© 2017 Copyright - Haijai.com
กรดไขมันไม่อิ่มตัว ป้องกันกระดูกหัก
สารอาหารที่บำรุงกระดูกในความคิดของคนทั่วไปก็หนีไม่พ้นแคลเซียมกับวิตามินดี และในทางกลับกัน เมื่อพูดถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัว ทุกคนก็จะนึกถึงผลดีของโอเมกา-3 ต่อการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ หรือผลดีต่อระบบประสาท แต่งานวิจัยที่ตีพิมพ์เร็วๆ นี้ใน The American journal of clinical nutrition จะแสดงให้เห็นถึงผลดีของไขมันไม่อิ่มตัวต่อการลดความเสี่ยงของกระดูกหัก เนื่องจากภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)
งานวิจัยจากกรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์นี้ ได้นำตัวอย่างจำนวน 1,438 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 66-96 ปี แบ่งเป็นผู้ที่มีกระดูกหัก เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนจำนวน 540 คน และผู้ที่กระดูกไม่หักจำนวน 898 คน มาเปรียบเทียบระดับไขมันชนิดต่างๆ ในกระแสเลือด และประเมินความถี่ของการรับประทานน้ำมันปลาที่ช่วงต่างๆ ได้แก่ ช่วงต้นของชีวิต (อายุ 14-19 ปี) ช่วงวัยกลางคน (40-50 ปี) และช่วงท้ายของชีวิต (66-96 ปี) หลังจากการตัดผลของตัวแปรกวน ซึ่งอาจรบกวนความสัมพันธ์ระหว่างระดับไขมันไม่อิ่มตัวในเลือด กับความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก (อายุ การศึกษา การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย น้ำหนัก ส่วนสูง ความชุกของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจน การใช้ยาสเตียรอยด์ และการใช้ยารักษาภาวะกระดูกพรุน) แล้ว ระดับของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนและกรดไขมันโอเมกา-3 ที่สูงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากภาวะกระดูกพรุน โดยเพศชายจะเห็นผลชัดเจนกว่าเพศหญิง และเมื่อประเมินความสัมพันธ์ของการรับประทานน้ำมันปลาที่วัยต่างๆ กับความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักแล้ว การที่ผู้ชายรับประทานน้ำมันปลาทุกวันในช่วงท้ายของชีวิตจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ส่วนในผู้หญิงจะเห็นผลดีดังกล่าวจากการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันในช่วงวัยกลางคน
โอเมกา-3 จึงนับเป็นสารอาหารที่น่าสนใจตัวหนึ่ง เนื่องจากมีผลดีต่อทั้งระบบประสาท หลอดเลือดหัวใจและกระดูก ซึ่งเราสามารถหาโอเมกา-3 ได้จากปลาทะเล ปลาน้ำจืดบางชนิด ตลอดจนไขมันจากพืช ซึ่งมีกรดแอลฟาไลโนเลนิก ผู้ที่สนใจจะเสริมโอเมกา-3 ในรูปแบบน้ำมันปลาหรือน้ำมันเคย (Krill oil) ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากการเสริมโอเมกา-3 ทำให้เลือดไหลออกง่าย โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)