส่วนมาจากพิวรีนในอาหาร ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่มีอาการกำเริบหรือระดับกรดยูริกในเลือดสูง ควรจำกัดหรือลดการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา หอย น้ำต้มกระดูก กระถิน ชะอม เป็นต้น ผู้ป่วยควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์เพิ่มการสร้างกรดยูริกและลดการขจัดกรดยูริกออกจากร่างกาย นอกจากนี้ควรดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 10 แก้ว
โรคเกาต์เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของกรดยูริก จนทำให้เกิดอาการผิดปกติในร่างกายขึ้น การวางแผนการรับประทานอาหารนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเกาต์ เพราะการเลือกรับประทานอาหารและปรับนิสัยการบริโภคให้เหมาะสม ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถควบคุมระดับของกรดยูริกในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ป้องกันการตกผลึกของกรดยูริก ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว นิ่วในไต และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
ร่างกายของเราสร้างกรดยูริกได้เองเป็นส่วนใหญ่จากการสลายตัวของสารที่มีชื่อว่าพิวรีน (purine) และได้รับบางส่วนจากอาหาร แต่การรับประทานอาหารโดยที่ไม่ควบคุมปริมาณของพิวรีนเลย จะทำให้ร่างกายได้รับกรดยูริกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบ ปวด บวม แดง การสะสมของกรดยูริก มักจะใช้เวลานานหลายปี การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยให้เห็นแนวโน้มของการสะสมกรดยูริกที่จะเกิดข้นได้ โดยปกติผู้ชายควรมีค่าระดับกรดยูริกในเลือดระหว่าง 2.5-8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้หญิงควรมีค่านี้ระหว่าง 1.5-6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ถ้าตรวจพบว่ามีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ผู้ป่วยควรทราบวิธีการควบคุมอาหารเพื่อป้องกันการอักเสบอย่างเฉียบพลัน เพราะถ้าไม่ควบคุมอาหาร และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผลึกของกรดยูริกที่มีมากในเลือดจะสะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ และบริเวณข้อต่อ ถ้าเป็นเรื้อรังอาจเกิดเป็นก้อนเกาต์ (tophaceous gout) ซึ่งก้อนนี้จะทำลายกระดูกและข้อให้สึกไปในที่สุด
ลดพิวรีน ลดกรดยูริก
สารพิวรีนเพิ่มกรดยูริก ดังนั้น อาหารที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษก็คืออาหารที่มีพิวรีนสูง ผู้ป่วยโรคเกาต์และผู้ที่มีกรดยูริกสูง โดยเฉพาะในระยะที่มีอาการอักเสบควรกำจัดหรืองดรับประทานอาหารในกลุ่มที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ น้ำต้มกระดูก ยอดผัก เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบเพิ่มขึ้นจากการที่มีกรดยูริกสะสมมากเกิน
ปริมาณผิวรีนในอาหาร
พิวรีนน้อย
• นมและผลิตภัณฑ์จากนม
• เส้นก๋วยเตี๋ยวและพาสต้า
• ไข่
• ขนมปัง
• ผลไม้
• น้ำตาล
• น้ำมัน
พิวรีนปานกลาง
• หมู
• เนื้อวัว
• อกไก่
• ปลา
• ปลาหมึก
• เนื้อปู
• สะตอ
• ผักโขม
• หน่อไม้
• เมล็ดถั่วลันเตา
• ใบขี้เหล็ก
• ดอกกะหล่ำ
• ข้าวโอ๊ต
• ถั่วลิสง
พิวรีนสูง
• เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
• ไข่ปลา
• ปลาดุก
• ปลาไส้ตัน
• ปลาอินทรี
• ปลาซาร์ดีน
• ปลาทูน่า
• ปลาแซลมอน
• กุ้งชีแฮ้
• หอย
• ถั่วเมล็ดแห้ง
• ซี่โครงหมู
• น้ำต้มกระดูก
• ซุปก้อน
• ยีสต์
• เบียร์
• กะปิ
• เห็ด
• กระถิน
• ชะอม
นอกจากผักบางชนิดและยอดผักที่มีปริมาณพิวรีนสูง ผู้เป็นโรคเกาต์ควรรับประทานผักอื่นๆ เช่น ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักสลัด วันละ 200-300 กรัม เพราะผักช่วยให้ปัสสาวะมีสภาพเป็นด่าง ลดความเป็นกรด ช่วยขับกรดยูริกได้มากขึ้นกว่าปกติ และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
