Haijai.com


ประเภทของ นม ในท้องตลาดแตกต่างกันอย่างไร


 
เปิดอ่าน 32555

เจาะกล่องนม

 

 

ถ้าจะถามถึงเหตุผลที่ควรดื่มนมเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว คำตอบก็คือ นมเป็นแหล่งรวมสารอาหารจากธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า แล้วนมที่มีวางจำหน่ายอยู่มายหลายชนิดในท้องตลาดบ้านเรา มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และเราควรจะเลือกบริโภคชนิดไหน บทความนี้มีคำตอบค่ะ

 

 

นมประกอบด้วยสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด 1 แก้ว (200 มิลลิกรัม) ให้พลังงานประมาณ 100 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยโปรตีนคุณภาพดีหรือโปรตีนชนิดสมบูรณ์ (Complete Protein) ประมาณ 7 กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับโปรตีนจากไข่ 1 ฟอง และมีคาร์โบไฮเดรต 12-15 กรัม เทียบเท่ากับการรับประทานขนมปัง 1 แผ่น หรือ ข้าวสวย 1 ทัพพี ส่วนไขมันขึ้นอยู่กับประเภทภาวะกระดูกเปราะบาง มีวิตามินเอสูงถึงร้อยละ 10 ของความต้องการต่อวัน ช่วยในการมองเห็น และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายอุดมด้วยวิตามินบี 2 ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก และป้องกันผิวหนังแตก

 

 

เจาะลึกประเภทของนม

 

เมื่อนำน้ำนมดิบมาผ่านกระบวนการผลิต โดยใช้ระดับอุณหภูมิความร้อนและระยะเวลาที่เหมาะสมต่างกันในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในนมเป็นเกณฑ์ จะแบ่งนมได้เป็น 3 ประเภท คือ

 

 นมพาสเจอร์ไรซ์ คือ นมสดที่ผ่านการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โดยใช้ระยะเวลาสั้น อุณหภูมิไม่สูงมากประมาณ 62-75 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 15 วินาที มีจุดเด่นคือ รส กลิ่น และสีของนมจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมน้อยมาก ทำให้นมมีความสดใหม่ และคงคุณค่าสารอาหารอย่างครบถ้วน แต่มีอายุการเก็บรักษาที่สั้น ไม่ควรซื้อปริมาณมาก และต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเท่านั้น

 

 

 นมสเตอริไรซ์ ใช้ความร้อน 100-135 องศาเซลเซียสภายในเวลา 20-30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้สามารถเก็บนมชนิดนี้ไว้ในอุณหภูมิห้องได้ ไมต้องแช่ตู้เย็น มักบรรจุบนในกระป๋องโลหะ จึงสามารเก็บได้นาน 1-2 ปี แต่อาจมีการสูญเสียวิตามินที่ละลายในน้ำ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซีไปบ้าง กับกระบวนการผลิต กลิ่น สี และรสชาติจะเปลี่ยนไปจากน้ำนมปกติอย่างชัดเจน นมจะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นคล้ายนมต้มสุก

 

 

 นม ยู เอช ที ใช้ความร้อนสูงประมาณ 135-150 จุลินทรีย์ในนม แต่ใช้ระยะเวลาสั้น ส่วนใหญ่บรรจุในกล่องกระดาษ ช่วยให้คงคุณค่าของสารอาหารและรสชาติเหมือนนมสด สามารถเก็บรักษาได้นาน 6-9 เดือนที่อุณหภูมิห้อง โดยไม่ต้องแช่เย็น

 

 

ประเภทของนมที่วางขายในท้องตลาด

 

 นมสดครบส่วน (Whole milk) คือ นมสดธรรมชาติที่นำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โดยไม่ได้ตัดปริมาณไขมันออก สังเกตจากฉลากโภชนาการจะระบุว่าเป็นนมโค 100% มีปริมาณแคลเซียม 200-300 มิลลิกรัมต่อหนึ่งแก้ว เหมาะสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ เด็กวัยเรียน วัยรุ่น

 

 

 นมพร่องมันเนย (Low fat milk) คือ นมที่สกัดไขมันออกไปบางส่วน ทำให้มีพลังงานน้อยลง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และรักษาระดับไขมันในเลือดให้เป็นปกติ มีปริมาณแคลเซียม 200-300 มิลลิกรัมต่อหนึ่งแก้ว

 

 

 นมขาดมันเนย (Non-fat milk) คือ นมที่แยกไขมันเนยออกเหลือเฉพาะโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงไขมัน ควบคุมน้ำหนัก และมีระดับไขมันในเลือดสูง ปริมาณแคลเซียม 200-300 มิลลิกรัมต่อหนึ่งแก้ว

 

 

 นมผง คือ นมสดที่ระเหยน้ำออกไปทั้งหมด มีลักษณะเป็นผงละเอียด มี 3 ชนิด คือ นมผงครบส่วน นมผงพร่องมันเนย และนมผงขาดมันเนย ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อ เพื่อดูปริมาณแคลเซียมและวิธีชงที่ถูกต้อง ไม่ควรใช้นมผงชนิดนี้เลี้ยงทารก

 

 

 นมข้น (Condensed milk) คือ นมสดที่ระเหยเอาน้ำบางส่วนออก มีความเข้มข้นมากขึ้น แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

