
© 2017 Copyright - Haijai.com
ยาปฏิชีวนะ VS ยาแก้อักเสบ ต่างกันอย่างไร
“ยาแก้อักเสบ” หลายคนคงมีประสบการณ์เคยได้ยิน หรือเคยใช้ยาเวลามีอาการเจ็บป่วย เช่น เจ็บคอ, ท้องเสีย, ปัสสาวะแสบขัด หรือบาดแผล มาบ้าง แล้วกรณีที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น นอกตกหมอน คอเคล็ด, กล้ามเนื้อ-เอ็นอักเสบ จากการเล่นกีฬา ก็ได้รับยาแก้อักเสบ เช่นกัน กรณีเหล่านี้ยาแก้อักเสบที่ได้รับ เหมือนหรือต่างกันหรือไม่ ใช้แทนกันได้หรือไม่
ปฏิกิริยาการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย มีสาเหตุได้มากมาย ทั้งที่มาจากการติดเชื้อ และไม่ใช่การติดเชื้อ การใช้ยาเพื่อรักษาภาวการณ์อักเสบ จึงต้องพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใด
ในกรณีการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ, ท้องเสีย, ปัสสาวะแสบขัด, แผลอักเสบ ยาที่ได้รับจะเป็นยาฆ่าเชื้อหือยับยั้งเชื้อ ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า “ยาปฏิชีวนะ” (Antibiotics) ซึ่งมีทั้งยาต้านเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา, เชื้อพยาธิ หรือเชื้อไวรัส ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่จำเป็นต้องรับประทานตามแพทย์สั่งจนครบชุด เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อต่อยา
ส่วนการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ยาที่ใช้รักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น กรณีกล้ามเนื้อ-เอ็นอักเสบจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาที่ให้ผลต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory) และมีฤทธิ์ระงับปวด โดยไม่มีผลในการยับยั้งเชื้อใดๆ ยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
จะเห็นได้ว่า ยาแก้อักเสบ บางครั้งจึงอาจหมายถึงยาปฏิชีวนะ แต่ในบางครั้งก็ไม่ใช่ การที่เราใช้คำว่า “ยาแก้อักเสบ” ในกรณีที่ได้กล่าวไปนั้น จึงอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และได้รับยาแก้อักเสบ ซึ่งในกรณีนี้เป็นยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปจะให้ทานจนอาการหายดีแล้วหยุดยาได้ การรับประทานยานี้ต่อเนื่องกันนานอาจเพิ่มความเสี่ยงระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีความเข้าใจผิดว่า “ยาแก้อักเสบ” ทุกตัวต้องรับประทานต่อเนื่องจนยาหมด จึงมีการรับประทานยาลดการอักเสบกล้ามเนื้อต่อเนื่องจนยาหมด แม้ว่าอาการอักเสบปวดกล้ามเนื้อจะหายไปแล้วก่อนที่ยาจะหมด เป็นการได้รับยาเกินความจำเป็น
ดังนั้น หากเราเกิดภาวะเจ็บป่วยไปพบแพทย์และได้รับยาแก้อักเสบมา ให้อ่านฉลากอย่างละเอียดให้เข้าใจ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้การใช้ยาได้ประสิทธิภาพในการรักษาและมีความปลอดภัย
ยาปฏิชีวนะ VS ยาแก้อักเสบ |
|
ใช้ยับยั้งการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัด แผลอักเสบ |
ใช้ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ระงับปวด เช่น กรณีกล้ามเนื้อ-เอ็นอักเสบจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ |
เภสัชกรสมเจตน์ สุวรรณศิริพัฒน์
เภสัชกรประจำแผนกเภสัชสนเทศ ฝ่ายเภสัชกรรม
ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)