
© 2017 Copyright - Haijai.com
รองเท้าวิ่ง
ปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงใส่ใจเรื่องการออกกำลังกายมากขึ้นด้วย ซึ่งการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่ง คือ “การวิ่ง” เพราะสะดวกไม่ต้องอาศัยทักษะเช่นในการเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ อุปกรณ์ก็มีแค่เสื้อผ้าที่สวมใส่ และ “รองเท้าวิ่ง” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดขาดไม่ได้
การวิ่งเพื่อออกกำลังกายควรเป็นการวิ่งที่มีความเร็วต่ำ และใช้เวลานานพอสมควร อย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป จะสร้างความแข็งแรงให้ระบบหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันโรคในกลุ่มเมตาบอลิก รวมทั้งแรงกระแทกจากการวิ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนด้วย อย่างไรก็ตามแรกกระแทกที่กระทำซ้ำๆ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ รองเท้าที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการวิ่งจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้
คุณสมบัติของรองเท้าวิ่ง
คุณสมบัติสำคัญอย่างแรกของรองเท้าวิ่ง คือ มีลักษณะส้นที่หนาและปลายที่บาง เพราะส้นที่หนานอกจากจะช่วยรับแรงกระแทกแล้ว ยังช่วยชะลอให้แรงกระแทกส่งผ่านสู่ร่างกายช้าลง และกระจายสู่เนื้อเยื่อบริเวณที่กว้างขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากแรงกระแทกที่กระทำที่เท้า ส่วนปลายที่บางจะช่วยกระจายแรงส่งตัวขณะจะก้าวลอยตัวไปข้างหน้า จึงไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า รับแรงกดมากเกินไปจนเกิดอาการเจ็บ
จากการทดลองวัดปริมาณแรงที่เกิดขึ้นบริเวณที่รองเท้าสัมผัสกับพื้นที่วิ่งผ่าน พบว่ามีปริมาณถึง 2-3 เท่าของน้ำหนักตัวนักวิ่ง การทดลองทำโดยให้คนวิ่งผ่านอุปกรณ์ Force plate ซึ่งฝังอยู่ที่พื้น เพื่อวัดแรงปฏิกิริยาที่กระทำระหว่างพื้นกับรองเท้าในแนวดิ่ง พบว่า การวิ่งที่ความเร็วต่ำ คนส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะวิ่งในลักษณะส้นเท้ากระทบพื้น (Heel Striker) จากนั้นจะลงน้ำหนักเต็มเท้า (Midstance) แล้ว จึงดันร่างกายลอยออกจากพื้นด้วยปลายเท้า (Take-off) ซึ่งพบว่าแรงปฏิกิริยาขณะที่ส้นเท้ากระทบพื้นสูงสุดในแนวดิ่ง (Impact peak) จะมีค่าระหว่าง 1.5-2.0 เท่าของน้ำหนักตัวผู้วิ่ง และแรงปฏิกิริยาขณะที่เท้าส่งตัววิ่งออกไปข้งาหน้า (Active peak) จะมีค่าระหว่าง 2.5-3.0 เท่าของน้ำหนักตัวผู้วิ่ง โดยหากวิ่งที่ความเร็วสูงขึ้น แรงปฏิกิริยาก็จะมีค่าสูงขึ้นตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามแรงปฏิกิริยาขณะที่ส้นเท้ากระทบพื้นสูงสุดในแนวดิ่งทั้ง 3 กรณี ไม่ว่าจะวิ่งเท้าเปล่า วิ่งด้วยรองเท้าพื้นยางนิ่มหรือแข็ง จะเกิดแรงขณะที่ส้นเท้ากระทบพื้นสูงสุดภายใน 0.05 วินาที ซึ่งร่างกายมีปฏิกิริยาอัตโนมัติ (Reflex) ในการหดตัวของกล้ามเนื้อ เพื่อลดแรงที่กระทำกับร่างกายได้เร็วที่สุด คือ 0.10 วินาที ดังนั้น การใส่รองเท้าวิ่งจึงมีประโยชน์ในการช่วยลดแรงกระแทก ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งต้องใช้เครื่องมือวัดที่ฝ่าเท้า
ส่วนแรงปฏิกิริยาขณะที่เท้าส่งตัววิ่งออกไปข้างหน้า (Active peak) ทั้ง 3 กรณี จะเกิดในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะมีค่าสูงกว่าแรงปฏิกิริยาขณะที่ส้นเท้ากระทบพื้นสูงสุดในแนวดิ่ง (Impack peak) แต่แรงนี้จะมีผลทำอันตรายกับร่างกายไม่มาก เพราะเป็นแรงที่ร่างกายสร้างขึ้น และมีเวลาที่จะเพิ่มแรงเป็นเวลานาน ทำให้มีการกระจายแรงไปบนฝ่าเท้าได้ดีกว่า
ผศ.ดร.นพ.ภาสกร วัธนธาดา
แพทย์ผู้สอนเวชศาสตร์การกีฬา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)