 

1.นมข้นจืด คือ นมที่มีอัตราส่วนของน้ำน้อยกว่าปกติ 50% ถ้าเติมไขมันเนยลงไปเรียกว่า “นมข้นคืนรูปไม่หวาน” ถ้าเติมน้ำมันชนิดอื่นแทนไขมันเนย เช่น น้ำมันปาล์ม เรียกว่า “นมข้นแปลงไขมันชนิดไม่หวาน” มีกรดไขมันจำเป็นและวิตามินบางชนิดน้อย ห้ามนำไปใช้เลี้ยงทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานเป็นประจำ

 

 

2.นมข้นหวาน คือ นมที่ระเหยน้ำบางส่วน หรือนมผงขาดมันเนยผสมกับไขมันเนย หรือไขมันปาล์ม มีไขมันและน้ำตาลปริมาณมาก คุณค่าทางโภชนาการลดน้อยลง โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียมจะต่ำกว่านมสด ควรจำกัดปริมาณรับประทาน สำหรับทารก เด็ก ผู้เป็นเบาหวาน และผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค

 

 นมแปลงไขมัน (Filled milk) คือ นมพร้อมดื่มที่นำเอาไขมันชนิดอื่น เช่น น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว มาผสมแทนไขมันเนยที่อยู่ในน้ำนม นิยมนำไปปรุงอาหารและเครื่องดื่ม มีราคาถูกกว่านมสดทั่วไป ปริมาณแคลเซียมน้อยมาก ไม่เหมาะสำหรับใช้บริโภคเป็นประจำ

 

 

 นมปรุงแต่ง (Flavored milk) คือ นมสดหรือนมผงที่ปรุงแต่งด้วยสี กลิ่น รส ทำให้น่ารับประทานมากขึ้น นมปรุงแต่งทุกชนิดมักเติมน้ำตาล เพื่อช่วยเพิ่มรสหวาน เช่น นมรสกล้วยหอม นมช็อคโกแลต นมรสสตรอว์เบอรี ปริมาณแคลเซียมจะลดลงกว่านมรสจืดทั่วไป เพราะถูกแทนที่ด้วยน้ำตาล ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และเด็กเล็ก เพราะทำให้ติดรสหวาน

 

 

 นมเปรี้ยว (Cultured milk) คือ นมที่เติมเชื้อแบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อร่างกาย แล้วนำไปหมักบ่มให้มีปริมาณจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลในนมได้ เนื่องจากจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียจะเปลี่ยนสภาพของน้ำตาลในนมให้เป็นกรด นมเปรี้ยวส่วนใหญ่มักเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มรสชาติให้ดื่มง่ายขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานส่วนเกิน อ้วนง่าย เด็กและผู้ที่รักษาสุขภาพควรเลือกนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต ที่ไม่ผสมน้ำตาล ปริมาณแคลเซียมจากนมเปรี้ยวมีน้อยกว่านมสดทั่วไป

 

 

เลือกดื่มนมอะไรดีที่สุด

 

ในแต่ละภูมิประเทศมักจะนิยมดื่มนมที่แตกต่างกันไป เช่น นมอูฐ นมจามรี นมม้า นมควาย และนมแพะ คุณค่าทางโภชนาการของนมแต่ละชนิดนั้น มีความแตกต่างกันบ้าง ตามโครงสร้างของนมแต่ละประเภท แต่จะมีสารอาหารหลักที่คล้ายกันคือ เป็นแหล่งของโปรตีน มีน้ำตาลในนมหรือแลคโตส ไขมัน คอเลสเตอรอล และแคลเซียม

 

 

ตารางเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของนมควาย นมแพะ และนมวัว ปริมาณ 200 มิลลิลิตร

สารอาหาร

นมควาย

นมแพะ

นมวัว

พลังงาน

194 กิโลแคลอรี

137 กิโลแคลอรี

120 กิโลแคลอรี

คาร์โบไฮเดรต

11 กรัม

9 กรัม

11 กรัม

ไขมัน

11 กรัม

8 กรัม

7 กรัม

คอเลสเตอรอล

38 มิลลิกรัม

22 มิลลิกรัม

20 มิลลิกรัม

โปรตีน

7 กรัม

7 กรัม

7 กรัม

แคลเซียม

318 มิลลิกรัม

268 มิลลิกรัม

226 มิลลิกรัม

 

 

ผู้บริโภคที่ไม่มีปัญหาเรื่องการย่อยน้ำตาลในนม หรือแพ้นม สามารถเลือกดื่มนมได้ทุกชนิดตามความชอบ อาจจะสลับกันดื่ม สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับไขมัน คอเลสเตอรอลควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนการเลือกซื้อทุกครั้ง เพื่อเลือกดื่มนมชนิดที่มีไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลน้อย หรือถ้าต้องการดื่มนมที่ไม่สกัดไขมันออก ก็ต้องควบคุมไขมันในอาหารหลักทดแทน กรณีแพ้นมวัวในเด็กทารก มีความเป็นไปได้ว่าอาจแพ้ทั้งนมแพะและนมควายด้วยเช่นกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ

 

 

แววตา เอกชาวนา

นักโภชนาการ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)