Haijai.com


เสน่ห์ของหนู


 
เปิดอ่าน 1490

เสน่ห์ของหนู

 

 

แม้ข่าวสารการโฆษณาจะชักจูงให้เราหลงเคลิบเคลิ้มได้โดยง่ายว่าความน่าสนใจของผู้คนขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์เป็นอย่างยิ่ง  แต่ด้วยวุฒิภาวะของคนเป็นพ่อแม่รุ่นใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ ก็น่าจะทำให้ตระหนักได้ดีว่าคุณสมบัติติดตัวที่เป็นนามธรรมต่างหากเล่าที่สำคัญต่อการสร้างเสน่ห์ได้อย่างยั่งยืนแท้จริงยิ่งกว่า

 

 

ก็ดีอยู่หรอกนะหากเราจะมีผมสลวยสะอาดปราศจากรังแค  มีลมหายใจหอมสดชื่นชวนให้วิ่งตามไปดม ?!?  มีผิวพรรณและรักแร้ที่ขาวเกลี้ยงเกลาและไร้ขน (หากเป็นหญิง)

 

 

แต่ถ้าเปลือกนอกสวยงามตามโฆษณาเช่นนี้แล้ว  ผู้คนยังคงร้องยี้!!  แล้วเบือนหน้าหนีหลังคบค้าสมาคมได้ไม่นานคงไม่ดีแน่ๆ เลย  ( หมายเหตุ ขอยืนยันว่ามิได้มีเจตนาล้อเลียนนักการเมืองหรือใครๆ ทั้งสิ้น) โดยเฉพาะหากเจ้าคนเปลือกข้างนอกสดใสข้างในต๊ะติ๊งโหน่งนั้นเป็นลูกของเรา

 

 

เวลาลูกๆ อยู่ในอารมณ์ “ใครๆ ก็ไม่รักผม” เลียนแบบเพลงดังในอดีตของน้องพลับน่ะ บอกได้เลยว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่นั่นแหละที่ปวดใจมากที่สุด

 

 

แล้วจะด้วยเคราะห์กรรมของเด็กไทยหรืออย่างไรนะ ทุกวันนี้ เวลาที่ป้าหมอไปเยี่ยมเยียนเด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะระดับอนุบาล ประถม มัธยม  ทั้งโรงเรียนไทยแท้  โรงเรียนสองภาษา  จนกระทั่งถึงโรงเรียนนานาชาติ  เด็กๆ มีปัญหาแบบนี้เต็มไปหมดเลยค่ะ

 

 

บางคนเข้ากับเพื่อนไม่ได้  บางคนถูกเพื่อนตั้งแง่ปฏิเสธไม่ยอมเล่นด้วย.. หรือเป็นเด็กไม่มีเสน่ห์ปรับตัวให้สังคมยอมรับไม่ได้

 

 

แล้วในส่วนของหนูๆ เหล่านี้เองก็อาจมีท่าทีตอบสนองเพื่อนรอบข้างที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาตินิสัย ช่วงวัย และความรุนแรงของปัญหา

 

 

เด็กบางคนอาจเชิดใส่เพื่อนคืน ทำท่าเสมือนไม่แคร์  บางคนตามง้องอนขอเล่นกับเพื่อนถึงขั้นยอมยกของเล่นหรือขนมให้ ขณะที่บางรายใช้เงินแจกล่อใจเพื่อนก็มีค่ะ แต่บางคนก็ก้าวร้าวด้วยความโกรธหรือน้อยใจจนลามเป็นการทุบตี  บางคนไม่ยอมไปโรงเรียน  ปิดกั้นตนเองจนไร้สังคม

 

 

แต่ร้อยทั้งร้อย  หากไม่ดูแลแก้ไขก็หนีไม่พ้นการตกเป็นคนไข้ของป้าหมอและผองเพื่อนจิตแพทย์ในที่สุด 

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้  น้องต้อมตัวโตจากชั้น ป.3  ก็เพิ่งเดินมาบอกกับป้าหมอตรงๆ  ด้วยสีหน้าหมองเศร้า

 

 

“ผมอยากมีเพื่อนครับ  แต่พอผมไปเล่นกับใคร  เค้าก็ไม่ยอมเล่นกับผม ”

 

 

“โถ!  คนดีของป้าหมอ  หนูต้องเสียใจมากแน่ๆ เลย  ไหนลองเล่าให้ฟังหน่อยเรื่องมันเป็นยังไง ”

 

 

“เวลาผมเล่นไล่จับ  เพื่อนชอบหาว่าผมผลักเค้า เวลาผมโยนลูกบอลเพื่อนรับไม่ได้แล้วยังหาว่าผมขว้างใส่หัวเค้าอีก ”

 

 

โชคดีจังที่คุยไม่นาน  ก็พอแกะรอยได้ว่าน้องต้อมร่างใหญ่นี้เป็นเด็กพลังแยะมือไม้หนักไปหน่อย  ทำเอาเพื่อนร่วมวัยขยาดหวาดกลัวกันเป็นแถว

 

 

ปัญหาจิ๊บๆ  แบบนี้  เพียงแค่สอนและซ้อมน้องต้อมให้ลองกะน้ำหนักมือและสัมผัสแต่ละครั้งให้เบาลง  แล้วแถมด้วยการสร้างเสน่ห์เสริมอีกนิด น้องต้อมก็กลายเป็นเด็กป๊อปปูล่าร์ของเพื่อนฝูงในที่สุด ก็น้องต้อมพลังเหลือเฟือ เล่นทนเล่นนาน  โดยไม่เคยเกี่ยงงอนขนาดนั้น  เพื่อนกลุ่มแรกหมดแรงแล้วยังไปเล่นกับกลุ่มสอง กลุ่มสามต่อได้   ต้อมย่อมสามารถเข้าถึงเพื่อนฝูงได้จำนวนมากกว่าใครๆ

