© 2017 Copyright - Haijai.com
รู้จักฮอร์โมนพาน้ำหนักพุ่ง ทำอ้วนไม่รู้ตัว
ไม่ว่าใครก็อยากกินอิ่มนอนหลับ แต่การรับประทานอาหารแบบไม่เลือก กินทุกอย่างที่ขวางหน้า กินทุกอย่างที่ใจต้องการอยาก ถ้าไม่ประมาณตนเองในการกิน ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคอ้วนขึ้นได้ แต่ใช่ว่าความอ้วนจะมาจากเรื่องกินแต่เพียงอย่างเดียวเสมอไป รู้หรือไม่ว่า ฮอร์โมนบางตัวที่อยู่ในร่างกายของเรา ถ้าไม่ปรับพฤติกรรมทำร้ายร่างกายตัวเอง ฮอร์โมนเหล่านี้ก็จะยิ่งไปเป็นตัวกระตุ้น ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้
ฮอร์โมนไม่ใช่เพียงแต่ทำหน้าที่ ในการควบคุมระบบการทำงานของร่างกายให้สมดุลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวของเราอีกด้วย ตั้งแต่ความรู้สึกหิวไปจนถึงกระบวนการสะสมไขมัน แล้วจะมีฮอร์โมนอะไรบ้างนะ ที่มีอิทธิพลต่อน้ำหนักของเรา
ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol)
ฮอร์โมนคอร์ตซอลนี้ถูกผลิตขึ้นมาจากต่อมหมวกไต มักถูกสร้างมากขึ้นในตอนเช้า เพื่อช่วยให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจบีบตัวแรงขึ้น เพื่อทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง ทั้งยังช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือด เพื่อให้ร่างกายเราพร้อมรับมือกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จากนั้นระดับของฮอร์โมนก็จะค่อยๆ ลดลงไป จนกระทั่งเรานอนหลับ แต่หากระหว่างวัน เกิดความเครียดขึ้นมาเมื่อไหร่ ร่างกายก็จะยิ่งหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาเพิ่มมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับความเครียด แล้วการที่ฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งมากๆ ก็จะไปกระตุ้นทำให้เรารู้สึกหิว อยากรับประทานอาหารมากขึ้น เรียกได้ว่ายิ่งเครียดมาก ฮอร์โมนคอร์ติซอลยิ่งหลั่งมาก ยิ่งเครียดมากก็ยิ่งอยากหาของมารับประทานมาก จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดความอ้วนได้
ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin)
ฮอร์โมนจากสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับของคนเรา ฮอร์โมนเมลาโทนิน นอกจากจะทำหน้าที่คล้ายๆ นาฬิกาของชีวิตแล้ว “เมลาโทนิน” (Melatonin) ยังเกี่ยวข้องกับความเครียด โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวานอีกด้วย กล่าวคือ หากร่างกายเครียดจัด จนหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาน้อย เราก็จะนอนไม่หลับ จนเกิดเป็นโรคอ้วน และเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ อีกมากมายขึ้นได้
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) และ ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin)
หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงได้หิวบ่อย กินได้ทั้งวันโดยที่ไม่รู้สึกอิ่ม คำตอบคือ เพราะร่างกายเรามีฮอร์โมนความอยากอาหารอยู่ 2 ตัว คือ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) และฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) โดยตับอ่อนผลิตฮอร์โมนเกรลินออกมา เพื่อทำหน้าที่สั่งการให้เรากินอาอาหารเมื่อท้องหิว ส่วนฮอร์โมนเลปตินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากเซลล์ไขมัน มีหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งหากร่างกายมีภาวะต้านฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ก็จะทำให้เรารู้สึกอยากรับประทานอาหารไม่หยุด แม้ท้องจะอิ่มก็ตาม และก็นำมาซึ่งโรคอ้วน และน้ำหนักเกินในที่สุด
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) หรือที่มีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า ฮอร์โมนความอิ่ม ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1994 โดยฮอร์โมนชนิดนี้ทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณจากเซลล์ไขมันไปยังเซลล์สมองในส่วนโปธาลามัส (Hypothalamus) เพื่อให้หยุดความอยากอาหาร และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าหากมีไขมันสูง ปริมาณของเลปตินก็จะถูกสร้างมากขึ้น เพื่อช่วยในการเผาผลาญ แต่ถ้าหากมีไขมันน้อยเลปตินก็จะถูกสร้างน้อยลง
