© 2017 Copyright - Haijai.com
พัฒนาการกินของเด็กวัย 15 เดือน
Q : ลูกดิฉันอายุ 1 ขวบ 3 เดือน ไม่ค่อยทานข้าว เวลาทานก็ทานนิดเดียว แต่ลูกก็ยังทานนมได้ดีอยู่ แบบนี้ควรทำอย่างไรดีค่ะ
A : พัฒนาการของเด็กวัย 15 เดือน เป็นวัยที่มีจิตใจเป็นของตัวเอง แสดงความชอบ ไม่ชอบ และอยากเป็นตัวของตัวเอง ในเรื่องการกินอาหารก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากให้ลูกกินข้าวได้มากต้องหัดให้กินนมจากถ้วย เพื่อจะได้กินอาหารที่แม่จัดให้ได้มากขึ้น ให้ลูกกินนมมื้อ ละ 6-8 ออนซ์ แบ่งเป็น 4 มื้อ ใน 24 ชั่วโมง เด็กจะกินข้าวได้ต้องอาศัยอาศัยกลไกทางสรีรวิทยาดังนี้
• มีกระเพาะอาหารว่าง เมื่อกระเพาะว่างจะทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะผลิตฮอร์โมนชื่อ กรีลิน (Ghrelin) ฮอร์โมนนี้จะไหลเวียนไปยังสมองและกระตุ้นให้มีความรู้สึกอยากกินอาหาร เมื่อได้รับอาหารเข้ากระเพาะ เข้าไปสัมผัสผิวเยื่อบุกระเพาะ ฮอร์โมนจะค่อยๆ ลดลง คนที่กินอาหารเร็วๆ อาหารจะผ่านจากกระเพาะลงไปสู่ลำไส้อย่างรวดเร็วก่อนที่จะมีการสัมผัสผิวกระเพาะอย่างถั่วถึง ระดับฮอร์โมนลดลงช้า จึงมีความรู้สึกว่าไม่อิ่ม และทำให้กินอาหารเพิ่มต่อไป คนที่กินอาหารช้าๆ อาหารเข้าไปสัมผัสกระเพาะได้ทั่วถึงระดับฮอร์โมนจะลดลงขณะกินอาหารไม่มากในเวลาเท่ากัน ความรู้สึกอยากอาหารก็หมดไป กินอาหารน้อย คนที่กินอาหารเร็วจึงกินได้มาก จึงมักจะมีน้ำหนักเกินกว่าคนที่ละเลียดกินหรือกินแบบไก่เขี่ย
• ในเด็ก ไม่ควรให้กินนมตอนเช้าหลังมื้อนม ตอนตี 2 ถ้าร้องกินให้กินแต่น้ำ เพื่อเขาจะกินอาหารเช้าได้ หลังจากได้อดช่วงเช้ามืด ฝรั่งเรียกว่า “Breakfast” ไม่ควร Break ด้วยนมถ้าอยากให้ลูกกินอาหารเช้าได้
• ได้ออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ มีการหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน ทำให้รู้สึกสบาย ลูกไม่ยอมกินพาลูกออกไปวิ่งเล่นด้วยกัน เมื่อเหงื่อแห้งลูกจะมีอารมณ์ดี หิว กินอาหารได้
• สภาพอาการ อากาศร้อนมักทำให้ไม่อยากอาหาร ในช่วงอากาศเย็นมักกินอาหารได้มาก
• ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลเข้าเซซล์น้อยลงถึงระดับที่กระตุ้นศูนย์หิวที่สมองทำให้อยากอาหาร ผู้ที่เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลสูงในเลือดแต่มักหิว และกินมากเพราะขาดฮอร์โมนอินซูลิน น้ำตาลเข้าเซลล์ไม่ได้ จึงกระตุ้นให้หิวตลอดเวลา
• ยาบางชนิดกระตุ้นให้อยากอาหาร เช่น ฮอร์โมนคอร์ติโกเสตรอยด์ ที่ใช้รักษาโรค มักมีผลข้างเคียง คืออยากอาหาร กินมากจนอ้วน ยาประเภทนี้ชาวบ้านเรียกว่า ยาอ้วน ซึ่งเป้นยาอันตราย ยาพวกวิตามินและธาตุเหล็กชนิดน้ำเชื่อมเสริมให้วันละ 1 ช้อนชาอาจช่วยให้กินอาหารได้ในกรณีที่มีการขาดอยู่บ้าง เพราะกินไม่พอเมื่อกินอาหารครบ 5 หมู่ได้พอระยะหนึ่งก็เลิกให้ได้
• ไม่มีโรคติดเชื้อในร่างกาย การเจ็บป่วยซึ่งทำให้เบื่ออาหาร ถ้ามีต้องพบแพทย์รักษาให้หาย
ปัจจัยด้านจิตใจ
• เด็กต้องการแสดงความเป็นตัวเอง หนูกินเองได้ ดังนั้นต้องยอมให้เด็กใช้นิ้ว หรือช้อนตักอาหารกินเอง ทำอาหารนิ่มๆ ใส่จานวางให้เด็กกินเอง อาจจะเลอะเทอะ กินไม่ได้มากก็ต้องยอม ให้เวลา 30 นาที แล้วช่วยป้อนเล็กน้อย กินได้เท่าไหร่ หรือเด็กไม่กินก็ให้เก็บ แล้วให้กินนม 1 แก้วหลังอาหาร พยายามไม่ให้อาหารอื่นนอกจากน้ำจนกว่าจะถึงมื้ออาหารต่อไป
• เตรียมอาหารให้มีสีสันน่ากิน เด็กสามารถจัดสีรูปอาหารตามจินตนาการได้เช่น ข้าวในจานที่มีเนื้อสัตว์ต้มเปื่อยชิ้นเล็กพอเคี้ยวได้ไม่ติดคอ เนื้อปลาเป็นเนื้อสัตว์ที่ดี นิ่มเคี้ยวง่าย ไข่ต้มสุก มีชิ้นแครอทแผ่นกลม มีถั่วต้มเปื่อยสีเขียว ไข่แดง ไข่ขาวที่เขาสามารถจัดเป็นล้อรถ หรือดวงจันทร์ยิ้มได้
• ชักชวนให้เด็กกิน เมื่อกินได้ชมเชยพอสมควรเพื่อไม่ให้เด็กได้รับการกระตุ้นมากเกินไป ไม่ควรติดสินบนให้ลูกกิน และไม่ลงโทษถ้าทำเปื้อนหรือไม่กิน
• ไม่แสดงความโกรธหรือความกังวลเมื่อลูกปฏิเสธอาหาร เพราะเขาจะยิ่งไม่กินเพื่อให้แม่สนใจ
• สมาชิกในครอบครัวต้องร่วมมือทำด้วยกัน ไม่ขัดแย้งเมื่อเริ่มกระบวนการฝึก อาหารพวกขบเคี้ยว น้ำหวานต้องไม่มีในบ้าน ทำให้เด็กร้องกิน
หวังว่าคุณแม่สามารถวิเคราะห์ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ลูกกินได้น้อย เลือกแก้ไขสาเหตุต่างๆ ด้วยความมั่นคง และสม่ำเสมอ น่าจะช่วยให้ลูกกินอาหารเพียงพอ เติบโตและมีสติปัญญาดี
ดร.วันดี วราวิทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)