Haijai.com


สารอาหารกับสุขภาพตา


 
เปิดอ่าน 2710

สารอาหารกับสุขภาพตา

 

 

การทำงานที่เหมาะสมของร่างกายคนเรารวมไปถึงดวงตานั้น มี 2 ปัจจัยหลักเป็นตัวกำหนด ปัจจัยแรก คือ พันธุกรรม ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง คือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรารวมไปถึงอาหาร การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมจะช่วยให้ดวงตาทำงานได้เป็นอย่างดี

 

 

ในปัจจุบันการรับประทานอาหารเสริมในทางจักษุวิทยานั้น มีการศึกษาวิจัยในโรคจุดภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration, AMD) เป็นหลัก โดยสารอาหารที่อาจมีผลช่วยชะลอความเสื่อมของจุดภาพชัด (macula) ในโรค AMD มักเป็นสารในกลุ่มต้านอนุมูลอิสระเชื่อว่าการเกิดอนุมูลอิสระเป็นหนึ่งในกลไกของการเกิดโรค AMD สารอาหารเหล่านี้ ได้แก่

 

1.สารกลุ่มแคโรทีนอยด์

 

1.1.ลูกทีน / ซีแซนทีน เป็นสารที่พบในเม็ดสีที่จุดภาพชัด สามารถต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกรองแสงและป้องกันอันตรายจากแสง

 

 

1.2.เบต้าแคโรทีน เป็นสารที่เป็นต้นกำเนิดของวิตามินเอ จำเป็นในกระบวนการรับรู้ภาพของดวงตา และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย อย่างไรก็ตาม การได้รับสารกลุ่มนี้มากในผู้ที่สูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

 

 

2.สารกลุ่มวิตามิน ได้แก่

 

2.1.วิตามินซี และอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

 

 

2.2.วิตามินดี ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ

 

 

2.3.วิตามินบี6, บี9 (กรดโฟลิก) และบี12 ซึ่งช่วยในการทำงานภายในเซลล์

 

 

3.สารในกลุ่มแร่ธาตุ ได้แก่ แร่ธาตุสังกะสี ซึ่งจำเป็นในการทำงานของเอนไซม์สำคัญที่ใช้ต้านอนุมูลอิสระ

 

 

4.ไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า-3 ไขมันที่เป็นโครงสร้างของเซลล์ในจอตา และอาจมีผลต่อการถ่ายทอดสัญญาณประสาทในจอตา

 

 

นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารอื่นที่มีการศึกษาวิจัยว่า อาจมีผลกับการทำงานของดวงตา เช่น แอสต้าแซนธิน ซึ่งจัดเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าสานี้อาจช่วยทำให้การเพ่งมองใกล้ดีขึ้น และลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อตา จากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการใช้สารนี้ในโรค AMD

 

 

สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น แอนโธไซยานิดิน คาเทชิน เป็นต้น พบในพืชพวกเบอร์รี่ ชา และโกโก้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในระบบหลอดเลือดฝอย เชื่อว่าสารนี้อาจช่วยในเรื่องการมองเห็นในที่สลัว อย่างไรก็ตามการวิจัยในเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

 

 

มีงานวิจัยหนึ่งคือ Age-related eye disease study (AREDS) ของสหรัฐอเมริกา พบว่า การรับประทานอาหารเสริมตามชนิดและขนาดที่ใช้ในงานวิจัยนี้ สามารถชะลอความเสื่อมของจุดภาพชัดได้ในผู้ป่วยโรค AMD ที่มีความเสื่อมระดับปานกลางอยู่แล้ว จึงได้มีการผลิตอาหารเสริมตามสูตรที่ใช้ในการวิจัยนี้ออกาอย่างแพร่หลาย ซึ่งประกอบด้วย วิตามินซี 500 มิลลิกรัม, วิตามินอี 400 IU, เบต้าแคโรทีน 15 มิลลิกรัม (หรือ ลูทีน 10 มิลลิกรัม และซีแซนทีน 2 มิลลิกรัม) แร่ธาตุสังกะสี 80 มิลลิกรัม และแร่ธาตุทองแดง 2 มิลลิกรัม

 

 

การทำงานของสารอาหารต่างๆ นั้น มีความซับซ้อน เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว คนเรารับประทานสารอาหารหลายชนิดพร้อมๆ กัน และอาจเป็นไปได้ว่าในธรรมชาติ สารอาหารหลายชนิดอาจต้องทำงานร่วมกันจึงจะเกิดผล ปริมาณของสารอาหารแต่ละชนิดก็มีความสำคัญและควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตา การได้สารตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป อาจเป็นอันตรายได้ สารอาหารต่างๆ มักขับออกทางตับหรือทางไต ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับหรือไตควรใช้วิจารณญาณในการรับประทาน ท้ายที่สุดแล้วการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างสมดุล การพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่สูบบุหรี่ ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพดวงตา และสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง

 

 

ดร.นพ.นพศักดิ์ ผาสุขกิจวัฒนา

อาจารย์ประจำสาขาจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

(Some images used under license from Shutterstock.com.)