Haijai.com


4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพรีไบโอติกส์


 
เปิดอ่าน 8277

4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพรีไบโอติกส์ (Prebiotics)

 

 

ใครที่อยากเป็นคุณพ่อคุณแม่อินเทรนด์ ก็ต้องคอยอัพเดทเรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อยด้วยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะโรคภัยแปลกๆ ในปัจจุบันนับวันก็จะมีให้เห็นกันอยู่ร่ำไปค่ะ ฉะนั้นหนทางที่ดีที่สุดก็คือ การสร้างภูมิต้านทานให้กับลูกน้อย เพื่อป้องกันก่อนลูกน้อยเจ็บป่วย พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) สารที่มีบทบาทในการสร้างภูมิต้านทานให้กับลูกน้อยได้ จะสร้างได้ด้วยวิธีไหนต้องตามไปดูกันค่ะ

 

 

1.พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออะไร

 

คือ ส่วนของอาหารที่ไม่ถูกย่อย (ใยอาหาร) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายโดยเลือกกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์หนึ่งหรือหลายชนิดในลำไส้ ซึ่งช่วยส่งเสริมสุขภาพให้กับร่างกาย จุลินทรีย์ในที่นี้ก็หมายถึงจุลินทรีย์สุขภาพ หรือที่เรียกว่า Probiotics นั่นเอง เช่น เชื้อ Bifidobacteria และ Lactobacilli โดยพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) จะเป็นแหล่งอาหารให้กับจุลินทรีย์สุขภาพ เนื่องจากพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) จะไม่ถูกย่อยโดยน้ำย่อยของมนุษย์ ดังนั้นมันจะผ่านกระเพาะและลำไส้ส่วนต้นโดยไม่ถูกย่อย พอถึงลำไส้ใหญ่ที่ซึ่งมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พรีไบโอติกส์ก็จะเลือกเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์สุขภาพ ทำให้จุลินทรีย์สุขภาพเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนเพิ่มมากขึ้น การหมักย่อยพรีไบโอติกของจุลินทรีย์สุขภาพจะทำให้เกิดกรดไขมันสายสั้น ซึ่งมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรค ทำให้จุลินทรีย์ก่อโรคลดน้อยลงหรือตายไป มีผลทำให้การติดเชื้อในลำไส้ลดน้อยลง ลดการเกิดท้องเสียและท้องผูก ทำให้สุขภาพลำไส้ดี กรดไขมันสายสั้นที่เกิดขึ้นนี้ยังทำให้เซลล์บุผิวลำไส้แข็งแรงขึ้นอีกด้วย

 

 

2.พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) แตกต่างจากใยอาหารอย่างไร

 

จากคำจำกัดความที่ว่า พรีไบโอติกส์เป็นส่วนของอาหารที่ไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหารของมนุษย์ ซึ่งคำจำกัดความจะคาบเกี่ยวกับใยอาหาร แต่ที่แยกความแตกต่างกันออกก็คือ พรีไบโอติกส์จะเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสายสั้นๆ ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียบางชนิด หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พรีไบโอติกก็จะเป็นอาหารให้แก่จุลินทรีย์ที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น ซึ่งองค์ประกอบในอาหารที่จัดเป็นพรีไบติกส์ต้องมีลักษณะ 3 ประการดังนี้

 

 สารนั้นจะต้องไม่ถูกย่อยหรือดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก

 

 

 สารนั้นจะต้องมีความจำเพาะกับแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้

 

 

 สารนั้นควรมีการกระตุ้นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ กาแลคโตโอลิโกแซคคาไรด์ ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ และอินนูลิน เป็นต้น

 

 

3. พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) สำคัญต่อลูกน้อยอย่างไร

 

พรีไบโอติกส์มีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างภูมิต้านทานลูกน้อย โดยมีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ด้านภูมิต้านทานที่หนักแน่นคือ

 

 เพิ่มจำนวนจุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้

 

 

 ลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคในลำไส้

 

 

 ส่งเสริมเยื่อบุเมือกของลำไส้ให้แข็งแรงขึ้น

 

 

 เพิ่มการผลิตแอนตี้บอดี้ (sIgA)

 

 

 ลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ

 

 

4.พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) กับ นมแม่

 

