Haijai.com


แม่หลังคลอดผิวพรรณไม่กระชับ


 
เปิดอ่าน 11528

หลากปัญหา หลายวิธีแก้ของคุณแม่หลังคลอด

 

 

หลังจากคุณผู้หญิงทั้งหลายที่ได้กลายเป็นคุณแม่ สำหรับคุณแม่มือใหม่นั้นคงเป็นความรู้สึกรัก หลงและภูมิใจในนาทีเดียวกันเลยก็ว่าได้ แต่ผลที่คุณแม่ทุกคนต้องเจอหลังการมีน้องไปแล้ว ก็คือรูปร่างที่จะต้องเปลี่ยนไป ที่ได้สร้างปัญหาหนักอกหนักใจ เรื่องความสวยงามให้กับคุณแม่ทั้งหลาย จากที่เคยหุ่นเป๊ะ หน้าใส ผิวพรรณสวยงาม กลับเปลี่ยนไปชนิดที่เรียกได้ว่าหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

 

 

เพราะในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งรูปร่างที่เปลี่ยนไป หน้าท้องที่ยืดขยาย เต้านมที่ขยายโตขึ้น และเมื่อคลอดบุตรแล้ว ร่างกายและผิวพรรณกลับไม่กระชับ หรือคืนสู่แบบเดิมไม่ว่าจะเป็น สิว ฝ้า กระ หรือรอยดำตามร่างกาย เช่น รักแร้ ต้นคอ ต่างผุดและเพิ่มความไม่มั่นใจให้กับคุณแม่ อีกทั้งผิวยังแตกลาย หุ่นก็ไม่สวย เต้านมยังหย่อนคล้อย และหากคลอดด้วยการผ่าตัดก็ยังเกิดรอยแผลเป็นซ้ำเติมขึ้นมาอีก ซึ่งสารพัดปัญหาหลังคลอดนี้ คงทำให้คุณแม่หลายคนไม่มั่นใจในการออกนอกบ้านเป็นแน่ ด้วยกลัวจะมีคนทัก เรื่องรูปลักษณะที่ไม่สวยงามเหมือนเก่า ไม่เพียงแต่คนนอกบ้านเท่านั้น แม้แต่คนในบ้าน เช่น สามีสุดที่รัก ยังอาจเผลอแซวในผิวพรรณหรือสรีระที่เปลี่ยนไปของคุณได้อีกด้วย เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว คุณจะรอช้าอยู่ใย มาเริ่มพลิกโฉม สร้างรูปลักษณ์ให้สวยเท่าหรือมากกว่าก่อนมีลูก ด้วยวิธีการรักษาที่หลายหนทาง หลากทางเลือกกัน

 

 

ปัญหาผิวรบกวนใจแม่

 

เนื่องจากฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น รวมทั้งฮอร์โมนใหม่ที่สร้างจากรก โดยระดับของฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นนี้ จะส่งผลให้ผิวของคุณแม่เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ มีฝ้า กระ ติ่งเนื้อ รอยดำคล้ำ หรือสีผิวมีเข้มขึ้น พบหลายส่วนในร่างกาย เช่น เส้นกลางหน้าท้องบริเวณรอบๆ ท้อง ต้นขาด้านใน ลานหัวนม รักแร้ อวัยวะเพศ รวมไปถึงใบหน้า หน้าที่มัน คล้ำ หมองด้วย

 

 

ฝ้าเกิดจากการเพิ่มจำนวนเม็ดสีที่ผิวหนัง เป็นผื่นสีน้ำตาลที่ใบหน้า หรือบริเวณที่ถูกแสงแดด ในบางคนอาจพบรอยดำบริเวณหัวนม รักแร้ ขาหนีบ หรืออวัยวะเพศร่วมด้วย ส่วนกระทั่วไปนั้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ จะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ กระจายทั่วใบหน้า และแขน แต่ถ้าเป็นกระเนื้อ จะเป็นตุ่มสีน้ำตาลหรือสีดำ เป็นก้อนเล็กๆ ผิวเรียบหรือขรุขระ บริเวณใบหน้า คอ หรือลำตัว ซึ่งบางส่วนจะหายไปเองหลังคลอดได้ และติ่งเนื้อสีน้ำตาล จะเกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง เนื่องจากในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่อาจเป็นคนขี้ร้อนและเหงื่อออกง่าย ทำให้เกิดเชื้อราบริเวณที่อับชื้นหรือซอกพับต่างๆ ได้ง่าย เช่น คอ ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ ซึ่งติ่งเนื้อจะไม่หายไปหลังคลอด

