© 2017 Copyright - Haijai.com
ภูมิคุ้มกันป้องกัน
ร่างกายของเรามีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมได้อย่างน่ามหัศจรรย์ จึงทำให้มนุษย์เรามีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากเชื้อโรคตัวร้ายที่มีอยู่มากมายในสิ่งแวดล้อมรอบตัว เชื้อโรคทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางผิวหนัง ทางปาก จมูก หรือตา โดยเมื่อเชื้อโรคสัมผัสกับอวัยวะต่างๆ ข้างต้น ร่างกายจะมีกลไกช่วยป้องกันเชื้อโรคเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย เช่น ผิวหนังมีความหนา ซึ่งยากต่อการชอนไชของเชื้อโรค พร้อมทั้งยังหลั่งเหงื่อออกมาเพื่อช่วยชะล้างเชื้อโรคออกไปด้วย ในระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลม จะมีอวัยวะที่เป็นขนเล็กๆ หรือเซลล์พัดโบกที่เรียกว่าซีเลีย (Cilia) คอยดักจับและพัดโบกเชื้อโรค จึงทำให้เรารู้สึกอยากไอ หรือจามออกมาทุกครั้ง เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ในกระเพอาหารมีการหลั่งกรดที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคหากเราเผลอรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดเข้าไป อย่างไรก็ดีหากโครงสร้างของร่างกายเหล่านี้ผิดปกติไป เช่น ผิวหนังถลอกหรือเกิดแผล เมื่อนั้นเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย
บวม แดง ร้อน คือ สัญญาณของการอักเสบ
มนุษย์เรามักตกใจกลัวทุกครั้งเมื่อสังเกตเห็นอักเสบเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ผิวหนังบวมแดงร้อนเมื่อเกิดแผล แต่สิ่งนี้เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สาเหตุที่ผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีการบวมแดงอย่างชัดเจน เนื่องจากหลอดเลือดบริเวณนั้นมีการขยายตัว เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงมากขึ้น และนำพาเซลล์ที่มีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคมาด้วย
ทำความรู้จักกับศัตรูตัวฉกาจ
• แบคทีเรีย (Bacteria)
โลกใบนี้มีแบคทีเรียอาศัยอยู่มากกว่า 5x103 ล้านตัว ในดิน 1 กรัม จะพบแบคทีเรียมีชีวิตอาศัยอยู่กว่า 40 ล้านตัว ในน้ำ 1 ซีซี มีแบคทีเรียอยู่กว่าล้านตัว แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์มาก มันมีชีวิตและดำรงเผ่าพันธุ์ได้ด้วยการแบ่งตัว แบคทีเรียพวกหนึ่งต้องพึ่งพาร่างกาย สิ่งมีชีวิตอื่นในการดำรงชีพ ส่วนอีกพวกหนึ่งสามารถอยู่ได้อย่างอิสระ
แบคทีเรียบางชนิดอาศัยอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอย่างเป็นมิตร เช่น แบคทีเรียในทางเดินอาหารมีหน้าที่เป็นเจ้าถิ่นคอยจับกินแบคทีเรียแปลกปลอมจากภายนอก ส่วนแบคทีเรียบางชนิดก่อโรคและทำอันตรายร่างกายมนุษย์ได้ โดยการผลิตสารพิษออกมา เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) ทำให้ช่องคออักเสบหรือปอดอักเสบได้
• ไวรัส (Virus)
ไวรัส เป็นคำที่มาจากภาษาละติน แปลว่า พิษ และมีขนาดเล็กมากกว่าแบคทีเรียถึง 100 เท่า ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ไวรัสจะมีความรุนแรงดุร้ายมากกว่าแบคทีเรียมาก อย่างไรก็ดีไวรัสไม่สามารถดำรงชีพได้อย่างอิสระ มันต้องอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตในการเจริญเติบโตและแบ่งจำนวน เมื่อแบ่งจำนวนได้มากขึ้น ไวรัสจะทำตัวเป็นดั่งปรสิตและทำลายเจ้าบ้านในที่สุด
เกราะป้องกันของร่างกาย
• ระบบโปรตีนคอมพลีเม้นท์ (Complement system)
ในร่างกายมีกลุ่มโปรตีนที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดคอยตรวจตา และตอบสนองต่อเชื้อโรคทันทีที่มีการบุกรุก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ และเรียกเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เป็นสมัครพรรคพวกมาล้อมจับกิน และทำลายเชื้อโรคเหล่านั้นในที่สุด
• เซลล์เม็ดเลือดขาวฟาโกไซด์ (Phagocytes)
เซลล์กลุ่มนี้มีหน้าที่ในการจับกินสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส หรือเนื้องอกในร่างกาย แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ กรานูโลไซต์ แมคโครฟาต เดนไดรติก
• เซลล์เม็ดเลือดขาวกรานูโลไซต์ (Granulocytes)
กรานูโลไซต์เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวแรกในการโจมตีเชื้อโรค และเรียกสมัครพรรคพวกมาเพิ่มเติม เพื่อมาจับกินสิ่งแปลกปลอม กรานูโลไซต์ที่ตายแล้วจะมีสภาพเป็นหนองดังที่เราเห็นบนผิวหนัง กรานูโลไซต์ แบ่งได้เป็น 3 ชนิดตามหน้าที่การทำงาน คือ
1.นิวโทรฟิล (Neutrophil) จับกินเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย
2.อีโอซิโนฟิล (Eosinophil) ตอบสนองต่อพยาธิ
3.เบโซฟิล (Basophil) ตอบสนองต่ออาการแพ้ เช่น ภูมิแพ้
• เซลล์เม็ดเลือดขาวแมคโครฟาจ (Macrophages)
เซลล์ในกลุ่มนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ โมโนไซต์ (Monocytes) และแมคโครฟาจ (Macrophages) โมโนไซต์เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ล่อลอยอยู่ในกระแสเลือด และจะเปลี่ยนเป็นแมคโครฟาจทันที เมื่อเข้าสู่เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด สมอง ตับ และไต และพร้อมทำงานจับกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม แมคโครฟาจมีความแข็งแรงมากกว่ากรานูโลไซต์มาก
• เดนไดรติกเซลล์ (Dendritic cells)
เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดพิเศษที่มีแขนขายื่นบริเวณผิวเซลล์ พบมากในระบบน้ำเหลือง คอยคัดกรองและกำจัดเชื้อโรคเบื้องต้น หากเกินความสามารถของมันแล้ว เดนไดรติกเซลล์จะเรียกลิมโฟไซต์ทีเซลล์ออกมา
• ลิมโฟไซต์ทีเซลล์ (T cell lymphocytes)
ทีเซลล์พบมากที่ต่อมไทมัส ซึ่งตั้งอยู่บริเวณคอใกล้กับต่อมไทรอยด์ จึงเป็นสาเหตุทำให้เรียกว่าทีเซลล์ เมื่ออายุมากขึ้นต่อมไทมัสจะทำงานได้ดียิ่งขึ้น และผลิตเซลล์ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อ นอกจากต่อมไทมัสแล้ว ร่างกายของเรายังมีทีเซลล์อยู่ที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ ทั่วร่างกายด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ ซึ่งต่อมทอนซิลก็เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณคอด้วย
ทีเซลล์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ทีเซลล์ผู้ช่วย (Helper T cell) และทีเซลล์นักฆ่า (Killer T cell) ทีเซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรค
ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อนับจำนวนทีเซลล์ทุกปี (เราเรียกทีเซลล์เหล่านั้นว่า CD4) เนื่องจากเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) จะมีการแบ่งตัวและทำลายทีเซลล์ จนท้ายที่สุดร่างกายจะไม่เหลือทีเซลล์ไว้ต่อสู้กับเชื้อโรค เลยทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDs) และติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนปกติ
• ลิมโฟไซบีเซลล์
เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนี้พบมากในระบบทางเดินน้ำเหลืองดังเช่นทีเซลล์ บีเซลล์มีหน้าที่จำเพาะในการจดจำเชื้อโรค และสร้างสารที่คอยดักจับเชื้อโรคอย่างจำเพาะที่เรียกว่า แอนติบอดี ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคได้รวดเร็วขึ้น เมื่อสัมผัสสิ่งแปลกปลอมที่เคยได้รับมาแล้ว
ทำความรู้จักกับวัคซีน
วัคซีนเป็นเวชภัณฑ์ที่มีประโยชน์มหาศาลต่อมนุษย์ ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.ทอกซอยด์ (Toxoid)
ใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย ผลิตโดยนำพิษของแบคทีเรียมาทำให้ปราศจากพิษ แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ เช่น วัคซีนคอตีบ วัคซีนบาดทะยัก
2.วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated หรือ Killed vaccine)
• วัคซีนที่ผลิตจากแบคทีเรียหรือไวรัสทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว (Whole cell vaccine) ได้แก่วัคซีนไอกรน วัคซีนอหิวาตกโรค วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดน้ำ
• วัคซีนที่ผลิตจากบางส่วนของแบคทีเรียหรือไวรัส (Subunit vaccine) วัคซีนในกลุ่มนี้มักมีปฏิกิริยาหลังฉีดน้อย เช่น วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนฮิบ (Haemophilus Influenza type B) วัคซีนนิวโมคอคคัส
3.วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live-attenuated vaccine)
ผลิตจากเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้ฤทธิ์อ่อนลงแล้ว เช่น วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน วัคซีนสุกใส วัคซีนวัณโรค (BCG) วัคซีนไข้ไทฟอยด์ชนิดกิน
วัคซีนหลายชนิดสามารถให้พร้อมกันสนวันเดียวได้ แต่ต้องฉีดในตำแหน่งที่ต่างกันและไม่นำวัคซีนมาผสมกัน โดยทั่วไปผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดและมีไข้ต่ำๆ สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ผู้ที่มีไข้สูงควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน ถ้าไม่มีความรีบด่วนที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนทันที สำหรับวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live-attenuated vaccine) ไม่ควรให้แก่หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกันอยู่ และผู้ที่เพิ่งได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือดไม่เกิน 3 เดือน (ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาครบแล้ว และอยู่ในช่วงการติดตามการรักษา โดยไม่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน สามารถฉีดวัคซีนได้เหมือนคนปกติ) การให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์สามารถให้พร้อมกันในวันเดียวได้ แต่ถ้าไม่สามารถให้พร้อมกันได้ ควรเว้นช่วงการให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
รู้หรือไม่
เด็กไทยทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนบังคับตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรควัณโรคตับอักเสบบี โปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้สมองอักเสบ JE เพราะโรคเหล่านี้เป็นโรคที่เป็นอันตราย ทำให้เกิดความพิการและทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนวัคซีนเสริม เช่น วัคซีนป้องกันตับอักเสบเอ ป้องกันโรคอีสุกอีใส ป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในแผนของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ปกครองสามารเลือกฉีดให้แก่บุตรหลานได้ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาแพทย์หรือกุมารแพทย์ได้
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)