Haijai.com


ปีนผา ปีนเขา ได้แขนเข่าแข็งแรง


 
เปิดอ่าน 7850

กีฬาปีนเขา ท้าทาย ได้แขนเข่าแข็งแรง

 

 

เชื่อไหมคะว่าเราสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้ด้วยการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา

 

 

หลายคนอาจมองว่ากีฬาปีนผาไต่เขาหรือหน้าผานั้น น่าหวาดเสียวแต่กีฬาประเภทนี้ก็ช่วยดึงความกล้ามและศักยภาพของเราออกมาได้ แถมยังช่วยฟิตกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแขนและเข่า เพราะต้องใช้กำลังอย่างต่อเนื่อง จึงอาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ ผู้ที่แขนบาดเจ็บ คนกลัวความสูงผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ

 

 

กีฬาปีนผา แบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้

 

1.ฟรีไคลมบ์ (Free Climb) หรือโซโลไคลมบ์ (Solo Climb) เป็นการปีนโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน นักปีนต้องประเมินความสามารถของตัวเองให้ดี เพื่อตัดสินใจเลือกระดับความสูงที่ปีนได้ เพราะหากพลาดตกลงมาอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

 

2.เทนดิชันนัลไคลมบ์ (Traditional Climb) เป็นการปีนที่มีระบบป้องกันภัย โดยผู้ปีนต้องมีทักษะการปีนผาและความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปีนผา ตำแหน่งการติดตั้งจุดป้องกันอันตราย เพราะนักปีนผาจะต้องค่อยๆ ปีนและติดตั้งระบบป้องกันภัยนี้ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางที่ปีน ซึ่งต้องใช้สมาธิสูงมาก

 

 

3.สปอร์ตไคลมบ์ (Sport Climb) เป็นการปีนที่มีระบบป้องกันภัยเช่นเดียวกันกับแบบเทรดิชันนัลไคลมบ์ เพียงแต่ว่าสปอร์ตไคลมบ์จะติดอุปกรณ์ช่วยในการปีนไว้บนก้อนหินอย่างถาวร นักปีนเพียงนำส่วนที่ยึดตัวไปติดเข้ากับอุปกรณ์ที่ติดไว้ตามเส้นทาง สปอร์ตไคลมบ์จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้นักปีนหน้าใหม่สามารถปีนไปถึงจุดใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น

 

 

นอกจากนี้สปอร์ตไคลมบ์ยังได้รับการดัดแปลงมาเป็นการปีนหน้าผ้าจำลอง ซึ่งเป็นกีฬาที่แพร่หลายอยู่ในเมืองขณะนี้อีกด้วย

 

 

รู้จักอุปกรณ์ช่วยปีนผา

 

เรามารู้จักอุปกรณ์ในการปีนผากันค่ะ มีดังนี้

 

 ฮาร์เนสส์ (Harness) หรือสายรัดสะโพก

 

 

 คาราไบเนอร์ (Carabiner) เป็นห่วงเหล็กอะลูมิเนียมหรืออัลลอย

 

 

 ควิกดรอว์ (Quickdraw) คือ เชือกไนลอนสั้นๆ ซึ่งมีคาราไบเนอร์เกี่ยวอยู่ตรงปลายทั้งสองข้าง

 

 

 อุปกรณ์บีเลย์ (Belay Device) ใช้สำหรับผ่อนเชือกและควบคุมความเร็วในการโรยตัว

 

 

 รองเท้าปีนผา เป็นรองเท้าพื้นเรียบไม่มีดอกยาง หัวรองเท้าแคบเพื่อให้สอดเท้าเข้าไปในช่องหินได้สะดวก

 

 

 แมกนีเซียมคาร์บอเนต หรือผงชอล์ก เป็นผงคล้ายแป้ง ใส่ในถุงผ้าแล้วนำไปห้อยไว้ด้านหลังของนักปีนผา

 

 

 เชือกสำหรับปีนผา (Kemmantle Robe) เป็นเชือกลักษณะพิเศษที่มีความเหนียวไม่ยืดตัวง่าย สามารถรับแรงดึงได้ถึง 2 ตัน

 

 

เทคนิคสำหรับมือใหม่

 

สำหรับมือใหม่ไม่ต้องกังวลใจค่ะ เพราะการฝึกปีนผาในแต่ละแห่งจะมีเจ้าหน้าที่ดูอย่างใกล้ชิด เรามาดูเทคนิคเบื้องต้นในการปีนผากัน ศูนย์บริการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำไว้ว่า

 

 ควรอบอุ่นร่างกายและตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนเริ่มการปีนผา สำหรับมือใหม่ ต้องมีผู้ชำนาญการเป็นผู้ช่วยทุกครั้ง และทั้งสองฝ่ายจะต้องเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน คอยฟังสัญญาณจากฝ่ายตรงข้ามเพื่อความปลอดภัยของผู้ปีนผา

 

 

 เงื่อนเลขแปดสำคัญมาก นักปีนผาต้องผูกให้ถูกวิธีและตรวจเช็กให้แน่ใจ

 

 

 สวมหมวกกันน็อก ตลอดเวลาที่ปีนผา

 

 

 ควรสวมใส่รองเท้าสำหรับปีนผาเท่านั้น เพราะจะช่วยให้นิ้วเท้ายึดติดกับซอกหินได้

 

 

 ขณะปีน ถ้ารู้สึกเหนื่อยสามารถหยุดพักได้ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนปีนให้ถึงจุดหมาย

 

 

 อย่าก้มลงมองพื้นด้านล่าง ให้มองเฉพาะจุดที่มือเราจะยึดจับไว้เท่านั้น โดยใช้สติและไหวพริบในการตัดสินใจให้ดี

 

 

 อย่าปล่อยมือที่เป็น Break Hand ออกจากเชือกเป็นอันขาด

 

 

 อย่าเหยียบเชือกและอุปกรณ์ปีนผา

 

 

การปีนผานอกจากจะสร้างความสนุกและสุขภาพให้แก่ผู้ปีนแล้ว ยังจัดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนใครที่ชื่นชอบการปีนหน้าผาจำลองนั้น ปัจจุบันในยิมหรือฟิตเนสใหญ่ๆ ก็เปิดให้บริการ

 

 

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า หากเราเปิดใจยอมรับและหมั่นฝึกฝนการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาชนิดใดก็แล้วแต่ ย่อมเกิดประโยชน์ต่อผู้ฝึกอย่างแน่นอน และสามารถนำข้อดีนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย

 

 

สถานที่ปีนเขาหรือหน้าผาธรรมชาติในเมืองไทยมีดังนี้

 

1.หาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่

 

 

2.ถ้ำเขาปูน จังหวัดกาญจนบุรี

 

 

3.สวนสาธารณะบางทุ่งแสง จังหวัดสระบุรี

 

 

4.เขากะโหลก ปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

 

ครูกาญจน์ พันธรักษ์

อดีตนักกรีฑา ทีมชาติชุดซีเกมส์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)