
© 2017 Copyright - Haijai.com
รู้ไว้ก่อนใช้ยากล่อมประสาท
ในภาวะความเครียดต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นจากการทำงาน พักผ่อนไม่เพียงพอ การหาทางออกด้วยการพึ่งยากล่อมประสาท เพื่อช่วยบรรเทาอาการเครียดนั้น เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง เราไปทำความรู้จักกันสักนิด ว่ายาคลายเครียดหรือยากล่อมประสาทที่เรารับประทานกันนั้น มีคุณและโทษอย่างไรกับเราได้บ้าง
ยากล่อมประสาท คือ ยาที่ออกฤทธิ์กล่อม หรือเข้าไปกรดประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ที่ได้รับยามีอาการเซื่องซึม เฉื่อย ในบางรายถึงกับมีอาการง่วง หรือหลับได้ ในทางจิตเวชได้แบ่งยากล่อมประสาทออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
• ยาคลายกังวล ในส่วนของยาคลายกังวล มีฤทธิ์ในด้านช่วยลดความวิตกกังวล หรือถ้ามีอาการตื่นเต้น ตกใจง่าย ยาคลายกังวลจะช่วยผ่อนคลาย คลายเครียดได้
• ยารักษาโรคจิต ยาในกลุ่มนี้ช่วยบำบัดหรือลดอาการโรคจิต ซึ่งได้แก่ อาการจิตหลอน, หูแว่ว, ภาพหลอน, อาการหลงผิด และอาการเพ้อเจ้อ เช่น การพูดคนเดียว
• ยาแก้เศร้า เป็นที่ใช้รักษาโรคหรือมีอาการภาวะซึมเศร้า ที่ทำให้เกิดอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ จนถึงขั้นอยากตาย
• ยาคุมอารมณ์ ใช้ควบคุมอารมณ์ที่ขึ้นลง ปรวนแปรง่าย ซึ่งอาจมีทั้งแจ่มใส สนุกสนาน เบิกบานเกินจริง หรือหงุดหงิดโมโหง่ายเกินเหตุ
จริงๆ แล้วการรับประทานยา ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดไหน หรือ ประเภทใดก็ตาม ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เป็นสำคัญ เพราะยาทุกชนิดต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ยากล่อมประสาทมีทั้งประโยชน์และโทษ หากใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ใกล้ชิด ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ จากกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยา ซึ่งจะช่วยลด บรรเทา และช่วยแก้ไขอาการทางจิตได้
แล้วใครกัน ที่จะสามารถใช้ยากล่อมประสาทได้ ส่วนนี้เป็นข้อพิจารณาที่แพทย์จะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการใช้ยา มีผลต่อการทำลายที่ตับ การขับถ่ายที่ไต ดังนั้น ในผู้สูงอายุหรือเป็นโรคทางการแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคตับ แพทย์จะทำการพิจารณา ใช้ยากับคนไข้ด้วยความระมัดระวัง เช่น ให้คนไข้ใช้ในขนาดต่ำกว่าปกติ และใช้แค่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่วัน หรือใช้เป็นครั้งคราว เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
สำหรับหนุ่มสาวที่ตับไตแม้จะยังอยู่ในสภาพดี แต่การใช้ยาโดยไม่ได้รับการควบคุม อาจมีผลเสียในระยะยาวคือการติดเป็นนิสัย และกลายเป็นเสพติดทางกาย เมื่อไม่ได้เสพไม่ได้ใช้ ก็จะมีอาการขาดยาขึ้นได้ และอาจเป็นอันตรายมาก ในกรณีที่เกิดการเสพติด จำเป็นต้องเสพปริมาณสูงมากขึ้น เช่น 1-2 เม็ด ไม่เพียงพอกับฤทธิ์ยาที่ต้องการ บางรายอาจต้องใช้สูงกว่า 10-20 เม็ด ซึ่งค่อนข้างยากต่อการบำบัด เมื่อมาพบแพทย์ นอกจากนี้ในระยะยาวยังมีผลในเรื่องความทรงจำ ทำให้ความจำเสื่อมถอยอย่างมาก หลงลืมกลุ่มคนไข้เหล่านี้ จะให้หยุดยาที่เสพทันทีไม่ได้ อาจอันตรายถึงขั้นมีอาการชักได้ จำเป็นต้องค่อยลดปริมาณยาหรือปรับยา โดยให้ยากล่อมประสาทประเภทอื่นทดแทน ดังนั้น หนทางที่ถูกต้อง คือ ก่อนใช้ยาควรได้รับคำปรึกษาแพทย์
ฤทธิ์ของยากล่อมประสาทร้ายแรงกว่าที่คิด หากมระมัดระวังในการใช้ ถึงแม้ว่า ยากล่อมประสาททุกตัว ย่อมได้รับการผ่านมาตรฐานความปลอดภัยมาแล้วทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ก็ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล เพราะหากใช้เกินขนาด อาจเกิดอันตราย โดยเฉพาะฤทธิ์ของยามีโอกาสเข้าไปกดสมอง หรือประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการซึมยาว หรือมีอาการซึมมากจากการใช้ยาไม่ระวัง แม้เพียงหนึ่งครั้ง ก็อาจทำให้ฤทธิ์ของยาเข้าไปกดระบบศูนย์กลางการหายใจในส่วนสมอง และมีโอกาสถึงกับทำให้หยุดหายใจ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด
เรื่องการใช้ยา เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง การรับประทานยาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามแพทย์สั่ง การซื้อยามารับประทานเอง โดยไม่อ่านฉลากหรือคำเตือนที่ระบุไว้ หรือซื้อยาจากคำบอกเล่า แต่อย่าลืมว่าร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน หากรับประทานยาโดยไม่ระมัดระวัง ไม่ได้เป็นผลดีต่อร่างกายของเราเลยแม้แต่น้อย
นายแพทย์สันชัย วสุนธรา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช
โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)