 

 

วิธีรักษาปัญหา ฝ้า กระ

 

การใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาทา เพื่อรักษาฝ้า กระและรอยคล้ำแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ แก่ กลุ่มที่เร่งการขจัดเซลล์หนังกำพร้า มีผลทำให้เม็ดสีเมลานินถูกกำจัดออกไปได้เร็วขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้หรือ AHA และกรดวิตามินเอ เป็นต้น และกลุ่มที่มีผลลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน เช่น ยาไฮโดรคิวโนน (Hydroquinone) กรดโคจิค (Kojic acid) หรือเจลวิตามินซี ซึ่งการใช้ยาทานั้นต้องใช้เวลาในการรักษานานพอสมควร กว่าจะเห็นผล แต่สำหรับคุณแม่ที่เร่งรีบก็สามารถรักษาด้วยการใช้เลเซอร์และทรีตเม้นท์

 

 การใช้เลเซอร์ วิธีนี้มีหลักการทำงานด้วยการให้พลังงานแสงส่งไปยังบริเวณที่มีรอยคล้ำ จากกระ หรือฝ้า ซึ่งบริเวณที่มีเม็ดสีเมลานินปริมาณมากกว่าปกติ จะดูดซับพลังงานแสงแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน มีผลทำให้เม็ดสีเมลานินในบริเวณนั้นถูกทำลาย และมีจำนวนลดลงหรือหายไป ซึ่งเห็นผลรวดเร็ว แต่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเลเซอร์ไม่สามารถป้องกันฝ้า กระที่จะเกิดใหม่ได้ และควรใช้ครีมกันแดดเป็นประจำหลังการทำเลเซอร์ แต่หากเป็นกระเนื้อ จะต้องค่อยๆ ใช้เลเซอร์ออกทีละส่วนไปในส่วนของติ่งเนื้อนั้น เลเซอร์จะเข้าไปตัดหรือลอกเนื้อเยื่อที่มีสีเข้มหรือส่วนที่ไม่ต้องการออกมา

 

 

 การใช้ทรีตเม้นท์บำรุง ในการรักษาฝ้า กระ โดยทรีตเม้นท์จะมีส่วนผสมของกรดไกลโคลิก (Glycolic acid) ที่จะผ่านลงไปในผิวหนังชั้นนอกสุด และไปขัดขวางการยึดเกาะของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกหลุดออก ทำให้เกิดเซลล์ผิวใหม่ขึ้นแทนที่ และทำให้เม็ดสีเมลานินหลุดออกได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ฝ้า กระจางลง มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเลเซอร์ มีผลข้างเคียงน้อย แต่ในบางรายอาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบได้ และเห็นผลช้ากว่าการทำเลเซอร์

 

 

ฟิตหุ่นสวย หลังคลอด

 

 ในระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะเก็บสะสมไขมันไว้ตามต้นแขน สะโพก และหน้าท้อง แต่เมื่อคลอดลูกแล้ว น้ำหนักจะหายไปทันที 5-6 กิโลกรัม ซึ่งมาจากน้ำหนักของทารก รก น้ำคร่ำ และการเสียเลือดขณะคลอดนั่นเอง แต่เมื่อผิวที่เคยขยายเมื่อตั้งครรภ์ เกิดการยุบลงอย่างรวดเร็ว มักพาปัญหามาด้วย นั้นก็คือผิวหนังที่หย่อนยาน ขาดความกระชับ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการดูแลตนเอง

 

 

 การให้นมบุตร ซึ่งช่วยให้หุ่นเฟิร์มอย่างรวดเร็ว เพราะไขมันที่สะสมระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายจะนำมาผลิตเป็นน้ำนมจำนวน 200-300 กิโลแคลอรีต่อวัน นานถึง 3 เดือน และร่างกายจะสร้างฮอร์โมน ออกซิโตซิน (Oxytocin) ช่วยปรับร่างกายสู่สภาพเดิมอย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย

 

 

