
© 2017 Copyright - Haijai.com
ส่องกล้องลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นหัตถการที่สามารถตรวจกวาดหามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดี เป็นการตรวจร่างกายเพื่อค้นหาและป้องกันรักษาโรคร้ายที่ได้ผลดี การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นการตรวจที่ได้ผลคุ้มค่าอันดับต้นๆ การตรวจนี้เรียกว่า colonoscopy ตรวจโดยใช้กล้อง ซึ่งบังคับให้งอได้เหมือนงูสอดเข้าไปทางทวารหนัก ตลอดความยาวของลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีความยาวประมาณ 1 เมตรกว่าๆ ขณะที่ส่องกล้องคนไข้จะนอนตะแคงซ้าย คนทำจะเป่าลมทางกล้องเข้าไปโป่งเปิดรูลำไส้ให้อ้าออก เพื่อให้กล้องเคลื่อนเข้าไปในลำไส้
ก่อนการทำหัตถการต้องมีการเตรียมลำไส้ให้ปราศจากอุจจาระ เพื่อให้การมองเห็นเป็นไปได้ดี โดยต้องกินยาถ่าย ดื่มน้ำหรือสารเหลวจำนวนมากเพียงพอ ต้องกินอาหารเหลว 1 วัน อาหารกากน้อย 2 วัน ในบางกรณีต้องสวนทวารหนักก่อนส่องกล้อง ให้ภายในสะอาดและเอื้อต่อการส่องดูและ/หรือทำหัตถการ ถ้าการเตรียมลำไส้สะอาดไม่พอ จะทำให้มองไม่เห็น อาจทำให้พลาดต่อการเห็นมะเร็ง ทำให้วินิจฉัยผิดพลาด แต่เนื่องจากการเตรียมลำไส้อาจเป็นเรื่องยาก คนไข้ที่ทำตามคำแนะนำไม่ได้ ควรปรึกษาพยาบาลห้องส่องกล้องตรวจลำไส้ว่า จะทำอย่างไร การตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ นอกจากมองเห็นแล้วยังสามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ หรือตัดก้อนเนื้องอกออกไป ซึ่งเป็นการรักษาไปในตัว และยังสามารถตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆ เช่น การตกเลือดทางทวารหนัก โรคปวดท้อง ท้องผูกท้องเดินเรื้อรัง ฯลฯ การตรวจวิธีนี้อาจจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตกเลือด หรือลำไส้ทะลุได้ แต่เกิดขึ้นน้อย
วิธีส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทำโดยสอดกล้องส่องลำไส้ใหญ่ (colonoscope) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ยาว และยืดหยุ่นได้เข้าไปทางทวารหนัก ในขณะที่คนไข้นอนบนเตียง โดยได้รับยาแก้ปวดและยานอนหลับอย่างอ่อน ขณะสอดใส่กล้องเข้าไปเรื่อยๆ จนสุดทางเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่สอดใส่นั้น กล้องถ่ายวิดีโอที่อยู่บริเวณส่วนปลายของกล้องส่องลำไส้ใหญ่ จะถ่ายทอดภาพออกมาที่หน้าจอมอนิเตอร์ ทำให้ผู้ทำหัตถการและผู้ช่วยสามารถเห็นสิ่งต่างๆ ที่พบเจอตามทางที่กล้องเคลื่อนที่เข้าไป ตลอดลำไส้แบบเรียลไทม์ และถ้าจำเป็นก็สามารถใส่เครื่องมือเข้าไปช่วยทำหัตถการ เช่น การตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ เพื่อการวินิจฉัย การคล้องตัดเนื้องอกออกมาทั้งก้อน การจี้เพื่อหยุดเลือดออก (เพื่อการรักษา)
มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมากเริ่มจากก้อนของเซลล์เล็กๆ ที่เรียกรวมว่า โพลิป (polyps) ซึ่งงอกจากเยื่อบุลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก โพลิปส่วนมากไม่กลายไปเป็นมะเร็ง แต่บางก้อนกลายไปเป็นมะเร็ง การทำโคโลโนสะโกปี้จะช่วยให้มองดูและตัดก้อนโพลิปออกมาก่อนที่จะกลายไปเป็นมะเร็ง หรือขณะที่มีกำลังเริ่มกลายก็ตัดมันออกมาก่อน เป็นการรักษาอย่างหนึ่งในระยะเริ่มต้นของมะเร็ง ซึ่งจะให้ผล (ในการอยู่รอด 5 ปี) ดีถึง 90%
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สามารถใช้ทำอย่างอื่นได้ด้วย คือ การส่องเข้าไปหาสาเหตุของอาการปวดท้อง การถ่ายอุจจาระเป็นเลือดในบางลักษณะอาการท้องผูกเรื้อรัง ท้องเดิน หรือปัญหาของลำไส้อย่างอื่น นอกจากตัดชิ้นเนื้อหรือตัดโพลิปแล้ว โคโลโนสะโกปี้ ยังสามารถนำไปใช้ในการรักษาภาวะเลือดออก หรือขยายลำไส้บริเวณที่ตีบบางลักษณะได้อีกด้วย
เตรียมตัวก่อนส่องกล้อง
ลำไส้ใหญ่เป็นที่สะสมของอุจจาระ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมลำไส้ให้สะอาดก่อนการส่องกล้อง เพื่อให้มองเห็นได้ชัด ไม่ต้องกลับมาทำซ้ำอีก การเตรียมในแต่ละโรงพยาบาลจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่โดยหลักการทำ คือ เพื่อให้มีอุจจาระเหลือในลำไส้น้อยที่สุด โดยให้กินอาหารเหลว 1 วันก่อนการส่องกล้อง ให้กินอาหารกากน้อย 2 วันก่อนหัตถการ คนไข้ต้องละเว้นการกินยาที่มีธาตุเหล็ก และงดดื่มน้ำหวานสีแดงหรือชมพู เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะทำให้สีของลำไส้ใหญ่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนปกติ คนไข้ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำหัตถการทราบว่า กินยาอะไรอยู่บ้าง เช่น ยาเบาหวาน ยาละลายลิ่มเลือด ยาพวกนี้อาจจะต้องมีการปรับขนาดก่อนการเตรียมลำไส้ เพื่อการส่องกล้อง สิ่งที่ต้องทำร่วมด้วยคือ การกินยาระบาย ซึ่งอาจจะเป็นยาน้ำ 2 ครั้ง หรือยาเม็ด บางกรณีอาจต้องสวนล้างทวารหนักเพื่อความสะอาด
