Haijai.com


ปวดหลังล่าง หมอนรองกระดูกส่วนล่างบริเวณเอว


 
เปิดอ่าน 4280

ปวดหลังล่าง

 

 

ปวดหลัง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงอายุ พบได้บ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป และเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว และไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว เช่น ความผิดปกติขอกระดูกสันหลัง โดยกำเนิดหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลัน กระดูกพรุน ซึ่งมักพบในหญิงวัยหมดประจำเดือน โรคระบบทางเดินปัสสาวะ เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง และกระดูกสันหลังติดเชื้อ เป็นต้น ในที่นี้จะได้กล่าวถึงอาการปวดหลังส่วนล่างที่มีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนล่างเสื่อม

 

 

นอกจากกระดูกสันหลังส่วนคอแล้ว กระดูกสันหลังส่วนล่าง (บริเวณช่วงเอว) ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เกิดความเสื่อมได้บ่อย เนื่องจากเป็นจุดที่ต้องรองรับน้ำหนักตัว อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวบ่อย เพราะเป็นช่วงที่ทำให้เราก้มเงยลำตัวได้ตามต้องการ จึงมีโอกาสเกิดการเสื่อมจากการไข้งานมากที่สุดเช่นกัน

 

 

หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นส่วนที่ทำให้กระดูกแต่ละข้อเชื่อมต่อไปพร้อมๆ กับการมีอิสระในการเคลื่อนไหว โดยโครงสร้างของหมอนรองกระดูกจะประกอบด้วยส่วนนิวเคลียสตรงกลาง มีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายฟองน้ำ และมีเปลือกนอกที่มีความหนาและเหนียวมาก เมื่อเริ่มมีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังในระยะแรกๆ น้ำในหมอนรองกระดูกเริ่มลดลง อาจส่งผลให้เปลือกหุ้มหมอนรองกระดูกเกิดการฉีกขาด ทำให้ปวดหลัง และสามารถนำไปสู่การปวดหลังเรื้อรังได้ เนื่องจากเปลือกหุ้มหมอนรองกระดูก เมื่อฉีกขาดแล้วจะสมานตัวได้ยากประกอบกับเส้นประสาทบริเวณรอบๆ หมอนรองกระดูกมีความไวต่อความเจ็บปวด ทำให้เมื่อใดก็ตามที่เปลือกหุ้มหมอนรองกระดูกฉีกขาด เส้นประสาทจากด้านหลัง ซึ่งมีความไวอยู่แล้วก็จะผ่านรอยฉีกขาดเข้าไปสัมผัสกับด้านในของหมอนรองกระดูก ซึ่งมีความเป็นกรดสูงมาก ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปัญหาลักษณะนี้พบได้บอ่ยในผู้ที่มีอายุประมาณ 30-50 ปี

 

 

นอกจากอาการปวดที่เกิดจากเปลือกหุ้มหมอนรองกระดูกฉีกขาดแล้ว ยังมีกรณีปวดจากหมอนรองกระดูกกดทับหรือระคายเคืองต่อเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวชาลงขา อาจมีอาการขาอ่อนแรงร่วมด้วย ทำให้เดินหรือเคลื่อนไหวไมได้มาก

 

 

การรักษานอกจากการใช้ยา กายภาพบำบัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อหมอนรองกระดูกแล้ว ยังมีการรักษาด้วยวิธีจี้ด้วยขดลวดความร้อน การจี้ด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อลดความดันและความเป็นกรดภายในหมอนรองกระดูก อาการปวดจึงลดลง ข้อดีของการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ คือ เป็นการทำเฉพาะจุด  ประกอบกับความร้อนที่ใช้ไม่สูงมาก จึงไม่ทำลายเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้าง ช่วยให้การฟื้นตัวหลังการรักษาเร็วขึ้น สำหรับการรักษาด้วยการใส่หมอนรองกระดูกเทียม ในกรณีที่เป็นหมอนรองกระดูกส่วนล่างบริเวณเอว แพทย์จะไม่แนะนำเนื่องจากมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดค่อนข้างมาก การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดในรูปแบบต่างๆ แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