 การรับประทานอาหาร คุณแม่ต้องฉลาดเลือกรับประทานอาหารอย่างพอดี และมีประโยชน์ เพราะร่างกายของคุณยังอยู่ในช่วงพักฟื้น จึงต้องการสารอาหารที่หลากหลาย โดยควรลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล และควรเลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น นมไขมันต่ำ และอาหารที่ให้พลังงาน โปรตีน กากใย เช่น นม ผักผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ปลา (เป็นอาหารที่มีโอเมก้าสูง ช่วยบำรุงสมองและเซลล์ประสาทของบุตร) โดยเฉพาะโยเกิร์ต ซึ่งสามารถช่วยย่อยสลายแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต ไม่ให้ถูกเปลี่ยนเป็นไขมันได้ จึงสามารถช่วยลดน้ำหนักและช่วยให้ระบบการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพดีขึ้น ที่สำคัญคือห้ามอดอาหารเด็ดขาด เพราะจะทำให้รับประทานอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลต่อน้ำนมที่บุตรจะได้รับด้วย

 

 

 ดื่มน้ำให้มาก ถ้าหากร่างกายของคุณแม่ขาดน้ำ ทำให้ดูซูบและโทรม เพราะน้ำจะช่วยให้ระบบเผาผลาญภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคท้องผูกได้ด้วย ส่วนวิธีเช็คว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่นั้น ให้สังเกตสีปัสสาวะ หากปัสสาวะมีสีเข้มหรือขุ่น แสดงว่าร่างกายังไดรับน้ำไม่มากพอ

 

 

 ออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ว่าจะเป็น การว่ายน้ำ ซิทอัพ ปั่นจักรยาน วิ่งจ๊อกกิ๊ง เพื่อให้ร่างกายเผาผลาญไขมัน การเล่นฟิตเนสบอล หรือการแขม่วหน้าท้อง ซึ่งช่วยให้เกิดการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณท้อง การเล่นโยคะ ซึ่งทำให้ร่างกายมีสมดุล ดูมีสุขภาพดี เพราะการเต้น 1 ชั่วโมง จะทำให้เผาผลาญแคลลอรี่ได้ถึง 400 แคลลอรี่ รวมถึงยังได้ส่วนเว้าโค้งของร่างกายที่สมบูรณ์แบบด้วย นอกจากการออกกำลังกายแล้ว การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นการเผาผลาญไขมันได้เช่นเดียวกัน

 

 

 การพักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อใดที่รู้สึกเหนื่อย ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนความเครียดขึ้นมา ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ดังนั้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง จากการศึกษาพบว่า คุณแม่ที่นอนเพียง 5 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้นในขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้มากกว่าคุณแม่ที่นอน 7 ชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งต้องไม่นอนดึก เพราะหากนอนดึก ร่างกายจะไม่หลั่งสารที่ช่วยเผาผลาญพลังงานออกมา

 

 

รักษาผิวแตกลายที่ไม่ปรารถนา

 

ผิวแตกลายเกิดจากผิวหนังถูกยืดหรือดึงให้ขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว โดยมักเริ่มบริเวณหน้าท้อง ลามมาที่สะโพก หรือต้นขา โดยจะเกิดเป็นรอยทางยาวสีชมพูหรือแดง บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย ต่อมาจะมีสีเข้มขึ้นเป็นม่วง หรือดำ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว รอยนี้จะกลายเป็นทางยาวซีดลงจนเป็นสีขาว และยังทำให้ผิวบาง บุ๋มลึกลงด้วย

 

 

ซึ่งที่จริงแล้วหากมไอยากเกิดท้องลายหลังคลอดนั้น คุณแม่ควรหมั่นดูแลทาครีม เพิ่มความชุ่มชื่นกับท้อง หรือหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อบรรเทาและป้องกัน แต่เมื่อคลอดและเกิดท้องลายขึ้นมาแล้ว เหล่าคุณแม่ก็อย่างเพิ่งหัวใจวายกันว่า ผิวคงไม่มีวันกลับคืนที่ เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ มีวิธีการรักษาหลากหลายทางเลือกให้เลือกใช้กัน ทั้งการอนุพันธ์ของวิตามินเอ เช่น Tretinoin ในกรณีที่เพิ่งเริ่มมีปัญหา การลอกผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peeling) การกรอผิวด้วยวิธี Microdermabrasion หรือ Crystal Peeling และ Fractional Laser ซึ่งเป็นวิธีใหม่และได้ผลดีที่สุดตอนนี้

