
© 2017 Copyright - Haijai.com
วิธีปฐมพยาบาลโรคลมชักในเด็ก
หลายครั้งคนทั่วไปยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการของโรคลมชัก คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าโรคลมชักคือโรคทางจิตเวช แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคลมชักเป็นโรคทางสมอง ซึ่งเหมือนกับโรคทางสมองอื่นๆ เพียงแต่อาการของโรคลมชักนั้น จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่แล้วหายไป ผู้ป่วยอาจรู้ตัวแต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรืออาจไม่รู้ตัวในขณะที่มีอาการ ซึ่งในช่วงที่ผู้ป่วยไม่มีอาการชักนั้น ผู้ป่วยก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติไม่แตกต่างจากคนทั่วไป โรคลมชักเป็นโรคที่พบได้บ่อย เพียงแต่คนไข้ไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัว เพราะด้วยข้อจำกัดทางสังคมหลายอย่าง เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าโรคลมชักคืออะไร และไม่เข้าใจว่าศักยภาพที่แท้จริงของคนไข้โรคลมชักว่า สามารถทำได้แค่ไหน
ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการตั้งแต่เด็ก พบว่าบางรายไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้ เนื่องจากคุณครูและเพื่อนๆ มีอาการกลัวไม่กล้าใกล้ชิดด้วย เนื่องจากยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ รวมทั้งยังไม่รู้วิธีที่จะให้การช่วยเหลือ ทำให้ผู้ป่วยเด็กส่วนหนึ่งไม่ได้รับการศึกษา ต้องอยู่แต่ในบ้าน ผู้ป่วยในวัยทำงานบางรายไม่สามารถหางานทำได้ เนื่องจากความไม่เข้าใจของนายจ้าง ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม เกิดความรู้สึกที่แตกต่าง ไปจนถึงขั้นท้อแท้และสิ้นหวัง
การสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคลมชัก คือ อาการชักส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกันทุกครั้ง แต่ละครั้งจะนานประมาณ 1-2 นาที โดยหลังชักผู้ป่วยอาจมีอาการสับสนได้ การปฐมพยาบาลในผู้ป่วยโรคลมชักนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
1.การปฐมพยาบาลขณะที่ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งกระตุกไม่รู้ตัว วิธีการปฏิบัติ ดังนี้
• เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายและตะแคงหน้า
• คลายเสื้อผ้าให้หลวมเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก
• ห้ามใช้ไม้กดลิ้นหรือวัตถุใดๆ สอดเข้าไปในปาก เพราะอาจเกิดอันตรายทั้งต่อผู้ป่วยเอง และผู้ที่ให้การช่วยเหลือ
2.การปฐมพยาบาลขณะที่ผู้ป่วยมีอาการชักเหม่อไม่รู้ตัว วิธีการปฏิบัติดังนี้
• เฝ้าระวังให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เช่น ไม่ให้เดินไปที่หน้าต่างหรือบันได และระวังไม่ให้ผู้ป่วยล้ม จากนั้นรอจนอาการชักหายไป ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวเอง
• หลีกเลี่ยงการเข้าจับรัดหรือฉุดยื้อผู้ป่วยมากเกินไป เพราะในขณะชัก ผู้ป่วยไม่รู้ตัวอาจเกิดการต่อสู้ และทำให้เกิดอันตรายได้
การปรับตัวของผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก
ปัญหาโรคลมชักในเด็กที่พบบ่อยก็คือ การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมจากโรงเรียน เมื่อเด็กเกิดอาการชัก เพราะบางโรงเรียนก็ยังไม่พร้อมในการให้การดูแล ทำให้เด็กผู้ป่วยโรคลมชักเกิดปัญหาในเรื่องของพฤติกรรมว่า เขาจะวางตัวอย่างไรเมื่ออยู่นอกบ้าน
1.เราเริ่มทำความเข้าใจจากคนรอบข้างของเด็ก คือ คุณพ่อคุณแม่คอยดูแล หรือคุณครูที่ใกล้ชิดกับเด็ก ไม่ใช่ว่าฉันกลัวอย่ามาเข้าใกล้ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่า โรคลมชัก ไม่ใช่โรคติดต่อ สิ่งที่เป็นเรื่องรบกวนชีวิตของคนที่เป็นโรคลมชักไปตลอดทั้งปี คือ ความเสี่ยงและสิ่งที่อยากจะบอกกับเด็กที่เป็นโรคลมชักว่า ให้หาเพื่อนที่สนิท หรือคนที่ใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ ไปไหนมาไหนด้วยสักคนหนึ่ง เพราะถ้าเกิดอาการของโรคขึ้นจะได้คอยช่วยดูแลได้ทัน หรือถ้าอยู่ที่โรงเรียน คุณครูก็สามารถจะช่วยเด็กได้
2.การจัดงานรณรงค์ หรือการให้ความรู้ตามโรงเรียน มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเด็กเป็นส่วนใหญ่ เพราเชื่อว่าความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับโรคลมชักยังไม่มีมากในเด็ก เราสามารถที่จะป้อนข้อมูลที่ถูกต้องเข้าไปตั้งแต่แรกได้ ก่อนที่เขาจะไปรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การที่จะปรับความเชื่อน่าจะง่ายกว่าในผู้ใหญ่
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าโรงเรียนนั้นมีเด็ก ที่เป็นผู้ป่วยโรคลมชักอยู่ในโรงเรียน การเข้าไปให้ความรู้กับเด็กคนอื่นๆ ก็จะทำให้เขามีความเข้าใจ ต่อคนที่เป็นผู้ป่วยโรคลมชักมากขึ้น
3.เด็กก็เปรียบเสมือนกับเป็นลูกหลานของเรา เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องคอยดูแล จะเห็นได้ว่าครอบครัวให้การดูแลและช่วยเหลือคนไข้อยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยโรคลมชักก็มีความต้องการความเข้าใจจากสังคม ไม่ต่างจากคนปกติทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นการให้โอกาสในการศึกษา การให้โอกาสในการยอมรับว่าเมื่อเขาเกิดอาการชัก ก็ให้การรักษาดูแลกันไปเหมือนกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ เหมือนคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ที่ต้องได้รับการดูแลตามปกติ ที่เรายังให้เขาทำงาน ให้เขามีโอกาสมีส่วนร่วมในสังคมได้ตามปกติ การให้โอกาสเขาก็เท่ากับเป็นการให้โอกาสกับตัวเราเองด้วย เพราะคนเหล่านี้เขาสามารถทำอะไรดีๆ และมีความสามารถในตัวของเขา ที่จะช่วยให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้นได้
นายแพทย์ชูศักดิ์ ลิโมทัย
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคลมชักครบวงจร
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)