© 2017 Copyright - Haijai.com
ไซนัส สำคัญไฉน
ไซนัสคือโพรงในกระดูกที่อยู่รอบจมูก มีอยู่ 4 คู่ด้วยกัน ได้แก่ ไซนัสหน้าผาก ข้างหัวตา โหนกแก้ม และฐานสมอง ไซนัสช่วยปรับสภาพอากาศที่เราหายใจเข้าให้อุ่นและชุ่มชื้น ทำให้เสียงที่เปล่งอกมากังวาน และป้องกันอวัยวะภายในกะโหลกศีรษะจากแรงกระแทก (อย่างไรก็ตามมีบางทฤษฎีกล่าวว่า ไซนัสอาจเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของมนุษย์และไม่มีหน้าที่ใดเป็นพิเศษ) กลไกของไซนัสในการป้องกันการรุกรานจากเชื้อโรค ได้แก่ การที่ขนกวัดของไซนัสพัดโบกสิ่งแปลกปลอมออกไป การที่รูของไซนัสโล่งพอที่สิ่งแปลกปลอมจะระบายสู่โพรงจมูก และการหลั่งสารที่มีฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ ความบกพร่องของกลไกใดกลไกหนึ่ง หรือทุกกลไกจะส่งผลให้ไซนัสอักเสบในที่สุด
โพรงอาการข้างจมูก (ไซนัส) คือ โพรงในกระดูกที่อยู่รอบจมูก ซึ่งมีอาการบรรจุอยู่ โดยปกติมี 4 คู่ ได้แก่ ไซนัสหน้าผาก ไซนัสข้างหัวตา ไซนัสโหนกแก้ม และไซนัสฐานสมอง แต่ละคู่จะอยู่คนละข้างของจมูก ภายในโพรงไซนัสบุด้วยเยื่อบุชนิดเดียวกับที่บุในโพรงจมูก แต่มีเซลล์ที่ผลิตเมือกหรือน้ำมูก เส้นเลือดและเส้นประสาทค่อนข้างน้อย ไซนัสแต่ละคู่มีลักษณะและความสำคัญอย่างไร
ลักษณะของไซนัสแต่ละคู่
• ไซนัสหน้าผาก เริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุ 4 เดือนและมีขนาดโตเต็มที่เมื่ออายุ 14-15 ปี ไซนัสหน้าผากในแต่ละคนจะมีลักษณะแตกต่างกัน จนสามารถใช้บอกตัวบุคคลได้เหมือนลายนิ้วมือ การติดเชื้อที่ไซนัสนี้อาจลามเข้าไปสู่สมอง ซึ่งอยู่ด้านหลังของมันได้
• ไซนัสข้างหัวตา เกิดจากโพรงอากาศเล็กๆ หลายอันรวมตัวกัน เริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุ 4 เดือน และโตเต็มที่เมื่ออายุ 12-14 ปี ไซนัสข้างหัวตาถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการเกิดไซนัสอักเสบ นอกจากนี้การติดเชื้อที่ไซนัสนี้ หากไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจลามเข้าไปในสมองและลูกตาได้
• ไซนัสโหนกแก้ม มีขนาดใหญ่สุด เริ่มเจริญเมื่ออายุได้ 3 เดือน และมีขนาดโตเต็มที่เมื่ออายุ 15 ปี ไซนัสนี้มีความสัมพันธ์ทางกายวิภาคกับฟันบน ซึ่งอยู่บริเวณพื้นของไซนัสนี้ ดังนั้นปัญหาที่ฟันหรือรากฟัน จึงอาจลามเข้ามาที่ไซนัสนี้โดยง่าย
• ไซนัสฐานสมอง อยู่ในกระดูกที่บริเวณฐานสมอง มักมีขนาดแตกต่างกันไป เริ่มเจริญเมื่ออายุได้ 4 เดือน และมีขนาดโตเต็มที่เมื่ออายุได้ 12-14 ปี อวัยวะสำคัญที่อยู่รอบๆ ไซนัสฐานสมอง ได้แก่ ด้านบนมีต่อมใต้สมองและเส้นประสาทตา ด้านข้างมีหลอดเลือดแดงใหญ่ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 4, 6, 5 แขนงที่ 1 และ 2 และด้านหลังมีก้านสมอง การที่ไซนัสนี้อยู่ติดกับต่อมใต้สมองจึงทำให้สามารถผ่าตัดเนื้องอกที่ต่อมใต้สมองผ่านไซนัสนี้ได้ โดยมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดสมอง ในทางกลับกันเมื่อไซนัสนี้มีการอักเสบหรือติดเชื้อความผิดปกติดังกล่าว ก็สามารถลุกลามเข้าไปในสมองได้โดยง่ายเช่นกัน