 

 

วิธีรักษาอาการแตกลายด้วย Fractional Laser

 

เป็นวิธีการรักษาโดยใช้ Laser ความยาวคลื่น 1550 nm ยิงลงไปสู่ผิวชั้นลึก เพื่อทำลายพังผืดด้านล่าง กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวเก่า ทำให้ลักาณะรอยแตกดูเนียนเรียบขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ และได้ผลค่อนข้างน่าพอใจ แต่ถ้ารักษาด้วยเลเซอร์แนะนำว่าให้รอยแตก กลายเป็นสีซีดขาวก่อน หรือหลังคลอดบุตรแล้วประมาณ 3-6 เดือนขึ้นไป โดยก่อนทำเลเซอร์ จะมีการทายาชา เพื่อเวลาทำเลเซอร์จะได้รู้สึกสบาย ไม่เจ็บ แต่ไม่อาจเห็นผลชัดเจนในครั้งเดียว แต่มักจะเห็นผลเมื่อผ่านไปประมาณ 4-6 ครั้ง โดยห่างกันในแต่ละครั้งประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นว่าผิวบริเวณที่ทำก็จะเริ่มเนียนขึ้น รอยแตกจะดูจางลง เพราะจะมีเซลล์ผิวใหม่ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่เซลล์ผิวเก่าที่ผลัดออกไป แต่หากแผลลึกมากก็จะเห็นผลใน 10 ครั้งขึ้นไป หลังการรักษาผิวจะมีสีอมชมพูคล้ายตากแดดจัดประมาณ 2-3 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น แต่ในระหว่างที่เซลล์ผิวเก่ายังไม่ถูกผลัดให้ลอกหลุดออกไปนั้น ผิวจะมีสีเข้มขึ้น ซึ่งจะค่อยๆ หลุดไปภายใน 7-10 วัน ก็จะมีเซลล์ผิวใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ และต้องหมั่นทาครีมบำรุงผิว (Moisturizer) เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื่นแก่ผิว โดยควรใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอหลังทำการรักษา เพื่อปกป้องผิวจากการสัมผัสกับแสงแดดในช่วงการฟื้นฟูของผิวหนัง ผลข้างเคียงหลังการทำจะมีอาการแดงและจะมีการตกสะเก็ดเป็นจุดเล็กๆ ตามบริเวณผิวที่ทำ ซึ่งสะเก็ดจะหลุดไปเองใน 5-7 วัน แต่ในกรณีที่คุณแม่เคยมีประวัติโรคเริม (Herpes Simplex) จะต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันการกำเริบของอาการ

 

 

ทรวงอกหย่อนคล้อย ปัญหาสำคัญหลังคลอด

 

ปัญหาหน้าอกหย่อนคล้อย เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญสำหรับคุณแม่หลังตั้งครรภ์ ที่จะต้องพบกับหน้าอกหย่อนยาน เพราะคุณแม่ต้องคอยให้นมบุตร จากหน้าอกที่เคยกระชับ เต่งตึง กลับหย่อนคล้อยลง ซึ่งจะหย่อนมากน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนบุตรที่คลอด การดูแลระหว่างตั้งครรภ์ และสรีระทางพันธุกรรม โดยสามารถสังเกตได้จากหัวนม ปานนม ที่ขยายกว้างมากขึ้น สีผิวบริเวณรอบเข้มขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุดก็คือการศัลยกรรม แต่ต้องศัลยกรรมหลังการให้นมบุตรแล้ว

 

 

การศัลยกรรมหน้าอก

 

 ความหย่อนคล้อยของหน้าอก หากมีไม่มากก็จะรักษาด้วยการปรับรูปทรงให้มีความกระชับ แต่ถ้ามากก็อาจต้องเสริมหน้าอก ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับศัลยแพทย์เป็นผู้พิจารณาความหย่อนคล้อย ซึ่งการรักษานั้นคนไข้จะต้องตรวจร่างกาย สภาพเต้านมและทำความเข้าใจกับแพทย์ ถึงความต้องการไปจนถึงรายละเอียดในการผ่าตัด ตั้งแต่เริ่มจนจบ ซึ่งหลังผ่าตัดแล้วคนไข้ควรปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

 

 

