© 2017 Copyright - Haijai.com
กรดอะมิโน 3L ป้องกันโรคร้าย
กรดอะมิโน เป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ หมู่คาร์บอกซิล หมู่อะมิโน หมู่อาร์ โดยที่หมู่คาร์บอกซิลจะแสดงความเป็นกรด หมู่อะมิโนจะแสดงความเป็นด่าง และหมู่อาร์จะแสดงถึงความแตกต่างกันของกรดอะมิโนแต่ชนิด อีกทั้งกรดอะมิโนยังหน่วยโครงสร้างที่เล็กที่สุดของโปรตีนอีกด้วย กรดอะมิโนในธรรมชาติมีมากกว่า 300 ชนิด แต่ที่พบบ่อยในสิ่งมีชีวิตมีทั้งหมด 20 ชนิด ทุกชนิดเป็นกรดอะมิโนชนิดแอลฟา เพราะมีแอลฟาคาร์บอนอะตอมที่เป็นคาร์บอน ศูนย์กลางของกรดอะมิโนทุกชนิด ยกเว้นไกลซีน โดยกรดอะมิโนชนิดแอล (L-amino acid) พมากที่สุดในธรรมชาติ
สำหรับหนุ่มสาวรักสุขภาพ L ที่คุ้นเคยกันที่สุด คือ แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เพราะช่วยการดึงไขมันมาเป็นพลังงาน แต่นอกเหนือจากแอลคาร์นิทีนแล้ว ยังมีกรดอะมิโนตระกูลแอลอื่นๆ ที่ร่างกายต้องการไม่แพ้กัน ได้แก่ แอล-อาร์จินีน (L-Arginine), แอล-ไลซีน (L-Lysine) และ แอล-กลูตามีน (L-Glutamine)
รู้จักกรดอะมิโน 3L ม้ามืดนอกสายตา
1.แอล-อาร์จินีน (L-Arginine)
แอล-อาร์จินีน อาร์จินีน เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ต้องได้รับจากอาหารที่เป็นโปรตีนธรรมชาติ โดยเป้นกรดอะมิโนสำคัญที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมหาศาล เพราะแอล-อาร์จินีนจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) ออกมาเพื่อช่วยในเรื่องการขยายตัวของหลอดเลือด ช่วยให้การทำงานกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดเลือดผ่อนคลาย ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีและส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น มีบทบาทสำคัญในการป้องกันเราจากโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดตีบและโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ช่วยกระตุ้นการหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในการคงความเป็นหนุ่มเป็นสาว ชะลอความแก่ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการลดและควบคุมความดันให้ปกติ ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น
แหล่งอาหารที่พบแอล-อาร์จินีน
1.เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง เนื้อจากสัตว์ปีกรวมถึงอาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า ส่วนเนื้อสัตว์ที่มีแอล-อาร์จินีนอยู่เป็นจำนวนมาก คือ เนื้อปลาแซลมอน
2.ถั่วเปลือกแข็งหรือถั่วเมล็ดแห้ง ถือเป็นแหล่งที่ดีของอาร์จินีนในพืช
3.ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดพืชที่ไม่ได้ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต พาสต้า
4.ถั่วเหลือง หรือโปรตีนจากถั่วเหลือง
5.ผลไม้อย่างทับทิม และผลองุ่นแห้ง
นอกจากนี้ แอล-อาร์จินีน ยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ โรค Erectile Dysfunction (ED) ซึ่งสาเหตุของอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่สำคัญ เกิดจากการหดตัวของหลอดเลือดบริเวณอวัยวะเพศ จากการศึกษาพบว่าอาร์จินีน มีคุณสมบัติช่วยในการขยายหลอดเลือด โดยการเร่งการผลิตสารไนตริก ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายผลิตขึ้น โดยที่ไนตริก ออกไซด์ จะไปกระตุ้นเอนไซม์ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า ไซคลิค กัวโนซีน โมโนฟอสเฟท (Cyclic Guanosine Monophosphate) ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle) บริเวณอวัยวะเพศจะเกิดการขยายตัว ส่งผลทำให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้มากขึ้นนั่นเอง
2.แอล-ไลซีน (L-Lysine)
แอล-ไลซีน (L-Lysine) จัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็น ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารแอล-ไลซีน จำเป็นต่อการสร้างโปรตีนที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น ร่างกายต้องการไลซีนเพื่อช่วยในกระบวนการเจริญเติบโต และการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ การสร้างภูมิต้านทานฮอร์โมน รวมถึงเอนไซม์ต่างๆ นอกจากนี้แอล-ไลซีน ยังเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นในการผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผิว ผม เล็บ กระดูกอ่อน ช่วยในเรื่องของผิวพรรณให้เต่งตึงแลดูอ่อนเยาว์
