
© 2017 Copyright - Haijai.com
ทริครับมือโรคหน้าร้อนของคุณแม่ตั้งครรภ์
อากาศร้อนๆ ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบ ทั้งเหงื่อ ความอับชื้น ไม่สบายตัว แถมแสงแดดจัดๆ พาลให้หน้ามืดเป็นลมก็มี คนปกติยังต้องระวังหลีกเลี่ยงกับอากาศร้อนๆ แล้วในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ลูกน้อยๆ ล่ะ ยิ่งน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในปัจจุบัน ผู้หญิงเราก็มีบทบาทมากขึ้นนอกเหนือไปจากหน้าที่คุณแม่ ไหนจะต้องทำงาน ไหนจะต้องดูแลครอบครัว ชีวิตประจำวันคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องออกไปเผชิญกับอากาศร้อนภายนอก
โดยเฉพาะ คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่จะมีการทำงานของร่างกายที่แตกต่างจากสภาพร่างกายปกติ เนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานจะเพิ่มมากกว่าคนทั่วไป ประมาณ 20% ทำให้รู้สึกร้อน และเหนื่อยมากกว่าคนทั่วไป ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ มากขึ้น โดยโรคหรืออาการต่างๆ ที่มักพบในคุณแม่ตั้งครรภ์มีดังนี้
1.ท้องเสีย ท้องร่วง
โรคหน้าร้อนที่พบเจอบ่อยๆ จะเป็นเรื่องของท้องเสีย ท้องร่วง เนื่องจากอากาศที่ร้อน ทำให้อาหารที่รับประทานเสียง่าย ที่สำคัญเดี๋ยวนี้คนทั่วไปโดยส่วนใหญ่ หรือว่าผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน ก็มักจะอาศัยอาหารถุง หรือซื้ออาหารนอกบ้านทานกันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา แต่เราจะมั่นใจ หรือแน่ใจได้อย่างไรว่า อาหารที่เราซื้อรับประทานกันเข้าไป อาจเป็นอาหารขายเหลือค้างคืนหรือเปล่า
2.ผดผื่นคัน และความอับชื้น
เมืองไทยมีอากาศค่อนข้างร้อน เราทุกคนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องเผชิญกับอากาศร้อน เราก็จะมีเรื่องของการเสียเหงื่อค่อนข้างมาก เกิดอาการผดผื่นคันได้ง่าย พอเราออกไปทำงานแล้ว จะหาเวลาไปอาบน้ำอีกทีก็คงไม่สะดวก ต้องทนสภาพที่อาจจะชื้นแฉะจากเหงื่อที่ออกมา ก็จะทำให้เกิดอาการผดผื่นคันได้ง่าย และในส่วนของผู้หญิงตรงบริเวณจุดสำคัญอย่างจุดซ่อนเร้นของผู้หญิง ซึ่งบริเวณนี้ก็มีเหงื่อเหมือนกัน ก็อาจทำให้อับชื้นได้มากขึ้น ทำให้ช่องคลอดเกิดการอักเสบได้
3.อาการ Heat Stroke
อาการนี้เกิดกับคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ยกตัวอย่างเช่น ทหารที่จำเป็นต้องฝึกในที่แจ้ง แดดแรง และมีอากาศที่ร้อนมาก เมื่อร้อนมากก็เสียเหงื่อมาก อาจเกิดการเป็นลม หากเป็นในระดับที่ไม่รุนแรง ก็คือการเป็นลมเฉยๆ ไม่อันตราย แต่ถ้าเป็นในระดับรุนแรง เราเรียกว่า Heat Stroke คือภาวะที่ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่เป็นจำนวนมาก จนสมองเกิดภาวะขาดน้ำไปเลี้ยง ทำให้คนไข้มีอาการวิงเวียน เวียนหัว ปวดหัว และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะหากเสียเหงื่อมากๆ แล้วไม่ได้รับการชดเชยด้วยน้ำ แถมยังทนอยู่ในสภาพเดิมๆ แล้วคิดว่าตัวเองยังไหว สุดท้ายเกิดภาวะขาดน้ำในกระแสเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง ทำให้เกิดอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้
4.โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