 

 

นอกจากนี้การที่หมอนรองกระดูกเสื่อม ทำให้หมอนรองกระดูกแคบลง ส่งผลให้ข้อต่อหลวม เกิดอาการปวดหลังได้ ในกรณีข้อต่อหลวมการรักษาวิธีจี้ด้วยคลื่นวิทยุจะไม่ได้ผล เพราะเกิดจากข้อต่อที่โยก มีการเคลื่อนไหวมากผิดปกติ ซึ่งนอกจากจะทำให้ปวดหลังแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะกดทับเส้นประสาทได้ง่ายอีกด้วย การรักษาในกรณีที่ข้อต่อหลวมแล้วกดทับเส้นประสาทอาจต้องใช้วิธีเชื่อมกระดูก แต่ถ้าข้อต่อหลวมและปวดหลังเพียงอย่างเดียว ไม่ได้กดทับเส้นประสาทจนมีอาการปวดร้าวชาลงขา แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นก่อน หลังการรักษาด้วยวิธีเชื่อมกระดูก ผู้ป่วยต้องระวังไม่ให้หลังทำงานมากจนเกินไป ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อให้กระดูกสมานตัวแข็งแรงดี จากนั้นจึงจะสามารถใช้งานหลังได้เต็มที่ตามปกติ

 

 

หากมีอาการปวดหลัง ควรต้องสังเกตตัวเองด้วยว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ เบื่ออาการ น้ำหนักลด หรือหากเป็นอาการปวดหลังที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ต้องระวังให้มาก เพราะอาการปวดที่เกิดขึ้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับกระดูกและกล้ามเนื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ส่วนอาการหลังที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ถ้ามีอาการปวดร้าวชาลงขา มีอาการอ่อนแรง หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แสดงว่ามีการกดทับเส้นประสาท ต้องมาพบแพทย์โดยด่วน

 

 

ทริปป้องกันปวดหลัง

 

 ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ไม่อ้วน

 

 

 หลีกเลี่ยงการยกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป

 

 

 หลีกเลี่ยงท่าทางที่เสี่ยงทำให้กระดูกและหมอนรองกระดูกบาดเจ็บ เช่น การก้มแล้วเอี้ยวหรือบิดลำตัว

 

 

 เวลายกของจากพื้นควรใช้วิธีย่อเข่า โดยให้ตัวอยู่ชิดกับของมากที่สุด ขณะยกของให้อ่อนแรงที่ขามากกว่าใช้หลังยก

 

 

 ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่งทำงานนานๆ ก้มตัวนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ้างอย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูก และข้อต่อต่างๆ ได้ดีขึ้น การนั่งหรือก้มตัวนานๆ จะทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น

 

 

 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวแข็งแรง และยืดหยุ่นดีโดยเฉพาะการว่ายน้ำ เพราะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อหลังได้มาก แต่มีกีฬาบางชนิดที่ไม่แนะนำ เช่น ยิมนาสติก เป็นกีฬาที่ต้องแอ่นตัวมาก ยกน้ำหนัก และกีฬาที่ต้องมีการบิดหรือเอี้ยวตัวมากๆ เหล่านี้ส่งผลต่อกระดูกสันหลังได้ง่าย

 

 

 ยืดเหยียดร่างกายหลังตื่นนอนตอนเช้า เพื่อยืดหยุ่นข้อต่อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อหลัง ช่วยให้ไม่บาดเจ็บง่าย ท่าที่แนะนำ เช่น ท่าดึงเข่าชิดอก ทำได้โดยเริ่มจากท่านอนหงาย ให้ใช้มือทั้งสองข้างจับที่ข้อพับบริเวณใต้เข่า แล้วดึงเข่าให้เข้ามาชิดหน้าอกให้มากที่สุด โดยให้ขาอีกข้างวางราบกับพื้นเหมือนเดิม ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที เสร็จแล้วสลับข้าง ทำซ้ำประมาณข้างละ 2-3 ครั้ง

 

 

รศ.นพ. ทวีชัย เตชะพงศ์วรชัย

ศัยลแพทย์ออร์โธปิดิส์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)