Haijai.com


ฟลูออไรด์คืออะไร


 
เปิดอ่าน 6085

ฟลูออไรด์

 

 

ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ขนาดของฟลูออไรด์ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ โดยในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ต้องการฟลูออไรด์ปริมาณ 0.01 มิลลิกรัมต่อวัน เด็กอายุ 7 เดือนถึง 13 ปี ต้องการฟลูออไรด์ในขนาด 0.5-2 มิลลิกรัมต่อวันตามแต่ช่วงอายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 13 ปี ต้องการฟลูออไรด์ในปริมาณ 3 มิลลิกรัม สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรมีความต้องการฟลูออไรด์ไม่ต่างจากสตรีทั่วไป ฟลูออไรด์มีจำหน่ายในรูปของยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และฟลูออไรด์เสริมในผลิตภัณฑ์ อาหารสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ไหมขัดฟัน เป็นต้น

 

 

แหล่งของฟลูออไรด์

 

โดยทั่วไปการรับประทานอาหารตามปกติ ทำให้ร่างกายได้รับฟลูออไรด์อย่างพอเพียงแล้ว เนื่องจากฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่พบได้มากในแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำ (รวมถึงเครื่องดื่มทุกชนิดที่ไม่ใช่นม) จึงเป็นแหล่งสำคัญของฟลูออไรด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชา” ฟลูออไรด์ยังพบได้มากในอาหารจำพวกปลา เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ผักที่มีลักษณะเป็นหัว (เช่น มันฝรั่ง) ธัญพืช ถั่วฝัก ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่ถูกเติมลงในผลิตภัณฑ์ในช่องปาก ดังนั้น ร่างกายจึงได้รับฟลูออไรด์จากการรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

 

ผลต่อสุขภาพ

 

การรับประทานฟลูออไรด์จากอาหารมีผลดีต่อฟัน โดยมีผลลดความเสี่ยง ยับยั้งและรักษาฟันผุได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากฟลูออไรด์ถูกสะสมในเคลือบฟัน ทำให้เคลือบฟันละลายในกรดได้น้อยลง ปริมาณฟลูออไรด์ในเนื้อเยื่อ และในเลือดขึ้นกับการรับประทานฟลูออไรด์ในระยะยาว โดยร่างกายสามารถสะสมฟลูออไรด์ที่ได้รับจากอาหารในปริมาณมากถึงร้อยละ 50 ในเนื้อเยื่อที่มีแคลเซียม

 

 

ภาวะขาดฟลูออไรด์เกิดจากการรับประทนฟลูออไรด์ไม่เพียงพอเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง เมื่อปริมาณฟลูออไรด์ที่เข้าสู่ร่างกายลดลงอย่างต่อเนื่อง จะมีผลให้ฟลูออไรด์ที่สะสมในเนื้อเยื่อละลายในเลือด หรือน้ำลายได้มากขึ้น เนื่องจากการขาดฟลูออไรด์เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก จึงไม่มีรายงานถึงอาการของภาวะดังกล่าว (นอกเหนือไปจากฟันผุ) ในทางตรงข้ามการได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด ทำให้เคลือบฟันสะสมฟลูออไรด์มากเกินไป เกิดเป็นความบนเคลือบฟันในฟันน้ำนม หรือฟันแท้ ซึ่งยังไม่งอก ภาวะฟลูออไรด์สะสมในเคลือบฟันมากเกินไป มักพบในเด็กอายุต่ำกว่าขวบ ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์เสริมฟลูออไรด์มากเกินขนาด หรือรับประทานสูตรอาหารทารกเสริมฟลูออไรด์ การรับประทานฟลูออไรด์มากเกินขนาด (เช่น ฟลูออไรด์ในขนาดวันละ 10 มิลลิกรัมต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป) ในผู้ที่อายุมากกว่า 8 ขวบ ทำให้เกิดภาวะฟลูออไรด์สะสมในกระดูก อาการแสดงของภาวะดังกล่าวในระยะไม่รุนแรง ได้แก่ ข้อขัด ปวดข้อ กระดูกแข็งกระด้าง (osteosclerosis) อาการแสดงในระยะที่รุนแรงขึ้น ได้แก่ กล้ามเนื้อเปลี้ย แคลเซียมสะสมที่เอ็น กระดูกงอก กระดูกพรุนในกระดูกท่อนยาว เสียมวลกล้ามเนื้อ และอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท เนื่องจากกระดูกสันหลังสะสมแคลเซียมเกินปกติ

 

 

ปฏิกิริยาระหว่างยา

 

เนื่องจากฟลูออไรด์เป็นธาตุที่แตกตัวเป็นประจุลบได้เป็นอย่างดี จึงถูกรบกวนการดูดซึมได้ด้วยแร่ธาตุ ซึ่งมีประจุบวกในอาหาร (เช่น แคลเซียม) การรับประทานฟลูออไรด์ร่วมกับนม หรืออาหารสามารถลดการดูดซึมฟลูออไรด์ได้มากถึงร้อยละ 10-25

 

 

ข้อแนะนำ

 

การรับประทานอาหารหลักครบ 5 หมู่ ทำให้ร่างกายได้รับฟลูออไรด์เพียงพอ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในช่องปากเกือบทุกประเภท เสริมฟลูออไรด์อย่างเพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฟลูออไรด์ ในกรณีที่ทันตแพทย์หรือแพทย์สั่งจ่ายฟลูออไรด์ ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง (ครึ่งถึง 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร) เพื่อให้ร่างกายดูดซึมฟลูออไรด์ได้ทั้งหมด สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ขวบ ควรปรึกษาทันตแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฟลูออไรด์เป็นองค์ประกอบ เพื่อป้องกันร่างกายได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดคราบฟลูออไรด์บนฟันได้

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

-Lennon MA, Whelton H, O’Mullane D, Ekstrand J. 2004. Rolling Revision of the WHO Guidelines for Drinking-Water Quality: Fluoride. World Health Organization.

 

-The Scientific Evaluation of Dietary Reference Intakes Food and Nutrition Board, Institute of Medicine. 1997.

 

 

ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)