© 2017 Copyright - Haijai.com
การลงเท้า เรื่องสำคัญต้องรู้ก่อนวิ่ง
การวิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ เพียงแค่มีรองเท้าและใจที่จะวิ่งก็เพียงพอ ทำให้ปัจจุบันการวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการวิ่งเพื่อสุขภาพจะแตกต่างกับการวิ่งเพื่อแข่งขัน หรือที่พูดกันติดปากว่า จ๊อกกิ้ง (Jogging) ไม่ได้เน้นความเร็ว เป็นการวิ่งเหยาะๆ ในความเร็วกว่าการเดิน
แม้การวิ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวพื้นฐานของมนุษย์ แต่ใช่ว่าจะวิ่งโดยไม่ต้องสนใจพื้นฐานหรือเทคนิคอะไรเลย เพราะการวิ่งโดยไม่เข้าใจพื้นฐาน หรือท่าทางที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลร้ายกับร่างกายในอนาคต
วิ่งลงส้น และวิ่งลงปลายเท้า แตกต่างกันอย่างไร
การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับนักวิ่ง สาเหตุใหญ่ๆ คือ การลงเท้าที่ไม่ถูกต้อง หากจำสมัยเรียนวิชาพละศึกษาได้ จะมีข้อมูลที่ระบุว่าการวิ่งควรลงน้ำหนักที่ปลายเท้า ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่ผิด แต่ก็ไม่ได้ใช้วิธีการลงเท้าลักษณะนี้ได้กับทุกการวิ่ง การวางเท้าหรือการลงเท้าขณะวิ่ง เป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงมาเป็นระยะเวลานาน
เทคนิคการวิ่งที่นักวิ่งมือสมัครเล่นได้รับความรู้กันต่อๆ มา คือ “วิ่งช้าให้วิ่งลงส้น วิ่งเร็วให้ลงปลายเท้า” ส่วนการวิ่งลงน้ำหนักกลางเท้านั้น นักวิ่งมืออาชีพจะจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกับการวิ่งด้วยปลายเท้า ซึ่งการวิ่งทั้ง 2 ลักษณะนั้น จะมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1.วิ่งแบบลงส้นเท้า (Heel Strike)
ตำแหน่งการวางเท้าจะเป็นบริเวณใกล้กับส้นเท้า ซึ่งจะสัมผัสกับพื้นก่อนส่วนอื่น ส้นเท้าจะเป็นจุดถ่ายแรงลงพื้น จากนั้นฝ่าเท้าและปลายเท้าจะลงสัมผัสพื้นทั้งหมด และส่งตัวเคลื่อนไปข้างหน้า โดยส้นเท้าจะยกขึ้นตามด้วยหัวเข่า โดยการวิ่งลงส้นเท้า จะเกิดแรงกระแทก 2 ส่วน คือ เมื่อส้นเท้ากระแทกพื้น และเมื่อฝ่าเท้าสัมผัสทั้งหมด
2.วิ่งแบบลงปลายเท้า (Forefeet Strike)
เป็นการลงเท้าที่นิยมในกลุ่มนักวิ่ง ที่ใช้ความเร็ว ปลายเท้าจะเป็นจุดถ่ายแรงสู่พื้น ตามมาด้วยส้นเท้า ก่อนจะออกแรงส่งตัวไปข้างหน้าด้วยปลายเท้าอีกครั้ง แรงกระแทกจะเกิดขึ้นเพียงส่วนเดียว เมื่อฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นทั้งหมด โดยการวิ่งด้วยปลายเท้า จะใช้แรงน้อยกว่าวิ่งแบบลงส้นเท้า
การวิ่งทั้ง 2 แบบ จะให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติเหมือนกัน โดยเฉพาะการวิ่งด้วยปลายเท้า สังเกตว่า หากเราวิ่งในระยะสั้นๆ ด้วยความเร็ว การวิ่งด้วยปลายเท้า และโน้มตัวไปข้างหน้าจะวิ่งได้เร็วกว่า เป็นการวิ่งโดยธรรมชาติด้วยสัญชาตญาณของร่างกาย
การลงเท้าแบบไหน เบิร์นได้มากกว่า
จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักวิ่ง ที่มีลักษณะการวิ่งทั้ง 2 แบบ คือ วิ่งลงส้น และวิ่งปลายเท้าเป็นท่าวิ่งประจำ โดยเริ่มให้ทั้งหมดวิ่งในท่าที่ตัวเองถนัด พบว่า นักวิ่งทั้ง 2 กลุ่มใช้พลังงานไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เมื่อนักวิจัยให้นักวิ่งทั้ง 2 กลุ่ม เปลี่ยนท่าวิ่ง พบว่า กลุ่มที่เคยวิ่งส้นเท้าจะใช้พลังงานในการวิ่งมากกว่า เมื่อเปลี่ยนมาวิ่งด้วยปลายเท้า ขณะที่กลุ่มที่ถนัดวิ่งปลายเท้า เมื่อสลับมาวิ่งด้วยการลงส้นเท้า กลับใช้พลังงานน้อยกว่าเดิม
ข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การลงเท้ามีผลต่อความทนทานในการวิ่ง การวิ่งแบบลงส้นเท้าจะเพิ่มความสามารถในการวิ่งระยะไกลได้มากกว่า เหมาะสำหรับการวิ่งมาราธอน หรือการจ๊อกกิ้งในระยะทางไกล
การลงเท้า กับความปลอดภัย
แม้การวิ่งด้วยส้นเท้าจะช่วยให้วิ่งได้ระยะไกลมากกว่า แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะได้รับการบาดเจ็บจากการวิ่ง เนื่องจากการวิ่งแบบลงส้นเท้าจะเกิดแรงกระแทกกับพื้นมากกว่า โดย หัวเข่า และข้อเท้า เป็น 2 จุดแรกที่ได้รับการกระเทือน โดยตำแหน่งหัวเข่าจะเป็นส่วนที่บาดเจ็บง่ายสุด เพราะการวิ่งลงส้นเท้า จะทำให้ขาก้าวยาวเกินไป ทำให้เกิดแรงกระแทกกลับมา
ขณะที่การวิ่งด้วยปลายเท้า โอกาสบาดเจ็บจะน้อยกว่า เนื่องจากแรงกระแทกจะเกิดขึ้นกับร่างกายน้อยกว่า อวัยวะที่รับแรงกระแทก ได้แก่ น่องและเอ็นร้อยหวาย เพราะกล้ามเนื้อทั้ง 2 ส่วน จะได้รับการเคลื่อนไหวในลักษณะกระโดดขึ้นลง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ เนื่องจากกล้ามเนื้อหน้าแข็งอักเสบได้ด้วย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)