ความสำคัญของไซนัส
• ช่วยให้เสียงที่เราเปล่งออกมากังวานขึ้น
• ช่วยในการรับกลิ่น
• ช่วยปรับสภาพของอากาศที่เราหายใจเข้าไปให้อุ่นและชื้นขึ้น เนื่องจากไซนัสมีเยื่อบุผิวเช่นเดียวกับในโพรงจมูก และมีรูติดต่อกับโพรงจมูก
• ช่วยทำให้กะโหลกศีรษะเบาขึ้น และช่วยรักษาสมดุลของศีรษะ
• ช่วยลดความรุนแรงขณะเกิดการกระทบกระแทก โดยเป็นเสมือนฉนวนลดความแรงที่จะไปถึงอวัยวะสำคัญในกะโหลกศีรษะ เช่น สมอง และเส้นประสาทสำคัญต่างๆ
• ช่วยในการพยุงตัวของทางเดินหายใจส่วนบน เมื่ออยู่ในน้ำ
• ช่วยเป็นฉนวนป้องกันไม่ให้กะโหลกศีรษะหรือลูกตาต้องกระทบกับความร้อนหรือเย็นเกินไป จากอากาศภายนอก
• ช่วยปรับความดันของอากาศภายในโพรงจมูก ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน เช่น ในระหว่างการหายใจเข้าหรือออก การจาม การเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศรอบข้างจากการขึ้นและลงจากที่สูง
อย่างไรก็ตามบางทฤษฎีก็กล่าวว่าไซนัสอาจเป็นเพียงส่วนที่เหลือค้างจากวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยไม่ได้มีหน้าที่อะไรเลยก็เป็นได้
ไซนัสป้องกันตนเองอย่างไร
ไซนัสก็เป็นเช่นเดียวกับอีกหลายๆ อวัยวะในร่างกาย ที่มีการป้องกันตนเองจากผู้บุกรุกภายนอก ด้วยกลไกต่างๆ ดังนี้
• การทำงานของขนกวัด มีลักษณะการทำงานคล้ายขนกวัดในโพรงจมูก สารต่างๆ จะถูกขับออกทางรูเปิดของไซนัส โดยการทำงานของขนกวัด การพัดโบกของขนกวัดไปสู่รูเปิดของไซนัสมีเส้นทางที่แน่นอน และไม่เปลี่ยนแปลงแม้หลังจากการผ่าตัด
• การที่รูของไซนัสที่เปิดเข้ามาในโพรงจมูกนั้นโล่งไม่อุดตัน ทำให้มีการขับสิ่งสกปรกและของเสียทั้งหลายออกจากไซนัส ผ่านทางรูเปิดที่ระบายสู่โพรงจมูก
• การที่ไซนัสหลั่งสารบางชนิดออกมา เช่น สารคัดหลั่งที่มีแอนติบอดี ซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้พบว่าเยื่อบุไซนัสยังสามารถสร้างก๊าซไนตริกออกไซด์ได้ด้วย จากการศึกษาพบว่าปริมาณก๊าซไนตริกออกไซด์ในโพรงไซนัสที่ปกตินั้น มีค่าสูงกว่าระดับของก๊าซไนตริกออกไซด์ในจมูก หรือในภาวะแวดล้อมทั่วไป ก๊าซนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และมีฤทธิ์ต้านไวรัสด้วยก๊าซไนตริกออกไซด์ และแอนติบอดีจากสารคัดหลั่ง จะช่วยทำให้โพรงไซนัสมีลักษณะที่ปลอดจากเชื้อ
ดังนั้น เมื่อเราเป็นไซนัสอักเสบ แสดงว่ากลไกใดกลไกหนึ่ง หรือหลายๆ กลไกดังกล่าวข้างต้นเสียไป เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ไซนัสสำคัญ
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจมูกและภูมิแพ้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)