© 2017 Copyright - Haijai.com
คิดสักนิด ก่อนเสี่ยงสวยด้วยสเต็มเซลล์
ปัจจุบันเทรนด์ในการเสริมความงาม มีการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจเกี่ยวกับด้านความงามเติบโตเป็นอย่างมาก รูปแบบการรักษาโรคทางด้านผิวหนัง แปรเปลี่ยนมาเป็นทางด้านการเสริมความงามมากยิ่งขึ้น ทั้งการฉีด ร้อยไหม รวมไปถึงการใช้สเต็มเซลล์ ที่เป็นความหวังของความงามล่าสุด หลายคนบอกว่าดี สามารถช่วยชะลอริ้วรอยต่างๆ แต่เราจะแน่ใจผลลัพธ์ได้มากน้อยแค่ไหน ลองมาฟังอีกมุมหนึ่งกัน
สเต็มเซลล์คืออะไร
สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือ เซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้เรื่อยๆ โดยไม่มีขีดจำกัด และสามารถที่จะเปลี่ยนเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ได้หลากหลาย โดยสเต็มเซลล์มีด้วยกัน 2 ประเภทคือ
1.เซลล์ที่มาจากตัวอ่อน (Embryo)
2.เซลล์ที่มาจากสิ่งมีชีวิตหลังคลอด
เซลล์ต้นกำเนิดมักมาได้ปริมาณน้อย จะต้องมาทำการเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีความยุ่งยากและซับซ้อน เซลล์เหล่านี้มีคุณสมบัติที่เรียกว่า เลี้ยงยาก ตายง่าย ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ได้ การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในปัจจุบัน ที่เป็นการรักษาที่ได้มาตรฐาน จึงมีเพียงการรักษาโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย
สเต็มเซลล์มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน สร้างเซลล์ร่างกายต่างชนิดกัน ทางการแพทย์มีการนำไปใช้ต่างกัน กล่าวคือ อวัยวะส่วนใหญ่จะมีสเต็มเซลล์เป็นของตัวเอง เพื่อใช้ในการสร้างเซลล์ของอวัยวะนั้นๆ เช่น
• สเต็มเซลล์สมองสร้างเซลล์ประสาท
• สเต็มเซลล์ในไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือด
• เซลล์จากสายสะดือทารกก็ใช้ในการสร้างเซลล์เลือด
ซึ่งสเต็มเซลล์จากอวัยวะหนึ่งจะไม่สามารถสร้างเซลล์ของอีกอวัยวะหนึ่งได้
ความคาดหวังกับการนำสเต็มเซลล์มาใช้
การนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อการรักษาโรค มีด้วยกัน 3 แนวทางใหญ่ๆ คือ
1.ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แทนสเต็มเซลล์ที่ไม่ทำงาน ในอวัยวะที่ต้องมีการสร้างเซลล์สม่ำเสมอ ทั้งนี้มีเพียงการนำสเต็มเซลล์จากไขกระดูกไปรักษาโรคในระบบเลือดเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคือ การเพาะสเต็มเซลล์ผิวหนัง เพื่อรักษาบาดแผลไฟไหม้
2.การนำสเต็มเซลล์ไปสร้างเซลล์ชนิดจำเพาะ ก่อนนำมาปลูกถ่าย เช่น เซลล์ประสาทที่สร้างสารโดปามีนสำหรับการรักษาโรคพาร์กินสัน ส่วนเซลล์ตับอ่อนที่หลั่งอินซูลินสำหรับรักษาโรคเบาหวาน ยังอยู่ในขั้นของการทดลองเท่านั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดทางคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดร่างกายในอวัยวะต่างๆ ไม่ได้มีครบทุกอวัยวะ และสร้างเซลล์ได้ไม่ครบทุกชนิด
3.การปลูกเซลล์เพื่อหวังให้เกิดประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่การสร้างเซลล์ เช่น มีความคาดหวังว่าเซลล์ที่ปลูกถ่ายจะหลั่งสารเพื่อไปกระตุ้นการซ่อมแซมร่างกายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หน้าที่สำคัญของสเต็มเซลล์คือ การสร้างเซลล์ ไม่ใช่การเอาไปซ่อมร่างกายด้วยวิธีอื่น
สเต็มเซลล์รักษาความงามได้จริงหรือไม่
ข้อสงสัยที่เป็นปัญหาก็คือ เซลล์สามารถหลั่งสารบางอย่าง เพื่อไปกระตุ้นและซ่อมแซม เพื่อเป็นการชะลอวัยได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะเซลล์แต่ละเซลล์มีการหลั่งสารไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังมีการหลั่งสารจำนวนมาก ซึ่งสารนั้นอาจจะเป็นทั้งประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน ควบคุมได้ยาก หากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่สมุนไพรอาจจะมีสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์อยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีสารที่เป็นโทษปนอยู่ด้วยเช่นกัน สมุนไพรบางอย่างถ้ารับประทานเข้าไปโดยไม่ได้สกัด ก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้ ลักษณะเดียวกันกับสเต็มเซลล์ เพราะเซลล์หลั่งสารหลายอย่าง บางอย่างก็มีประโยชน์ บางอย่างก็มีโทษ เป็นผลเสียมากกว่าผลดี และผลร้ายอาจกลายเป็นมะเร็ง
การฉีดเซลล์จากสัตว์เข้าไปในร่างกายคน เซลล์ของสัตว์ก็เหมือนกับเซลล์ของคน มีการหลั่งสารหลายๆ อย่าง ที่มีทั้งประโยชน์และโทษ แต่เซลล์ของสัตว์มีความเสี่ยง คือ ความแตกต่างในเซลล์ของสัตว์กับเซลล์ของคน ไม่สามารถจะเอาเซลล์สัตว์ มาสร้างเซลล์หรือฉีดเข้าไปในร่างกายคนได้ ไม่ได้เกิดประโยชน์ในแง่ไปสร้างเซลล์ใหม่ให้เราอย่างแน่นอน ในทางตรงข้ามกัน กลับกลายเป็นความเสี่ยง เพราะว่าสัตว์มีโปรตีนที่ไม่เหมือนกับโปรตีนของคน ถ้าใช้ภายนอกอาจมีผลไม่มาก แต่ถ้ารับประทานหรือฉีดเข้าไป มันจะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของคนเราอย่างแรง ซึ่งผลที่เสี่ยงคือ ในระยะสั้น อาจจะมีการแพ้ ในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น เซลล์สมอง หากฉีดเข้าไปแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่ร่างกายเราจะต่อต้าน และพยายามทำลายเซลล์ รวมถึงไปทำลายเซลล์สมองของเราเอง
ดังนั้น กฎของแพทยสภาก็ชัดเจนว่า การฉีดเซลล์ใดๆ ต้องได้รับการควบคุมทางการแพทย์เท่านั้น เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในปัจจุบัน
แต่เพราะการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ สามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล จึงทำให้มีการลักลอบฉีด หรือ พาคนไปฉีดถึงต่างประเทศ สร้างรายได้กันอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาทางด้านความงาม ยังไม่มีหลักฐานการวิจัย หรือทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน การนำสเต็มเซลล์มาใช้ จึงมีเพียงแค่โรคเกี่ยวกับระบบเลือดเท่านั้น ที่มีผลการวิจัยรองรับและถือเป็นมาตรฐานทางการแพทย์อย่างแท้จริง
ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
หัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)