ถ้าหากต้องการใส่ชุดกระชับทรวงอก ควรเลือกที่พอดีกับขนาดหน้าอกตัวเอง และร่างกายจะสร้างพังผืดมาล้อมตัวถุงนมเทียมไว้ ทำให้แข็งและไม่เป็นธรรมชาติ จึงควรนวดหน้าอกหลังผ่าตัดเสริมหน้าอก เพื่อลดอาการตึงและช่วยให้หน้าอกนิ่ม ดูเข้ารูปเป็นธรรมชาติ

 

 ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการผ่าตัด คือ อาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น เลือดออก เลือดคั่ง ติดเชื้อ รวมทั้งในช่วงแรกหลังการผ่าตัด อาจจะเกิดการรัดตัวของพังผืดที่อยู่รอบซิลิโคน ทำให้เกิดความรู้สึกแข็งผิดปกติของเต้านมข้างนั้น หรือรู้สึกเสียวและชาตรงบริเวณหัวนมหรือบริเวณใกล้รอยผ่าตัด

 

 

รอยเตือนบนท้องคุณแม่

 

หากคุณแม่คลอดบุตรด้วยการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้ง หรือแนวนอน ก็อาจจะต้องพบเจอกับรอยผ่าตัดหลังคลอด ที่เรียกว่า คลอยด์ (Keloid) ซึ่งมีลักษณะแผลเป็นที่นุน สีแดง รวมทั้งอาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากการเย็บแผลที่ไม่สมบูรณ์ แต่คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลใจไป เนื่องจากการรักษาในปัจจุบันมีหลายแบบ เช่น การใช้ยาทาแก้แผลเป็น ฉีดสเตียรอยด์ การใช้แผ่นซิลิโคนชีท การผ่าตัด VASER การใช้กลุ่มยาปรับเปลี่ยนลดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของคนไข้ หากไม่เห็นผลก็สามารถใช้รังสีเอ็กซเรย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับรอยแผลแต่ละคนว่า จะใช้วิธีใด

 

 

ลดริ้วรอยหน้าท้องใสเนียนสวย

 

 การใช้ยาทาแก้แผลเป็น เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาที่มีวิตามิน E หรือ A เป็นส่วนประกอบ ซึ่งวิธีนี้แผลเป็นคีลอยด์จะจางหรือนิ่มลงเพียงเล็กน้อย รวมถึงอาจไม่เห็นผลเลย

 

 

 การฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดแผลที่มีรอยนูน ให้ดูเรียบเนียนขึ้น โดยแพทย์ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีนี้ในการรักษาขั้นแรก และจะเริ่มเห็นผลได้ประมาณ 1-2 เดือน แต่หากยังไม่เห็นผล แพทย์จะทำการตกแต่งแผลใหม่แล้วกลับมาฉีดสเตียรอยด์ซ้ำ พร้อมทั้งอาจติดแผ่นซิลิโคนร่วมด้วย เพื่อช่วยลดการขยายตัวของแผลเป็น แต่หากยังไม่ดีขึ้นอีก ก็สามารถใช้วิธีการผ่าตัดรักษาคีลอยด์ได้ เพื่อนำแผลเก่าออก แล้วเย็บแผลใหม่อีกครั้ง แต่ใช้ได้กับแผลเป็นบางชนิดเท่านั้น และไม่ควรทำกับแผลเป็นใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่สำคัญการฉีดสเตียรอยด์นี้ทำให้ผิวบาง เนื้อเยื่อบริเวณข้างๆ ฝ่อลง ทำให้สีผิวจางกว่าผิวหนังด้านข้าง และยังอาจเกิดเป็นรอยบุ๋ม ทำให้รักษายากขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญสูง เพราะหากฉีดถูกเข้ากระแสเลือด จะเป็นอันตรายสูงได้

 

 

การใช้รังสีเอ็กซเรย์ โดยการใช้รังสีที่มีปริมาณค่อนข้างน้อยฉายไปบริเวณที่เป็นคีลอยด์ ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้เป็นวิธีสุดท้าย สำหรับคีลอยด์ไม่ตอบสนองผลของการรักษาอื่นๆ แล้ว ซึ่งผลที่ได้ถือว่าดีมากเกือบ 90% แต่มีผลข้างเคียงที่น่ากังวลก็คือ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากการฉายรังสีได้

(Some images used under license from Shutterstock.com.)