แหล่งอาหารที่สามารถพบ แอล-ไลซีนได้ ได้แก่ เนื้อแดง, ถั่ว, ปลาซาร์ดีน, ไข่, เนย, นม, ชีส, ยีสต์ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และอาหารที่มีโปรตีนสูงทุกชนิด เรียกได้ว่าอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ประกอบไปด้วยแอล-ไลซีนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมากแล้วคนส่วนใหญ่จะได้รับกรดอะมิโนชนิดนี้ในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่รับประทานอาหารประเภทมังสวิรัติ หรือนักกีฬา เช่น นักเพาะกายที่ต้องใช้กำลังในการสร้างกล้ามเนื้อมากกว่าคนปกติ ก็อาจมีความเสี่ยงในการขาดไลซีนได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารเพื่อเสริมให้ได้รับกรดอะมิโนชนิดนี้ให้เพียงพอ
ประโยชน์ของแอล-ไลซีนที่มีต่อร่างกาย
1.ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย
2.ช่วยซ่อมแซม ฟื้นฟูเนื้อเยื่อ เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
3.มีความจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมน เอนไซม์และเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
4.ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
5.ช่วยให้ผิวแข็งแรงและชะลอวัย
หากร่างกายได้รับสารอาหารที่มีส่วนประกอบของแอล-ไลซีนไม่เพียงพอ ร่างกายจะแสดงอาการดังนี้ เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ เกิดอาการวิงเวียนคลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง เป็นต้น
3.แอล-กลูตามีน (L-Glutamine)
แอล-กลูตามีน (L-Glutamine) จัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็นชนิดหนึ่ง ที่มีคุณประโยชน์ ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้ โดยมากกว่า 60% ของแอล-กลูตามีนจะอยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อ ถือเป็นกรดอะมิโนที่เป็นโครงสร้างสำคัญของกล้ามเนื้อ โดยหน้าที่หลักของแอล-กลูตามีน คือ ช่วยลดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในระหว่างที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะสร้างกรดแลคติกออกมาตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อในระหว่างการออกกำลังกาย แอล-กลูตามีนจะช่วยทำลายกรดแลคติกที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อ ช่วยให้สามารถออกกำลังกายได้นานขึ้น อีกทั้งยังเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยซ่อมแซมมัดกล้ามเนื้อ เมื่อได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกายอีกด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ช่วยเสริมสร้างระดับเนื้อเยื่อและการทำงานของกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้แอล-กลูตามีน ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการต้านการติดเชื้อ รวมถึงโรคหวัด ช่วงเวลาที่ร่างกายเราต้องการแอล-กลูตามีนเป็นพิเศษ ก็คือ ช่วงเวลาที่เราเจ็บป่วย ช่วงเวลาพักฟื้นจากการผ่าตัด หรือบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ยิ่งถ้าหากร่างกายตกอยู่ในภาวะเครียดร่างกายจะยิ่งต้องการกรดอะมิโนกลูตามีนมากยิ่งขึ้น โดยแหล่งอาหารที่สามารถพบแอล-กลูตามีนได้ คือ เนื้อวัว เนื้อไก่ ปลา ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ข้าวสาลี ถั่ว กะหล่ำปลี ผักโขม เป็นต้น
หน้าที่สำคัญของแอล-กลูตามีน คือ
1.ลดอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ
2.ช่วยทำลายกรดแลคติกที่เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนัก ช่วยให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น
3.กระตุ้นโกรทฮอร์โมน ทำให้ร่างกายเกิดการสังเคราะห์โปรตีน ช่วยเสริมสร้างเซลล์กล้ามเนื้อและซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้
อีกทั้งยังพบว่าแอล-กลูตามีน ยังเป็นแหล่งพลังงานที่ดีสำหรับสมอง ช่วยให้สมองมีการทำงานที่ดีมากยิ่งขึ้น เพราะแอล-กลูตามีนทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารสื่อประสาทอย่างกลูตาเมท (Glutamate) และกาบา (Gaba) อีกทั้งยังช่วยล้างพิษที่เกิดสารแอมโมเนียที่เกิดขึ้น จากการทำงานหนักของสมอง จึงช่วยลดความตึงเครียดให้กับสมองได้ การเพิ่มปริมาณกลูตามีนให้กับสมอง ยังช่วยให้มีสมาธิที่ดีขึ้น มีความจำที่ดี มีความคิดที่ไวและตื่นตัวมากยิ่งขึ้น
นับว่าเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญกับร่างกายไม่น้อย ดังนั้น ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการและหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายที่เรารักแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดีตลอดไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)