Haijai.com


โรคลมชัก ภัยเงียบที่ควรรู้


 
เปิดอ่าน 2820

โรคลมชัก ภัยเงียบที่ควรรู้

 

 

เคยได้ยินเรื่องโรคลมชักกันหรือไม่ โรคนี้เป็นอาการที่เราได้ยินได้พบมาตั้งแต่เด็กเลยก็ว่าได้ แต่สิ่งที่คนอื่นไม่รู้ คือ โรคลมชัก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะแข็งแรงแค่ไหนก็ตาม

 

 

โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย จำนวนคนไข้โรคลมชักมีทั่วโลก ประมาณ 50 ล้านคน ซึ่ง 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย ในประเทศไทยมีการประมาณกันว่ามีผู้ป่วยโรคลมชักราวๆ 6-7 แสนคน ทุก 100 คน จะพบเป็นโรคลมชัก 1 คน ทุกๆ คนมีโอกาสชัก ไม่เคยชักตอนนี้ก็อาจจะชักได้ในอนาคต อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ยังสูงขึ้นทุกปี ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัว ที่ควรต้องระวังและทำความเข้าใจ

 

 

โรคลมชัก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในสมอง การปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าสมองที่สร้างจากเซลล์สมองที่ผิดปกติออกมามากพร้อมๆ กัน การสั่งงานของสมองเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด เซลล์สมองจะเป็นแบบเน็ตเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็นการคิด การเขียน การเดิน เกิดจากการสั่งงานของสมอง ถ้าสมองของเราเกิดความผิดปกติ ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดก็สามารถทำให้เกิดโรคลมชักได้

 

 

อาการของโรคลมชักมีความหลากหลาย อาการชักก็มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับภาวะความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในสมอง เกิดความผิดปกติขึ้นที่สมองส่วนใดและสมองส่วนที่เกิดความผิดปกตินั้น มีหน้าที่สำคัญอย่างไร และความผิดปกตินั้นมีความรุนแรงแค่ไหน

 

 

สาเหตุของโรคลมชัก อาจมีสาเหตุที่เกิดได้ตั้งแต่ โรคทางกรรมพันธุ์ ภาวะติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน มีไข้สูงแล้วชัก มีอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง เซลล์ในสมองอยู่ผิดที่ ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง และอีกหลายสาเหตุ อาการชักก็มีหลายประเภท เช่น

 

1.ชักแบบจุด โดยเริ่มต้นจากการเกิดความผิดปกติของไฟฟ้าเป็นจุดในสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการนิ่ง เหม่อลอย ถือของอะไรอยู่ก็จะมีอาการนิ่ง ไม่รู้ตัว มีอาการเคี้ยวปาก บางคนอาจจะชักเหมือนนอนละเมอ นอนดิ้น มีอาการพลิกตัวไปทางเดียวซ้ำๆ หรือ พลิกตัวไปมา และสุดท้ายจะตามมาด้วยอาการเกร็งกระตุก

 

 

2.ชักแบบไฟฟ้ามีการกระตุ้นสมองสองข้าง การชักจากสาเหตุไฟฟ้าเกิดการสปาร์คขึ้นมาอย่างผิดปกติทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจะมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว คล้ายๆ กับอากรของลมบ้าหมู

 

 

3.ชักแบบทรุดล้ม เมื่เวลาที่ไฟฟ้ากระจายไปที่สมองทั้งสองข้าง ทำให้ไปกดสมองจะไม่ทำงานไปชั่วขณะ

 

 

4.ชักแบบสะดุ้ง ซึ่งอาการชักแบบนี้พบได้ในผู้ป่วยวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมนอนดึก เล่นวิดีโอเกมหรือเล่นมือถือนานๆ ผู้ป่วยจะมีอาการชักสะดุ้ง แต่ถ้าเป็นมากก็จะมีอาการเกร็งกระตุกทั้งตัวตามมา ซึ่งพบว่าการชักชนิดนี้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมไปถึงการดูแลตัวเอง

 

 

5.ชักเมื่อเจอไฟกระพริบ คนไข้ที่มีอาการชักแบบนี้ จะไม่สามารถไปเจอกับอะไรที่มีลักษณะของไฟกระพริบได้ เช่น นั่งรถผ่านแสงแดดที่กระทบน้ำและสะท้อนกระพริบๆ มาที่ตาแบบนี้ต้องระวัง หรืออย่าเข้าไปในสถานที่ๆ มีไฟกระพริบ การดูทีวีในห้องมืดๆ ก็ไม่ได้เช่นกัน

 

 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก ถ้านำตัวส่งแพทย์ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ หรือได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สามารถหายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยให้คนไข้ชักอยู่เรื่อยๆ สภาวะที่กระแสไฟฟ้าในสมองถูกกระตุ้นมากเกินไป จะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารทำลายเซลล์สมอง เซลล์สมองจะตาย ระบบเน็ตเวิร์คภายในเซลล์สมองจะเสีย คนไข้ที่มีอาการชักนานๆ พบว่าสมองจะเหี่ยวลง สมองส่วนของความจำก็จะเหี่ยวลงตามไปด้วย นอกจากนี้ก็ยังกระทบไปถึงสมองส่วนอื่น ซึ่งภาวะเหล่านี้ถ้าเรารักษาช้า คนไข้จะไม่สามารถกลับมาปกติเหมือนเดิมได้

 

 

วิธีการในการรักษา

 

1.การใช้ยา เป็นวิธีการหลักที่ใช้รักษาอาการของโรคลมชักทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดยาที่เหมาะสมกับอาการชักของผู้ป่วยแต่ละคน

 

 

2.การผ่าตัด ในกรณีที่คนไข้ดื้อต่อยา หรือการรักษาด้วยวิธีการรับประทานยาไม่ได้ผลอีกต่อไป ก็ต้องมีการวางแผนเรื่องการผ่าตัด ซึ่งวิทยาการสมัยใหม่ทำให้การรักษาโรคลมชักไปไกลมาก การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคลมชักในปัจจุบัน มีความทันสมัย ผู้ป่วยลดโอกาสเกิดความพิการจากการผ่าตัด หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าถ้าผ่าตัดสมองจะต้องพิการ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักโอกาสที่จะเกิดสิ่งเหล่านั้นน้อยมาก เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างจะปลอดภัย และผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคลมชัก

 

 

3.การดูแลตัวเองของผู้ป่วย โรคลมชักมีหลากหลายอาการ แต่การดูแลตัวเองด้วยการไม่นอนดึก ทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอและไม่ปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในภาวะเครียด ก็จะเป็นการดูแลตัวเองจากโรคลมชักได้อีกทางหนึ่ง

 

 

เพราะฉะนั้นโรคลชักจึงมีความสำคัญมาก คนที่เป็นโรคลมชักจะเกิดอาการที่การทำงานของสมองผิดปกติไปชั่วขณะ รวมทั้งอาจจะเกิดอันตรายต่อสมอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามกระตุ้น ตื่นตัว และให้คนทั่วไปรับทราบถึงภัยอันตรายจากตัวโรคลมชัก และให้การรักษาแต่เนิ่นๆ รวมถึงวิธีการป้องกัน และการดูแลที่ถูกต้อง รวมทั้งการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคลมชักด้วยความเข้าใจและการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถมีกำลังใจและดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ และได้รับการยอมรับจากสังคม

 

 

พ.อ. (พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

(Some images used under license from Shutterstock.com.)