© 2017 Copyright - Haijai.com
สะพานฟัน
ถ้าพูดถึง “สะพานฟัน” หลายท่านอาจสงสัยว่าคืออะไร เหมือนหรือคล้ายกับสะพานลอย สะพานข้ามแม่น้ำ หรือ สะพานปลาหรือเปล่า ดังนั้น วันนี้หมอจุ้มจิ้มจะมาแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับสะพานฟันกันค่ะ เพราะถ้าไม่ได้เป็นคนที่เคยใส่หรือมีคนใกล้ตัวใช้แล้วละก็ คงแทบจะไม่รู้จักกันเลยทีเดียว ทั้งนี้เพื่อเป็นความรู้และเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
สะพานฟันคืออะไร
สะพานฟัน คือ “ฟันปลอมแบบติดแน่น” ประเภทหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า เราจะไม่สามารถถอดสะพานฟันนี้ออกจากปากได้ ส่วนฟันปลอมสีชมพูๆ ที่เราเคยเห็นผู้สูงอายุใช้กัน สามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดและเอามาแช่น้ำก่อนนอน แบบนั้นเราเรียกกันว่า “ฟันปลอม แบบถอดได้”
ข้อดีของฟันปลอมแบบติดแน่นก็คือ จะให้ความรู้สึกเหมือนฟันธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ จะไม่ขยับหรือหลวมหลุดในขณะพูด หรือเคี้ยวอาหาร ช่วยให้ผู้ใส่มีความมั่นใจ ฟันปลอมจะมีขนาดชิ้นงานที่ค่อนข้างเล็ก ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวค่อนข้างสูง เนื่องจากแรงจากการบดเคี้ยวจะถูกถ่ายทอดไปสู่ฟัน ธรรมชาติซี่ข้างเคียงที่ใช้เป็นหลักยึดฟันปลอมโดยตรง และข้อดีที่สำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งก็คือฟันปลอมชนิดนี้ เหมาะสำหรับคนที่รักสวยรักงาม อยากมีบุคลิกดีไม่อยากให้คนรู้ว่าใส่ฟันปลอม เพราะเราสามารถออกแบบสะพานฟันให้ดูเป็นธรรมชาติคล้ายคลึงกับฟันปกติของผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นสีฟันขาวเหลืองอ่อนเข้ม หรือรูปร่างลักษณะฟันจะอ้วนผอมมนรีเหลี่ยมขนาดไหน ก็ออกแบบให้เหมือนกับฟันธรรมชาติในปากผู้ป่วยได้
ถ้าจะอธิบายลักษณะของ “สะพานฟัน” ให้เข้าใจง่าย ให้นึกถึงภาพสะพานข้ามแม่น้ำหรือสะพานลอย เมื่อเราถอนฟันออกไป ฟันจะหลอเป็นช่องว่าง ช่องดังกล่าวเปรียบได้กับแม่น้ำหรือถนน เราจึงต้องทำสะพานข้ามช่องฟันหลอของเราไป โดยปกติการทำสะพานต้องมีเสาที่หัวสะพานกับท้ายสะพาน (เหมือนที่สะพานลอยต้องมีเสาทั้งสองฝั่งถนน ที่ทำเป็นบันไดให้เราขึ้นไป) นี่ล่ะค่ะเป็นประเด็นหลักเลยว่า “ช่องว่างฟันที่เราจะใส่สะพานฟันได้ จึงต้องมีฟันอยู่ข้างๆ ซ้ายขวาหรือหน้าหลัง เพื่อทำเป็นเสาหัวและท้ายสะพาน” ดังนั้น ถ้าฟันหลอแบบไม่มีฟันข้างใดข้างหนึ่งเหลืออยู่ ก็ไม่สามารถทำสะพานฟันได้ อย่างเช่นฟันซี่ในสุดหายไป เป็นต้น ผู้ที่เหมาะสมกับฟันปลอมชนิดนี้ ได้แก่ ผู้ที่สูญเสียฟันธรรมชาติไปเป็นจำนวนน้อยเพียง 1-2 ซี่ต่อ 1 ช่องว่างเท้านั้น และฟันธรรมชาติที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังช่องว่าง จะต้องอยู่ในสภาพดี ไม่มีปัญหาโรคเหงือกอักเสบ หรือฟันผุอย่างรุนแรง และจะต้องเป็นผู้ที่สามารถดูแลทำความสะอาดภายในช่องปากได้เป็นอย่างดีอีกด้วยค่ะ
สร้างสะพานฟันอย่างไร
เราสามารถจำแนกสะพานฟันตามวัสดุได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบเซรามิกและโลหะ สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบเซรามิกล้วน และสะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบโลหะล้วน (ทอง)
