© 2017 Copyright - Haijai.com
Baby poo watcher อึอึ๊ของหนูต้องดูดีดี
คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อย ใช้เวลาแต่ละวันหมดไปกับการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการขับถ่ายของเจ้าตัวเล็ก ไหนจะจดความถี่ว่าวันนี้กี่ครั้งแล้ว แต่ละครั้งห่างกันเท่าไร ปริมาณแค่ไหน กระทั่งหน้าตา กลิ่น สีเป็นอย่างไร เมื่อพบว่าลูกอึอึ๊บ่อยเกินไปก็กังวล ครั้นลูกถ่ายวันละครั้งก็ยังไม่วายสงสัยว่าน้อยไปหรือเปล่า เรียกได้ว่าสำหรับพ่อแม่มือใหม่ เรื่องการขับถ่ายของลูกเปรียบเสมือนเป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่วายทำให้คาใจได้ทุกวัน
หากจะว่ากันตามจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถระบุได้แน่นอนค่ะว่าทารกคนหนึ่งนั้นจะถ่ายวันละกี่ครั้ง ในปริมาณเท่าไร และกลิ่นสีเป็นอย่างไร เพราะทั้งนี้การขับถ่ายของทารกก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นการให้นม และธรรมชาติของหนูน้อยแต่ละคนเอง
จับตาดูอึอึ๊ของหนูเมื่อแรกเกิด
ใน 2-3 วันหลังคลอดทารกจะขับถ่ายอุจจาระลักษณะเหนียวๆ มีสีเขียวเข้มเกือบดำ เรียกว่า meconium ซึ่งเป็นสารที่ถูกสร้างขึ้นในลำไส้ของทารก ขณะที่เขายังอยู่ในครรภ์ คุณอาจพบว่าอึอึ๊ของลูกใน 2-3 วันแรกนี้ทำความสะอาดยากสักหน่อยเนื่องจากความเหนียวข้น แต่นี่คือสัญญาณดีที่ทำให้คุณรู้ว่าระบบย่อยอาหารของลูกทำงานเป็นปกติ
หลังจากผ่านช่วง 2-3 วันแรกไปแล้ว อึอึ๊ของหนูน้อยจะเปลี่ยนไปตามอาหารที่ทารกได้รับ โดยทั่วไปเจ้าตัวเล็กมักจะถ่ายเป็นก้อนหลวมๆ สีน้ำตาล-เขียว และจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองในที่สุด อย่างไรก็ตามหนูน้อยที่กินนมแม่ กับหนูน้อยที่กินนมผงนั้น อาจมีลักษณะการขับถ่าย และสีของอึอึ๊ที่ต่างกันไป
แบบนี้สิ อึของเด็กที่กินนมแม่ |
ถ้ากินนมผสม อึแบบนี้ไม่แปลก |
• สีเหลืองสด คล้ายสีมัสตาร์ด • เป็นก้อนหลวมๆ หรือเป็นเม็ดร่วนๆ • ไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็นเท่าใดนัก • ความถี่ในการขับถ่ายค่อนข้างบ่อย อาจจะทุกครั้งหลังให้นม แต่จะค่อยๆ ปรับเวลาการถ่ายเป็นเวลามากขึ้น อย่างไรก็ตาม เวลาการขับถ่ายก็จะเปลี่ยนไป หากเริ่มให้อาหารเสริม |
• อุจจาระเป็นสีเหลืองออกซีดๆ หรือสีเหลืองเข้มเกือบน้ำตาล • เป็นก้อนแน่นมากกว่า อึอึ๊ของหนูน้อยที่กินนมแม่ • กลิ่นแรง บางครั้งคล้ายกลิ่นของผู้ใหญ่ • ความถี่ในการขับถ่ายอยู่ที่ประมาณวันละครั้ง หรือสองครั้ง ในเด็กบางคนอาจจะวันเว้นวันก็ได้เช่นกัน |
เมื่อเปลี่ยนอาหาร อึอึ๊ก็เปลี๊ยนไป๊
หากคุณจะเปลี่ยนจากการให้นมแม่มาเป็นการให้นมผง หรือเปลี่ยนจากนมผงยี่ห้อหนึ่งไปสู่ยี่ห้อหนึ่ง คุณควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือให้ช่วงเปลี่ยนผ่านอยู่ระหว่าง 2 สัปดาห์ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารของเจ้าตัวเล็กได้ปรับตัวและป้องกันอาการท้องผูก เมื่อรู้สึกว่าลูกปรับตัวกับการกินนมผงแล้ว เวลาการขับถ่ายของลูกก็จะเปลี่ยนไปด้วย