สำหรับเครื่องดื่ม เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ เหล้า เบียร์ ทำให้เกิดภาวะเป็นกรด มีผลกระทบโดยตรงต่อระดับกรดยูริกในร่างกายทั้งสองระบบ คือ เพิ่มการสร้างกรดยูริกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไปขัดขวางระบบการขับถ่ายกรดยูริกทั้งจากทางไตและทางปัสสาวะ ให้ออกจากร่างกายลดน้อยลง ในทางกลับกันน้ำช่วยให้ความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือดลดลง และเพิ่มการขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น ผู้เป็นโรคเกาต์ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ โรคไต ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 10 แก้ว โดยแบ่งจิบตลอดวัน เลือกดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด ถ้าดื่มนมได้ควรดื่มนมพร่องไขมัน วันละ 1-2 แก้ว ถ้าไม่ชอบน้ำเปล่าอาจสลับด้วยน้ำสมุนไพรที่ไม่หวานจัด เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม หรือน้ำผลไม้หวานน้อย เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม น้ำเสาวรส เป็นต้น ในภาวะที่มีกรดยูริกสูง และมีอาการข้ออักเสบควรดื่มน้ำวันละ 3-4 ลิตร หลีกเลี่ยงน้ำซุปต้มจากกระดูกสัตว์ หรือซุปสกัดเข้มข้นเพราะมีพิวรีนสูง ในกรณีที่ต้องการน้ำซุปปรุงอาหาร เพียงต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่ผักกาดขาว หัวไชเท้าหั่นบาง ข้าวโพดดิบทั้งฝัก หั่นท่อน รากผักชีบุบ ตั้งไฟอ่อนๆ จนน้ำซุปมีกลิ่นหอม น้ำซุปที่ได้จะมีรสหวานจากธรรมชาติ
อร่อยนอกบ้านกับเมนูอาหารลดพิวรีน |
|
เช้า |
นมสด กล้วยหอม ไข่ต้ม โจ๊กหมู ผลไม้ ซาลาเปาหมูสับ ผลไม้ |
กลางวัน |
ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าหมู ผลไม้ ข้าวกะเพราหมู ไข่ดาว ผลไม้ บะหมี่แห้งหมูแดง ลอดช่องน้ำกะทิ |
อาหารว่าง |
น้ำมะนาวเย็น โยเกิร์ตผลไม้ ผลไม้ลอยแก้ว ขนมปังขาไก่ |
เย็น |
ปลาทับทิมย่างเกลือ ผัดกะหล่ำปลีน้ำปลา ผลไม้ หมูทอดกระเทียมพริกไทย ผัดผักกาดขาวแครอต ผลไม้ ไข่เจียวหอมใหญ่ ผัดผักกวางตุ้งน้ำมันหอย ยำวุ้นเส้นหมูสับ |
คำถามยอดฮิตจากผู้ป่วยโรคเกาต์
Q : รับประทานแตงกวาได้หรือไม่?
A : ส่วนที่มีพิวรีนมากที่สุดของแตงกวา คือ เปลือกและเมล็ด หรือส่วนที่เป็นเมือกใสๆ ถ้าปอกเปลือกและคว้านเมล็ดออก ล้างให้สะอาดก็สามารถรับประทานได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ
Q : รับประทานส่วนไหนของไก่ได้บ้าง?
A : เลือกรับประทานเฉพาะอกไก่ เพราะเป็นอาหารในกลุ่มที่มีพิวรีนปานกลาง หลีกเลี่ยงเครื่องในและปีก
Q : รับประทานอาหารกลุ่มพิวรีนสูงได้บ้างหรือไม่ควรรับประทาน?
A : สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาลดกรดยูริก และไม่ได้อยู่ในช่วงที่มีการอักเสบ สามารถรับประทานได้แต่ต้องจำกัดปริมาณ เพราะอาหารกลุ่มนี้ เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา กุ้ง ซี่โครงหมู นอกจากจะมีพิวรีนสูง ยังมีคอเลสเตอรอลสูงด้วยเช่นกัน โรคที่มักพบร่วมกับโรคเกาต์คือโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง
Q : รับประทานอาหารนอกบ้านไม่มีทางเลือกจะทำอย่างไร?
A : วางแผนล่วงหน้าเสมอ จะช่วยให้รับประทานอาหารได้หลากหลายไม่น่าเบื่อ เลือกอาหารในกลุ่มที่มีพิวรีนน้อยถึงปานกลาง หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำซุปต้มกระดูกปริมาณมาก มีผักและผลไม้ทุกมื้อ รับประทานอาหารในกลุ่มที่มีพิวรีนสูงได้บ้าง ยกเว้นในช่วงที่มีการอักเสบ
Q : ต้องคุมอาหารอย่างเข้มงวดไปตลอดชีวิตหรือไม่?
A : ระดับความเข้มงวดในการควบคุมอาหารขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ถ้ารักษาอย่างถูกต้อง ระดับกรดยูริกลดลงและไม่มีอาการอักเสบเกิดขึ้น ก็สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ หากมีแนวโน้มว่าควบคุมได้ไม่ดี และมีอาการกำเริบของโรคบ่อยครั้ง ควรจำกัดหรือเลี่ยงอาหารในกลุ่มที่มีพิวรีนสูง
แววตา เอกชาวนา
นักโภชนาการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)