ส่วน ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) เป็นฮอร์โมนที่เป็นสาเหตุทำให้ร็สึกถึงความหิว และกระตุ้นให้อยากรับประทานอาหาร หากฮอร์โมนเกรลินหลั่งออกมา เราก็จะรู้สึกว่าอาหารที่อยู่ตรงหน้านั้นน่ากิน ส่งผลให้เราสามารถรับประทานอาหารนั้นได้อย่างเพลิดเพลิน และหากเราอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ความอ้วนมาเยือนเราได้เร็วมากขึ้น ที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือฮอร์โมนตัวนี้ จะหลั่งออกมาหากเราอดนอน หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ช่วงไหนโหมงานหนัก พักผ่อนน้อย ก็จะทำให้รู้สึกหิวและตามมาด้วยการกิน กินและกิน
ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin)
ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) เป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ที่จะช่วยลดความเครียดผ่อนคลาย และลดภาวะซึมเศร้าได้ แต่แพทย์ก็ได้บอกว่า นอกจากฮอร์โมนเซโรโทนินจะช่วยลดภาวะซึมเศร้าแล้ว ยังช่วยให้เราอยากอาหารหวานๆ เพิ่มขึ้นได้ด้วย และถ้าหากคุณไม่ทำตัวให้กระปรี้กระเปร่า ไม่ควบคุมอาหาร ก็จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้
โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)
โกรทฮอร์โมน หรือ Growth Hormone เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในขณะที่เรากำลังนอนหลับ ช่วยสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ ฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น และฮอร์โมนนี้สำคัญกับเด็กที่กำลังเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก ถ้าเด็กขาดโกรทฮอร์โมน จะส่งผลให้เป็นคนตัวไม่สูง ส่วนผู้ใหญ่หากขาดโกรทฮอร์โมน ก็จะเกิดอาการอ่อนเพลีย ซึมเศร้า อ้วน ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจตามมา
ปัจจัยที่ทำให้เราขาดโกรทฮอร์โมน ได้แก่ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งอินซูลินมากขึ้น ทำให้สะสมไขมันมากขึ้น และยังลดการสร้างโกรทฮอร์โมน ทำให้ส่วนใหญ่เป็นโรคอ้วนเมื่ออายุมากขึ้น
วิธีสังเกตว่าเราอ้วนขึ้นจากอาหารหรือจากฮอร์โมน
1.กินไม่เยอะ แต่ลดน้ำหนักยาก
2.ให้สังเกตที่ตาตุ่มและหลังเท้า ถ้ามีอาการบวม อาจเป็นไปได้ว่าอ้วนเพราะฮอร์โมน
3.มีภาวะอื่นๆ ในร่างกายที่ดูแปลกไป เช่น ขนหรือผมร่วงมากเกินไป หรือมีขนงอกเพิ่มขึ้นผิดปกติ เนื่องจากฮอร์โมนบางตัวอาจไปทำให้ผู้หญิงมีขนงอกเพิ่มขึ้น
4.สภาพผิวหนังแห้งหรือชื้นผิดปกติ
5.หน้าท้องมีผิวแตกลาย ทั่งที่ไม่ได้ท้อง
ลดอ้วน เหตุจากฮอร์โมน
วิธีการลดความอ้วนจากฮอร์โมนสิ่งสำคัญอยู่ที่ “การปรับพฤติกรรม” หากพบว่าต่อมผลิตฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งพร่องไป ย่อมส่งผลกระทบรบกวนต่อการทำงานของต่อมอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้กระบวนการเผาผลาญลดลง มีไขมันมากกว่ามวลกล้ามเนื้อ ดังนั้นวิธีรักษาโรคอ้วนจากฮอร์โมนให้ได้ผล จำเป็นต้องอาศัยการทำงานจากแพทย์หลากหลายสาขาในการรักษา โดยมีขั้นตอนคร่าว ดังนี้
1.พฤติกรรมบำบัด การจะลดน้ำหนักให้ได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับใจคนๆ นั้นเป็นสำคัญ โดยเน้นในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เคี้ยวอาหารให้ช้าลง เลือกกินอาหารตามสัดส่วนให้ครบ 5 หมู่ และลดปริมาณของทอดของหวานลง รวมถึง ลดความเครียด และปรับเวลาในการพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ
2.ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ มีงานวิจัยพบว่ายิ่งผู้หญิงและผู้ชายมีมวลกล้ามเนื้อมากเท่าไร ยิ่งทำให้กระบวนการเผาผลาญในร่างกายดีขึ้นเท่านั้น เพราะกล้ามเนื้อเป็นเนื้อเยื่อ ซึ่งใช้พลังงานมาก ทำให้เส้นเลือดฝอยไปเลี้ยงมากขึ้น จะช่วยเผาผลาญไขมันได้ง่ายขึ้น
3.ปรับสมดุลร่างกาย โดยการผสมผสานในเรื่องของการแพทย์แผนไทย เพื่อหาความเหมาะสมของการรับประทานอาหาร คือ การรับประทานอาหารตามธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคน เป็นต้น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)