นอกจากนี้การเริ่มให้ลูกกินอาหารเสริม ก็ส่งผลต่อการขับถ่ายด้วยค่ะ เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะอึอึ๊ที่ทำความสะอาดง่ายๆ กลิ่นไม่ค่อยแรง ก็จะเปลี่ยนไปตามอาหารที่คุณให้ลูก เช่น หากคุณเริ่มให้หนูน้อยวัย 4 เดือน กินกล้วยสุกขูด หรือแครอทบดสีของอึอึ๊ก็จะเปลี่ยนไปตามสีของอาหารที่คุณให้ลูก ยิ่งลูกเริ่มกินอาหารได้หลากหลายเท่าไร อึอึ๊ของหนูน้อยก็จะเหนียวแข็งขึ้น สีเข้มขึ้น และกลิ่นเหม็นขึ้นด้วย เตรียมปิดจมูกไว้ได้เลยค่ะ
อึอึ๊แบบไหน ไม่ปกติ
การขับถ่ายของหนูน้อยขวบปีแรกมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้พ่อแม่มือใหม่กังวลใจได้ไม่ว่างเว้น ยิ่งในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ คุณจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่า อึอึ๊ของลูกนั้นเปลี่ยนไปเพราะอาหารที่เขากิน หรือเพราะว่าลูกท้องเสียกันแน่
• ท้องร่วง หากเจ้าตัวเล็กท้องร่วงจะต้องมีการขับถ่ายเหลวติดๆ กันหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม หนูน้อยที่กินนมแม่มักจะไม่ค่อยมีอาการท้องเสียเท่าใดนัก เพราะนมแม่มีสารช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ อาการท้องร่วงในเด็กควรทุเลาลงภายใน 24 ชั่วโมง หากเลยเวลานี้ไปแล้วยังไม่หาย คุณควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
• ท้องผูก อาการท้องผูกในเด็กเล็กนั้น ไม่ใช่แค่หน้าแดงและเบ่งแรงเวลาขับถ่ายเท่านั้น แต่รวมไปถึงการขับถ่ายลำบาก อึอึ๊เป็นก้อนแห้งๆ และแข็ง ปวดท้อง และงอแง เช่นเดียวกับอาการท้องร่วง เด็กๆ ที่กินนมแม่นั้น มักจะมีอาการท้องผูกน้อยกว่า คุณควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษากรณีที่ลูกท้องผูกบ่อยๆ อย่างไรก็ตาม หนูน้อยบางคนอาจขับถ่ายเพียงวันเว้นวัน หากคุณสังเกตดูว่าลูกไม่งอแง กินนม ยิ้มเล่นได้ปกติ อาการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล การที่จะทราบว่าลูกท้องผูกหรือไม่นั้น คุณจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมอื่นๆ ของลูกร่วมด้วยค่ะ แต่ถ้ากังวลมาก การปรึกษาแพทย์ก็น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้ระดับหนึ่ง
• อึอึ๊สีเขียว หากพบว่าเจ้าตัวเล็กขับถ่ายอึอึ๊ออกมาเป็นสีเขียว นั่นเป็นเพราะว่าลูกได้รับแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลธรรมชาติพบได้ในนมมากเกินไป เกิดขึ้นได้ในเด็กที่กินนมบ่อยๆ แต่ดูดนมแม่ไม่เกลี้ยงเต้าทำให้ไม่ได้รับสารอาหารอื่นๆ นอกไปจากน้ำตาลแลคโตส นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้กับการให้นมมากหรือน้อยเกินไปด้วย วิธีแก้คือให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า ก่อนเปลี่ยนให้ลูกดูดนมอีกข้าง หากอาการยังไม่หายภายใน 24 ชั่วโมงควรปรึกษาแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)