ยาถ่ายชนิดน้ำที่ดื่มได้ค่อนข้างสะดวกคอหน่อย คือ ยาโซเดียมพิโคซัลเฟต (Prepopik) ซึ่งต้องดื่มขนาด 5 ออนซ์ 2 โดส พร้อมกับดื่มน้ำหรือสารเหลว (เช่น น้ำหวาน) ที่คนไข้เลือกประมาณครึ่งแกลลอน การเลือกสารเหลวนี้ต้องขึ้นอยู่กับภาวะทางสุขภาพของคนไข้ด้วย เช่น คนที่หัวใจล้มเหลวหรือโรคไต อาจดื่มตามใจชอบไม่ได้ ต้องให้แพทย์พิจารณาอนุญาตก่อน
การเตรียมลำไส้หรือกินยาถ่ายล้างลำไส้นี้ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน แต่มีความจำเป็นเพื่อความสำเร็จในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพราะถ้าคุณไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์พบว่าลำไส้ใหญ่ของคุณไม่สะอาด ก็อาจจะยกเลิกการส่องกล้อง ทำให้คุณเสียเวลาเดินทางไปส่องกล้องเปล่าๆ หรือต้องเริ่มเตรียมตัวใหม่ ทางที่ดีถ้าคุณกินยาตามที่แพทย์สั่งแล้ว รู้สึกฝืนมากทำไม่ได้ ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลประจำห้องส่องกล้อง เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเตรียมลำไส้
เกิดอะไรหลังส่องกล้อง
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจกวาดหามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมาก ใช้เวลาตรวจประมาณ 20 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการพักฟื้นจากยานอนหลับ คนไข้จำเป็นต้องมีญาติมาเป็นเพื่อนและพากลับบ้าน
หลังการส่องกล้องอาจจะรู้สึกท้องอืดและผายลมบ่อยอยู่หลายชั่วโมง เนื่องจากในการส่องกล้องแพทย์ต้องเป่าลมเข้าไปในลำไส้ เพื่อโป่งลำไส้ให้เกิดออกเพื่อการตรวจ ตอนที่ตรวจเสร็จแพทย์พยายามดูดลมออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ก็คงไม่หมด คนไข้จึงต้องผายออกมา ในบางกรณีที่มีการตัดติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ออก หลังหัตถการอาจมีเลือดออกมาทางทวารหนักเล็กน้อย อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเลือดออกมาต้องแจ้งให้พยาบาลหรือแพทย์ทราบ
ภาวะแทรกซ้อนของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ที่อาจจะมีได้ คือ การตกเลือดแต่เกิดไม่บ่อย อีกอย่างหนึ่งคือการทะลุของลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรง แต่เกิดขึ้นได้น้อย ถ้าเกิดขึ้นแพทย์ต้องทำการรักษาโดยใช้วิธีที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น บางรายอาจใช้เครื่องมือซ่อมในขณะส่องกล้อง บางกรณีอาจจะต้องทำการผ่าตัดช่องท้องลงไปเย็บซ่อมรูรั่วของลำไส้ใหญ่ แต่ในการตรวจกวาดหามะเร็งโดยทั่วไปจะมีภาวะแทรกซ้อนน้อย
จากสถิติพบว่าการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อหามะเร็งมีผลดี สามารถช่วยชีวิตคนไข้จากมะเร็งได้ถึง 60-70% ซึ่งเป็นการตรวจป้องกันโรค คนที่ควรทำอย่างนี้คือ คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือคนที่มีความเสี่ยง เช่น เคยเป็นมะเร็งลำไส้มาก่อน หรือมีญาติเป็นโรคนี้มาก่อน หรือมีพันธุกรรมโรคเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ฯลฯ ปัจจุบันนี้อัตราการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดน้อยลง เนื่องจากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่แล้วตัดก้อนโพลิปออกก่อน ที่มันจะจะพัฒนาไปเป็นมะเร็ง การตรวจนี้ถ้าไม่พบโรคมะเร็งส่วนมากจะแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 10 ปี ไม่ต้องทำบ่อยๆ
นอกจากการส่องกล้องตรวจแล้วยังมีวิธีการอื่นในการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น ตรวจอุจจาระหาเลือด ตรวจอุจจาระหาสารพันธุกรรมะเร็ง ตรวจลำไส้ใหญ่โดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่โดยทั่วไปแล้ว การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะได้ผลดีที่สุด เพราะสามารถวินิจฉัยและรักษาพร้อมกันไปได้
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)