© 2017 Copyright - Haijai.com
เชื้อไวรัสเอชพีวีสาเหตุโรคมะเร็งปากมดลูก
รู้จักเทสต์ เอชพีวี ดีเอ็นเอ ลดอุบัติการณ์จากมะเร็งปากมดลูกในระยะยาว
เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ภัยใกล้ตัวของผู้หญิง สาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก ยังคงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย โดยพบผู้ป่วยใหม่ปีละ 8,184 ราย เพราะเชื้อไวรัสเอชพีวีสามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึง 10 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น โดยไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อไวรัสเอชพีวีอยู่ในร่างกาย ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้หญิง 4 ใน 5 คน ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะเชื้อไวรัสเอชพีวีติดต่อได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ผู้หญิงยังคงเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีได้ ถึงแม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียว หรือใช้ถุงยางอนามัย เพราะถุงยางอนามัยสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะไม่ได้ครอบคลุมอวัยวะเพศชายทั้งหมด นอกจากนั้นผู้หญิงยังอาจติดเชื้อเอชพีวีได้แม้ว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์มาหลายปีแล้ว หรือเคยฉีดวัคซีนแล้ว แต่เคยรับเชื้อมาก่อนหน้านั้น
สำหรับ “เชื้อไวรัสเอชพีวี” หรือ Human Papilloma Virus (HPV) เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก ถึงร้อยละ 99 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด ซึ่งโดยปกติร่างกายคนเราจะสามารถขจัดเชื้อออกไปเองได้ แต่หากร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชพีวีออกไปได้ ก็มีโอกาสจะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากร่างกายเริ่มแสดงอาการผิดปกติออกมา นั่นหมายถึงว่า มะเร็งเริ่มเข้าระยะลุกลามแล้ว ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้นเช่นกัน โดยเชื้อไวรัสเอชพีวีมีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ ซึ่งส่วนมากเป็นสายพันธุ์ที่มี “ความเสี่ยงต่ำ” เพราะไม่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่มีอยู่ 14 สายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ที่มี “ความเสี่ยงสูง” เพราะเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก โดยในเชื้อเอชพีวีจำนวน 14 สายพันธุ์นั้น “สายพันธุ์ 16” และ “สายพันธุ์ 18” เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70
ผู้หญิงที่ติดเชื้อ ไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 เสี่ยงมะเร็งมากกว่าถึง 35 เท่า
จากการวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ 16 และ 18 มีความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีเชื้อดังกล่าวถึง 35 เท่า และยังพบอีกว่า 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง จะพบรอยโรคก่อนมะเร็งแม้ว่าผลตรวจแพปสเมียร์จะออกมาเป็นปกติก็ตาม เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยแพปสเมียร์ เป็นการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในปากมดลูก ซึ่งมีค่าความไวในการตรวจพบต่ำ ทำให้อาจตรวจไม่พบระยะรอยโรคก่อนมะเร้ง โดยจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก มีผลตรวจแพปสเมียร์ปกติ จึงเห็นได้ว่าการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพปสเมียร์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี มักไม่แสดงอาการออกมา
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเทสต์ตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA Test) เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และยังสามารถระบุการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน และที่สำคัญเทสต์ตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็ง ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่เซลล์ปาก มดลูกและนั่นหมายถึงก่อนที่มะเร็งจะเกิดขึ้น 1 เพราะเทสต์ตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ มีความไวในการตรวจจับรอยโรค ก่อนมะเร็งได้ดีและสูงกว่าวิธีดั้งเดิม เช่น แพปสเมียร์ (Pap smear) และ วีไอเอ (VIA)
การรณรงค์ให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย วิธีการตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA Test) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเทสต์ตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ มีความไวในการตรวจพบ ทำให้แพทย์สามารถมั่นใจผลที่ได้ จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจพบเชื้อได้ในระยะเริ่มแรก และนำไปสู่การป้องกันมะเร็งปากมดลูกในระยะยาวได้ ซึ่งจากสถิติพบว่า หากตรวจพบเร็ว การรักษาในระยะก่อนมะเร็งลุกลามมีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 98 จึงช่วยลดอุบัติการณ์และอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ในขณะที่หากผลตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (ผลเป็นลบ) ผู้หญิงก็สามารถเว้นระยะการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปได้ถึง 3 ปี
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช
สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)