 

 

ว่าแต่ว่า อย่ามองข้ามบางสิ่งที่สำคัญด้วย ป้าหมอแถมการสร้างเสน่ห์ให้น้องต้อมด้วยไง  เอาล่ะ เริ่มสนใจแล้วใช่ไหมค่ะ ว่า การสร้างเสน่ห์เสริมอีกนิดให้น้องต้อมที่ว่านะ คือการทำอะไร

 

 

อย่าได้คิดเชียวนะคะว่า มันจะหมายถึงแค่การซื้อขนมมากมายให้เด็กเอาไปแจกเพื่อน เพราะเทคนิคดาดๆ นี้  หากใช้เพียงแค่ผิวเผิน  อาจกลับกลายเป็นการสอนให้ลูก “ซื้อ” เพื่อนด้วยวัตถุเงินทอง  ซึ่งไม่มีทางได้มิตรภาพแท้จริงตอบกลับมาได้

 

 

ก่อนจะสอนให้ลูกแบ่งปันหรือรู้จักการ “ให้” แก่เพื่อนๆ ด้วยการใช้วัตถุนั้น  คุณพ่อคุณแม่ควรเติมเต็มต้นทุนบางอย่างในใจลูกเสียก่อน

 

 

เริ่มตั้งแต่การสร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเองแก่หนูน้อยด้วยการมองหาข้อดีแล้วชื่นชมให้เจ้าหนูรู้ตัวและเข้าใจในคุณค่านั้น

 

 

เสน่ห์ยั่งยืนของตัวเราเริ่มจากการที่เราเห็นคุณค่าตนเองก่อนค่ะ

 

 

“หนูเป็นเด็กพูดเพราะค่ะ น่ารักมากเลย  ถ้าเพื่อนๆ คุยกับหนูเค้าต้องชอบแน่ๆ”

 

 

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพัฒนาต่อไปด้วยการหยิบเอาประเด็นน่าชื่นชมนั้นมาเชื่อมโยงกับวิธีสอนให้ลูกเอาใจเขามาใส่ใจเรา  หรือนำไปสู่วิธีการปฏิบัติตัวกับเพื่อนฝูงอย่างเหมาะสมด้วย
               

 

“พี่กิ๊กรักหนูมาก  เลยใจดีแบ่งขนมให้ หนูดีใจไหมคะ เนี่ยนะ เวลาที่หนูแบ่งขนมให้เพื่อน  เค้าน่าจะดีใจแบบหนูนี่แหละ ”

 

 

เด็ก ๆ ทั้งหลายในวัยใสวัยซนนี้  ยังมักมีจุดอ่อนในเรื่องความเอาแต่ใจตัวเอง  ไม่รู้จักรอคอย  และไม่นิยมการเป็นผู้ฟังสักเท่าใดนัก

 

 

ดังนั้น  หากคุณพ่อคุณแม่จะช่วยย้ำถึงจุดละเอียดอ่อนสำคัญเหล่านี้บ้างในชีวิตประจำวัน  หนูน้อยจะสามารถเรียนรู้การพัฒนาเสน่ห์ส่วนนี้ของตนได้เป็นอย่างดี

 

 

“คุณแม่ดูออกเลยว่าหนูชอบตุ๊กตาสีแดง  แต่หนูยอมให้น้องเลือกไปก่อน  หนูเป็นพี่ใจดีไม่เอาแต่ใจตัวเอง  เก่งมากเลยค่ะ”

 

 

“คุณพ่อรู้ครับว่าลูกอยากออกไปเล่นข้างนอก ลูกกำลังโมโห แต่ใจเย็น ๆ นะครับ  พอเราทำงานบ้านเสร็จ  คุณพ่อจะพาลูกไปเล่นให้สนุกเลย  เด็กดีต้องหัดรอและอดทนนะครับ…”

 

 

และโปรดสังเกตว่าวิธีสอนนั้นไม่จำเป็นต้องเอาอกเอาใจตั้งท่าชมกันเสมอไปนะคะ  การว่ากล่าวตักเตือนก็จำเป็นและได้ประโยชน์ค่ะ

 

 

“คุณแม่โกรธมากเลยเวลาที่หนูเอาแต่พูดๆๆๆ ไม่ยอมฟังกันเลย แบบนี้ต้องเหมือนตอนที่แม่เอาแต่พูดๆๆๆ  แล้วก็ทำให้หนูกับคุณพ่อรำคาญแน่ๆ เลย   พวกเราต้องช่วยกันปรับปรุงแล้วล่ะ ทีนี้เราจะไม่แย่งกันพูดนะ เรามาหัดเป็นคนฟังบ้าง  สลับกันพูด  สลับกันฟังนะคะ ”

 

 

หลายประโยค  หลายสถานการณ์เช่นนี้  น่าจะพอเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่นำไปประดิดประดอยและประยุกต์ให้เข้ากับต้นทุนเสน่ห์น่ารักเดิมๆ ในตัวหนูน้อยที่รักได้นะคะ

 

 

เห็นไหมคะ ประหยัดและได้ผลดีในการสร้างเสน่ห์แท้จริงที่ยั่งยืนไม่แพ้การใช้แชมพู  ยาอม  และโรลออน แน่ ๆ ค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)