เพราะในระบบทางเดินหายใจ เราต้องพึ่งน้ำ เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น เวลาหายใจเข้าไป ก็จะหายใจได้ค่อนข้างโล่ง สบาย แต่เมื่อใดก็ตามถ้าเราไปอยู่ในที่โล่งแจ้งมากๆ เจอแดดร้อนๆ เราก็จะรู้สึกเหมือนหายใจไม่ค่อยโล่ง เพราะเราเกิดการขาดน้ำ เมื่อเป็นแบบนี้เราก็ต้องชดเชยด้วยการดื่มน้ำ หรือไม่ควรอยู่กลางแดดจัดตลอดเวลา ควรเข้าที่ร่มบ้าง
เตรียมรับมือกับโรคหน้าร้อน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายค่อนข้างต่ำกว่าเดิม ในภาวะตั้งครรภ์คุณแม่มักจะมีความดันต่ำอยู่แล้ว เนื่องจากมีการขยายของหลอดเลือด เมื่อคุณแม่ไปเจออากาศร้อน ก็เท่ากับต้องเสียเหงื่อ เสียน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของการเป็นลมหน้ามืดก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าในคนปกติ
1.ไม่ควรจะอยู่ที่ที่มีแสงแดดจัดมากเกินไป เมื่อรู้ตัวเองว่ากำลังหน้ามืด ต้องหาที่จับเพื่อที่คุณแม่จะได้ไม่ล้ม เพราะการล้มอาจจะบาดเจ็บได้มากกว่าในคนปกติ ต้องอย่าลืมนึกถึงทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์ด้วย
2.สวมใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อเบาสบาย เช่น ผ้าฝ้า ผ้าคอตตอน เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี อย่าใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมากให้รู้สึกอึดอัด ที่จะทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและเป็นลมได้ง่าย
3.คุณแม่ก็ต้องระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหาร เลือกรับประทานอาหารสดใหม่ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดท้องเสีย และท้องร่วง
4.อาบน้ำบ่อยๆ เพราะถึงแม้คุณแม่ตั้งครรภ์จะไม่ใช่คนขี้ร้อน แต่ด้วยสภาวะการตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้รู้สึกร้อนกว่าคนปกติอยู่แล้ว อีกทั้งการอาบน้ำยังทำให้รู้สึกสบายตัว ลดผดผื่นคันและความอับชื้น
5.คุณแม่บางคนชอบใส่แผ่นอนามัย สาเหตุที่คุณแม่ตั้งครรภ์ใส่แผ่นอนามัย ก็เนื่องมาจากช่วงคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีเมือกออกมาจากช่องคลอดมากกว่าปกติ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อนะคะ ในส่วนนี้ก็จะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ขาดความมั่นใจ จึงเลือกวิธีใส่แผ่นอนามัย แต่การใส่แผ่นอนามัย ความอับชื้นจะระบายได้ยากกว่าไม่ใส่แผ่นอนามัย ดังนั้น คุณแม่ควรจะเปลี่ยนแผ่นอนามัยให้บ่อย เพื่อป้องกันการอับชื้นหรือติดเชื้อ และหากเกิดติดเชื้อในช่องคลอด ก็อาจเกิดการลุกลามเข้าไปถึงปากมดลูก ทำให้เกิดการอักเสบที่ปากมดลูก แล้วก็จะทำให้บริเวณถุงน้ำคร่ำ ที่สัมผัสกับตรงปากมดลูก อาจจะมีการติดเชื้อและถุงน้ำคร่ำบางตัวลง และแตกได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีการติดเชื้อในช่องคลอด
6.ไม่ควรอยู่ในห้องแอร์ที่ปรับอุณหภูมิจนแตกต่างจากอากาศข้างนอกมากเกินไป ควรปรับอุณหภูมิห้องไม่ให้แตกต่างจากข้างนอกมากนัก เพราะเมื่อเวลาที่ต้องออกไปเจอแดด ร่างกายจะได้ปรับตัวได้ทัน ลดโอกาสเกิดอาการไม่สบายและเป็นไข้ได้
แพทย์หญิงขนิษฐา อิ่มวัฒนา
สูติ-นรีแพทย์
โรงพยาบาลวิภาวดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)