© 2017 Copyright - Haijai.com
น้ำร้อนกับผิวของลูกน้อย
การเลี้ยงลูกวัยเล็กๆ ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ เพราะนอกจากจะต้องดูแลให้ลูกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ก็ต้องดูแลผิวของลูกน้อยให้มีสุขภาพผิวพรรณที่ดี สดใส ที่ใครเห็นก็อยากเข้ามากอด มาหอม ซึ่งนอกเหนือจากการดูแลผิวลูกน้อยให้สดใสแล้ว อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ความปลอดภัยของลูกน้อย เพราะอุบัติเหตุบางอย่างอาจมีผลกระทบกับสุขภาพผิวลูกน้อยได้นะคะ ซึ่งอุบัติเหตุอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ น้ำร้อนลวก เมื่อลูกเริ่มคว้าสิ่งของหรือเริ่มกำมือได้ ลูกก็จะชอบคว้าสิ่งของใกล้ตัว ซึ่งอาจทำให้ลูกน้อยได้รับอันตรายและเกิดการบาดเจ็บได้ และที่สำคัญความเสียหายนั้นอาจฝากร่องรอยทิ้งไว้ให้กับผิวอันบอบบาง และกลายเป็นแผลเป็นติดตัวจนเขาเติบใหญ่ก็ได้ เรื่องแบบนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้นะคะ ดังนั้น คุณหมอจึงมีวิธีปฏิบัติเมื่อลูกน้อยประสบอุบัติเหตุถูกน้ำร้อนลวกมาฝากค่ะ
ปกติเมื่อคุณแม่พาเจ้าตัวน้อยมาหาคุณหมอ ไม่ว่าจะถูกน้ำร้อนลวก หรือโดนเตารีดร้อนๆ มา ปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความรุนแรงต่อการบาดเจ็บ ได้แก่ อายุ ขนาดของบาดแผล และการบาดเจ็บต่อทางเดินหายใจ โดยในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกาย และประเมินความลึกของบาดแผลเพื่อเป็นการวางแผนการรักษา โดยจะประเมินความลึกของบาดแผลก่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
ระดับแรก (First degree Burn)
บาดแผลจะอยู่บริเวณหนังกำพร้าเท่านั้น จะมีอาการบวมแดงเล็กน้อยและแสบบริเวณที่มีบาดแผล มักเกิดจากความร้อนที่ไม่สูงมาก และสัมผัสผิวในช่วงเวลาไม่นาน และจะหายได้เร็วไม่มีรอยแผลเป็น (โดยปกติแผลน้ำร้อนลวกจะอยู่ในระดับนี้)
ระดับที่ 2 (Second degree Burn)
บาดแผลจะลึกจนทำลายชั้นหนังแท้บางส่วน ผิวหนังจะมีสีแดงและพบตุ่มน้ำพอง (Blister) อาการปวดจะรุนแรงมากกว่าขั้นแรก แผลหายยากกว่า และส่วนใหญ่มักจะเกิดแผลเป็น
ระยะที่ 3 (Third degree Burn)
บาดแผลจะลึกลงไปถึงชั้นใต้ผิวหนังซึ่งมีกล้ามเนื้อ เส้นประสาทและเส้นเลือด อาจปวดมาก แต่ถ้าเส้นประสาทถูกทำลายไปด้วยจะทำให้แผลไม่มีความรู้สึกได้ เช่น ไฟไหม้ที่สัมผัสผิวหนังเป็นเวลานาน
น้ำมันเดือดๆ บาดแผลจะไม่หายเองและจะเป็นแผลเป็น
ทำอย่างไรดีเมื่อเจ้าตัวน้อยถูกน้ำร้อนลวก
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่อย่าตื่นตกใจจนทำอะไรไม่ถูก พยายามตั้งสติให้ดีแล้วรีบนำลูกออกจากบริเวณนั้นโดยเร็วที่สุด แล้วทำตามขั้นตอนดังนี้ค่ะ
• ถอดเสื้อลูกที่เปียกน้ำร้อนออก เพื่อไม่ให้ความร้อนสัมผัสกับผิวลูกเป็นเวลานาน
• ลดอุณหภูมิของผิวลูกที่โดนความร้อน เช่น การประคบน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง ไม่ควรใช้อาหารในตู้เย็นมาประคบ เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
• ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ปิดแผลด้วยผ้าสะอาด
• ถ้าบาดแผลมีบริเวณกว้าง ควรรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ไม่ควรแกะแผลที่พองเพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ ซึ่งแนวทางป้องกันสำหรับคุณพ่อคุณแม่เพื่อป้องกันลูกน้อยจากอุบัติเหตุน้ำร้อนลวกก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่วางภาชนะที่มีของร้อน เช่น กระติกน้ำ ถ้วยกาแฟ ขวดนมใส่น้ำร้อน ชามน้ำแกงไว้ใกล้มือหรือในที่ที่ลูกเอื้อมถึงโดยเด็ดขาด และควรปิดภาชนะ เช่น ขวดนมให้แน่นทุกครั้ง ในขณะที่อุ้มลูกอยู่ก็ไม่ควรถือของร้อนไว้ในมือ และน้ำอุ่นที่ผสมให้ลูกน้อยอาบนั้น ควรใช้หลังมือสัมผัสน้ำก่อนทุกครั้ง เพราะเด็กทารกไม่สามารถบอกเราได้นะคะว่าร้อนหรือไม่ มารู้ก็ต่อเมื่อลูกน้อยโดนน้ำร้อนลวกเสียแล้ว และสุดท้ายเมื่อลูกน้อยเริ่มมีพัฒนาการคืบหรือคลานได้แล้ว ในบ้านควรมีประตูกั้นทางขึ้นลงบันได ห้องน้ำ หรือห้องครัว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เรามักคาดไม่ถึงและอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อด้วยค่ะ
ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรที่คนไทยรู้จักดี มีการนำมาใช้รักษาแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก เนื่องจากมีสารโพลียูโรไนด์และโพลีแซคคาไรด์ที่ช่วยรักษาแผล ซึ่งในปัจจุบันมีในรูปแบบเจล ซึ่งทำจากวุ้นหางจระเข้เข้มข้น เพื่อง่ายและสะดวกแก่การใช้ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ ที่จะช่วยปกป้องผิวลูกน้อยให้ห่างไกลจากปัญหาผดผื่นด้วยนะคะ เห็นมั้ยคะ สมุนไพรไทยนี่ดีจริงๆ
แพทย์หญิงฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)