หลักการใส่ฟันปลอมแบบสะพานฟัน (แบบชนิดธรรมดาที่นิยมทำกันทั่วไป) คือ ทันตแพทย์จะกรอฟันซี่ข้างเคียง เพื่อทำครอบฟัน ให้เป็นหลักยึดของสะพานฟันหรือเป็นเสาของสะพานฟัน ส่วนตัวสะพานที่อยู่ตรงช่องว่างก็จะทำเป็นรูปฟัน (ฟันปลอม) ห้อยไว้ ปิดช่องว่างฟันหลอของเรา ขั้นตอนการเตรียมฟันด้วยการกรอเนื้อฟันข้างเคียงของสะพานฟัน อาจก่อให้เกิดการเสียวฟันได้ ระหว่างการทำจึงต้องมีการใส่ยาชา เพื่อลดอาการดังกล่าว สะพานฟันประเภทเซรามิกผสมโลหะและแบบเซรามิกล้วน จะมีสีสันที่เหมือนฟันจริงตามธรรมชาติ โดยทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการเลือกใช้สะพานฟันแบบเซรามิก ผสมโลหะสำหรับการทดแทนฟันกราม ซึ่งใช้ในการบดเคี้ยวแบบเซรามิกล้วนในการทดแทนฟันหน้า ซึ่งสะพานฟันแบบเซรามิกล้วจะให้ความใสและสวยงามเหมือนฟันตามธรรมชาติ ส่วนสะพานฟันแบบโลหะล้วนจะมีความแข็งแรงและทนทานมากที่สุด เนื่องจากไม่มีการบิ่นหรือแตกเหมือนเซรามิก จึงแนะนำให้ใช้ในฟันหลังที่มีการใช้แรงในการบดเคี้ยวอาหารมากกว่า และอยู่ข้างในช่องปาก ซึ่งมองเห็นไม่ชัดเจน จึงไม่ต้องเน้นเรื่องความสวยงามมากนัก
ดูแลสะพานฟันอย่างไร
หลังจากทำสะพานฟัน ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งภายใน 24 ชั่วโมงหลังการยึดติดสะพานฟัน ควรรับประทานอาหารอ่อนจนกว่าจะชินกับสะพานฟัน ผู้ป่วยบางท่านอาจจะพบกับปัญหาเสียวฟัน ซึ่งสามารถหายได้เองภายในเลาไม่นาน การหลีกเลี่ยงอาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไป หรือมีความเป็นกรด การใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ ตลอดจนการรับประทานยาแก้ปวด สามารถช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการเสียวฟันได้
การใส่ฟันปลอมแบบสะพานฟันจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ทั่วไป และที่สำคัญต้องทำความสะอาดให้ดี เพราะด้วยความที่มันติดแน่นอยู่ในปากของเรา จึงทำความสะอาดได้ยากกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ เราจึงต้องดูแลทำความสะอาดช่องปากของเราเป็นอย่างดี วิธีการดูแลฟันหลังจากทำสะพานฟันมีดังนี้ค่ะ
• ทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเป็นการเริ่มวินัยที่ดีในการดูแลสุขภาพปากและฟัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
• ทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง
• ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็ง (เช่น น้ำแข็ง กระดูก) บริเวณสะพานฟัน
• พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน
วิธีการดูแลสุขภาพช่องปากเช่นนี้ ถ้าเราทุกคนสามารถทำได้เป็นประจำทุกวัน ก็ไม่จำเป็นต้องมาหาข้อมูลตัดสินใจว่าจะเลือกฟันปลอมชนิดไหนดี เพราะฟันธรรมชาติของเราจะอยู่กับเราไปได้จนแก่เฒ่าเลยล่ะค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
• คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
• ทันตแพทยสภา
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)