ข้อมูลจากทั้งการศึกษาทดลองและจากงานวิจัยต่างล้วนพบว่า นมแม่จะช่วยเสริมความแข็งแรงของระบบภูมิต้านทานของทารก และเมื่อเทียบกับทารกที่ได้เลี้ยงด้วยนมผงแล้ว ทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่จะมีอัตราการเกิดโรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ และรวมถึงโรคเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานชนิดต่างๆ น้อยกว่า ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในนมแม่ซึ่งช่วยเสริมภูมิต้านทานคือส่วนโอลิโกแซคคาไรด์ (Oligosaccharide) ซึ่งจะมีระดับที่ใกล้เคียงกับโปรตีน ทำให้เป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่เป็นพรีไบโอติกส์ เป็นสารอาหารสำคัญที่มีบทบาทต่อการช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ เมื่อจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้มีมาก ก็จะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคไม่ให้ทำร้ายลำไส้ ป้องกันลำไส้ติดเชื้อ เมื่อลูกน้อยมีสุขภาพลำไส้ที่ดีก็มักจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคภัย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อีกทั้งช่วยลดอาการท้องผูก ท้องเสีย นอกจากนี้พรีไบโอติกส์ยังมีส่วนช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหารให้ร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีเพียงพอเท่าไร ก็หมายความว่าร่างกายจะแข็งแรงและไม่เจ็บป่วยง่ายนั่นเอง เพราะระบบภูมิต้านทานของคนเราจะอยู่ที่ลำไส้ถึง 70% ระบบภูมิต้านทานที่ลำไส้จะเชื่อมโยงกับระบบภูมิต้านทานอื่นๆ ทั่วร่างกายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการที่ลำไส้มีสุขภาพดี ภูมิต้านทานที่ลำไส้ก็แข็งแรงส่งผลให้ภูมิต้านทานในระบบอื่นๆ แข็งแรงไปด้วย

 

 

เนื่องจากในนมแม่มีใยอาหาร (โอลิโกแซคคาไรด์) ซึ่งเป็นพรีไบโอติกส์เป็นส่วนประกอบอยู่มากเป็นอันดับสาม และมีบทบาทสำคัญต่อความแข็งแรงของระบบภูมิต้านทานของลูกน้อย นักวิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการจึงได้มีการค้นคว้าวิจัยพรีไบโอติก ที่ให้ผลเสริมภูมิต้านทานได้ใกล้เคียงนมแม่ เพื่อเสริมโภชนาการจนพบว่า พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ที่เป็นส่วนผสมของกาแลคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (GOS) 90% และ ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์สายยาว (lcFOS) 10% ให้ผลของพรีไบโอติกส์ที่ใกล้เคียงนมแม่ และมีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างภูมิต้านทานของลูกน้อยเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะมีอยู่ในนมแม่แล้ว พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ยังมีอยู่ในพืชผักด้วย เช่น หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) หัวชิคอรี่ (Chicory) อาร์ติโชค (Artichoke) กล้วย มะเขือเทศ ข้าวสาลี ฯลฯ อีกด้วย

 

 

จากการวิจัยของ รศ.ไพบูลย์ ธรรมรัตน์วาสิก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า พืชเมืองร้อน 15 ชนิด คือ กล้วยน้ำว้า (แก่และสุก) กระเจี๊ยบเขียว ขนุน ข้าวสาร เงาะ ลูกตาล จำปาดะ ทุเรียน มันขี้หนู มะขามเปียก เมล็ดมะขาม มะพร้าวอ่อน มะม่วงแก่ และหัวข้าวเย็น พบสารที่ชื่อว่า “พรีไบโอติกส์” อยู่ในพืชเหล่านี้ ซึ่งเป็นสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ถูกย่อยหรือถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก แต่เป็นสารที่ช่วยส่งเสริมเชื้อแบคทีเรีย Probiotics ที่อยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหารที่เป็นประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย และช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิด LDL ทั้งยังช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็ก ซึ่งสร้างสารป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้

 

 

“ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อสกัดสารพรีโบโอติกส์ในรูปแบบอาหารเสริมและสุขภาพ เพราะการรับประทานผักและผลไม้ เพื่อให้ได้สารชนิดนี้ในปริมาณที่เพียงพอ จะต้องบริโภคในปริมาณมาก” รศ.ไพบูลย์กล่าว

(Some images used under license from Shutterstock.com.)