
© 2017 Copyright - Haijai.com
Beat Up Allergy เอาชนะภูมิแพ้ แค่เรื่องง่ายๆ
• จามติดๆ กันหลายทีจนจมูกแดง โดยเฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า
• ขยี้จมูก ขยี้ตา หลังจากการจาม
• มีผื่นแดงขึ้นตามตัวหลังจากกินอาหารประเภทไข่ หรืออาหารทะเล ฯลฯ
เจ้าตัวเล็กของคุณมีอาการเหล่านี้หรือเปล่าค่ะ ถ้าใช่ แสดงว่าลูกของคุณกำลังเผชิญกับโรคภูมิแพ้เข้าให้แล้วล่ะคะ
“โรคภูมิแพ้” อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตสำหรับเด็กยุคใหม่ เพราะจากสถิติทุกวันนี้พบว่าคนไทยกว่า 10 ล้านคน ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ ซึ่ง 2-8 % ของจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และจากสถิติทั่วโลกพบว่าเด็กแรกเกิดอายุเพียง 4 ชั่วโมงก็สามารถเป็นโรคภูมิแพ้ได้ แม้ว่าอาการของโรคภูมิแพ้ดูจะไม่ร้ายแรงนัก แต่หลายๆ คนที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่คงทราบดีว่า เมื่ออาการของโรคกำเริบขึ้นมาเมื่อใด ไม่เพียงแต่มันจะทำให้เรารำคาญใจ แต่ยังนำมาซึ่งการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตทุกๆ ด้านอีกด้วย ล่าสุดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน World Allergy Congress 2007 -WAC 2007) ครั้งที่ 20 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ได้มีการพูดถึง อุบัติการณ์โรคภูมิแพ้ในเด็กไว้อย่างน่าสนใจในหลายหัวข้อค่ะ
ภูมิแพ้อาหาร ชนะง่ายๆ แค่ให้นมแม่
พญ.พรรทิพา ฉัตรชาตรี หน่วยโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ภูมิแพ้ในเด็กที่พบได้บ่อยคือโรคภูมิแพ้อาหาร ซึ่งหากดูตามอาการแล้วผู้ปกครองสามารถดูแลผู้ป่วยเด็กได้ง่ายๆ คือหลีกเลี่ยงจากอาหารที่แพ้ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าไม่รุนแรง เพราะโรคภูมิแพ้อาหารสามารถหายได้ เพราะธรรมชาติของโรคนี้ ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้และจะหายในช่วงอายุ 3-4 ขวบ จะมีจำนวนผู้ป่วยเพียง 10-20% เท่านั้นที่แพ้ไปจนโต แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นและหายจากอาการแพ้อาหารแล้ว จะเสี่ยงในการเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น
“โรคภูมิแพ้อาหารเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากในเด็กและเป็นโรคใหม่ที่พ่อแม่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งยังมองหาความรู้ในโรคนี้น้อย และมักจะหลุดพ้นจากการสังเกตของพ่อแม่ เพราะอาการของโรคสามารถแสดงออกได้หลายอย่าง อาทิ เกิดผดผื่นคัน อาการผิดปกติกับระบบทางเดินหายใจ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือดบางรายอาจมีอาการถึงขั้นช็อคและเสียชีวิตได้ แต่อาการหลังนี้ยังพบน้อยมาก ส่วนใหญ่เด็กในบ้านเรามักจะแพ้ นมวัว ไข่ และอาหารทะเล ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างกับประเทศในแถบตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกาและอังกฤษ ที่พบการแพ้ถั่วลิสง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
ในส่วนของการป้องกันนั้น พญ.พรรทิพา แนะนำว่า โรคภูมิแพ้อาหารสามารถเกิดได้ในเด็กทั่วไป แต่เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือ กลุ่มเด็กที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีโอกาสเป็นได้ง่ายกว่า วิธีที่ดีที่สุดในการลดภาวะการแพ้ขณะนี้คือการให้เด็กดื่มนมแม่เป็นเวลานานที่สุด โดยทั่วไปอยู่ในช่วง 6 – 12 เดือนแรกของเด็กก็สามารถช่วยป้องกันได้
“นอกจากนี้พ่อแม่ควรให้อาหารที่เด็กอาจจะแพ้ง่ายช้าลง เช่น ให้เด็กทานไข่หลังอายุ 10 เดือนขึ้นไป หรือให้ทานอาหารทะเลในช่วงหลังวัย 2 ขวบ เป็นต้น สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นภูมิแพ้อาหาร เมื่อทราบว่าลูกแพ้อาหารประเภทใด ก็ให้หลีกเลี่ยงอาหารนั้นๆ กับเด็กแล้วให้อาหารอื่นที่มีสารอาหารใกล้เคียงกันทดแทน เช่นในเด็กที่แพ้นมวัว สามารถให้เด็กดื่มนมถั่วเหลืองหรือนมสูตรโปรตีนพิเศษที่มีอยู่ทั่วไป” พญ.พรรทิพา กล่าว
ภูมิแพ้ทางจมูก ต้องแก้ที่สิ่งแวดล้อม
นอกไปจากโรคภูมิแพ้อาหารที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กแล้ว อาการภูมิแพ้ทางจมูกหรือโรคหวัดเรื้อรังก็พบได้บ่อยเช่นกัน โดยในเด็กไทยทุกๆ 10 คน จะมีถึง 4 คนที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งมากกว่า 5 ปีก่อนถึง 1 เท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเจ้าตัวเล็กของคุณได้ค่ะ หากว่ามีอาการต่อไปนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าตัวเล็กป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ทางจมูกเข้าแล้ว
• อาการจามน้ำมูกไหล ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคันจมูก คันหัวตา จามเป็นชุดๆ และน้ำมูกใสๆ ไหลร่วมด้วย
• คัดแน่นจมูก หายใจไม่ออก
• อาการผสม ทั้งจามน้ำมูกไหล และคัดแน่นจมูก
• อาการอื่นๆ ที่เจ้าตัวมักนึกไม่ถึงว่าจะเกี่ยวข้องกับจมูกซึ่งมักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภูมิแพ้ทางจมูกอาการเหล่านี้ ได้แก่ ปวดศีรษะเรื้อรัง หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะ ไอเรื้อรังหลังมีไข้หวัด นอนกรน ปวดหู หูอื้อ
เมื่อพบว่าลูกมีปัญหาภูมิแพ้ทางจมูก นอกจากคุณจะพาลูกไปพบแพทย์แล้ว การจัดสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวลูกก็สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ควันบุหรี่ ควันพิษต่างๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เปิดพัดลมจ่อที่ตัว หากอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศก็ควรตั้งอุณหภูมิอยู่ที่ 25-26 องศาฯ ซึ่งหากคุณและลูกปฏิบัติตัวถูกต้องตั้งแต่ต้น ก็หมดห่วงเรื่องอาการภูมิแพ้ค่ะ
Do you know “น้ำนมแม่ที่ค้างอยู่ในปากลูกนั้นมีสารกันเชื้อราอยู่ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องให้กินน้ำหลังกินนมแม่ ไม่เช่นนั้นน้ำจะไปชะล้างสารกันเชื้อราออกไปหมด แถมยังต้องห่วงเชื้อโรคในน้ำอีกด้วย” พ.ญ.ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)