© 2017 Copyright - Haijai.com
กระดูกยืดได้เพิ่มความสูง
เชื่อหรือไม่ว่าความสูงมีผลต่อหน้าที่การงาน และช่วยเพิ่มโอกาสในด้านต่างๆ ได้มากมาย แล้วคุณจะรู้สึกว่า “รู้งี้กินนมและออกกำลังกายก็ดีละ”
สาเหตุที่มาความสูงความเตี้ย
ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดว่าเราสามารถสูงได้แค่ไหนนั้น มีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ
• พันธุกรรม นับเป็นปัจจัยแรกที่บ่งชี้ถึงความสูงของคนได้อย่างชัดเจน เช่น หากพ่อแม่สูง ลูกก็จะมีโอกาสสูง และหากพ่อแม่เตี้ย ลูกก็จะมีโอกาสเตี้ย แต่สำหรับบางครั้งพ่อแม่ที่เตี้ย อาจจะมีพันธุกรรมสูงแฝงอยู่ ซึ่งอาจมาจากทางญาติที่เชื้อสายใกล้ชิดกัน เช่น ปู่ย่าตายาย ถ้าพันธุกรรมแฝงที่มาจากปู่ย่าตายายมาพบกัน ลูกคนนั้นก็อาจจะมีโอกาสสูงได้
• ระบบภายในร่างกาย โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) คือ ฮอร์โมนที่ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นตัวที่สำคัญอย่างมากในการเพิ่มความสูงของร่างกาย
• ไทรอยด์ (Thyroid Gland) เป็นส่วนสำคัญอีกอย่างในเรื่องการเจริญเติบโต ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้กระดูกมีพัฒนาการที่ดี
• ฮอร์โมนเพศ ได้แก่ เอสโตรเจน (Estrogen) และเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่เป็นฮอร์โมนของเพศชายและหญิง เพราะฮอร์โมนเหล่านี้ จะเข้าไปช่วยกระตุ้นการหลั่งของโกรทฮอร์โมน ที่ทำให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตขึ้น และยังสามารถช่วยกระตุ้นให้กระดูกยึดยาวได้อีกด้วย
• อาหารที่รับประทาน สารอาหารที่ความมีสำคัญเชื่อมโยงต่อความสูง หรือความเตี้ยของคน คือ โปรตีนและแคลเซียม ไปจนถึงอาหารในส่วนอื่นๆ ที่ให้พลังงาน วิตามินและเกลือแร่ ก็เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งหากเด็กได้รับสารอาหารจำพวกนี้ที่เพียงพอ ตั้งแต่ในท้องแม่ จนถึงการดำรงชีวิตในช่วงการเจริญเติบโตเรื่อยมา ก็จะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตทางด้านความสูงอย่างเต็มที่ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหาร
อาการเจ็บป่วยหรือโรคต่างๆ
ความเจ็บป่วยต่างๆ เช่น การขาดสารอาหารก็นับว่าเป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อความสูงที่จะทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ เด็กที่ขาดสารอาหารเรื้อรังจะทำให้มีรูปร่างหุ่นที่สั้นและเตี้ย ถึงแม้ว่าจะมีพ่อแม่ที่สูงก็ตาม รวมไปถึงโรคของกระดูก โรคของต่อมไร้ท่อที่ใช้ในการช่วยสร้างฮอร์โมนต่างๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ช้าได้
วิธีออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตที่เป็นไปอย่างปกติ เพราะนอกจากการดื่มนมเพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงแล้ว ยังต้องหมั่นออกกำลังกายควบคู่กันไปอีกด้วย ซึ่งโดยธรรมชาติของเด็กนั้น จะชอบวิ่งเล่นจึงเปรียบเสมือนเป็นการออกกำลังกายไปในตัว แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้ว จะต้องมีการกระตุ้นด้วยตัวเองเป็นสำคัญ
วิธีผ่าตัดยืดกระดูก
การผ่าตัดยืดกระดูกมีจุดประสงค์ เพื่อเพิ่มความยาวของกระดูกหรือเพิ่มความสูงของผู้ป่วย กรณีที่คนไข้มีความผิดปกติหรือพิการผิดรูป ซึ่งเป็นการผ่าตัดบริเวณช่วงล่างของขา จึงสามารถทำให้ผู้ป่วยมีความสูงเพิ่มขึ้นมาได้ โดยมีหลักการยืดกระดูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
• ประเภทที่หนึ่ง แพทย์จะใช้เครื่องมือในการตัดกระดูกท่อนที่ต้องการจะยืด และยึดกระดูกตรงส่วนนั้นให้แยกออกจากกันอย่างช้าๆ (เสมือนการยืดกระดูก) ทำแบบนี้ทุกวัน ซึ่งสามารถยืดได้วันละ 1 มิลลิเมตร ความยาวของกระดูกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเมื่อได้ความยาวตามที่ต้องการแล้ว ก็จะนำเครื่องยืดกระดูกนั้นออก และทำการใส่เหล็กไว้ยึดกระดูกเข้าไป
• ประเภทที่สอง แพทย์จะใช้เครื่องมือในการตัดกระดูกท่อนที่ต้องการจะยืดออก เป็นลักษณะแนวขวาง โดยทำการตัดเฉพาะบริเวณเปลือกกระดูก ไม่ตัดกระดูกที่อยู่ในโพรงกระดูก แล้วรอให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่บริเวณที่ตัดกระดูกประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วจึงจะทำการยืดกระดูกวันละ 1 มิลลิเมตร (แบบประเภทที่หนึ่ง) และเมื่อได้ความยาวตามที่ต้องการแล้ว ก็จะนำเครื่องยืดกระดูกนั้นออก และทำการใส่เหล็กไว้ยึดกระดูกเข้าไป
ทั้งนี้ในขั้นตอนของการยืดกระดูกในแต่ละวัน แพทย์จะตรวจเป็นระยะว่า กระดูกยืดออกมาได้ดีหรือไม่ ถ้าดีแพทย์จะทำการยืดกระดูกต่อไป แต่ถ้าไม่ดีก็อาจต้องหยุด หรือปรับให้มีการยืดน้อยลง โดยระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ขั้นตอนทั้งหมดต้องใช้เวลาหลายเดือน เพื่อให้กระดูกค่อยๆ ยืดออก ซึ่งจะต้องมีอุปกรณ์ดามไว้ จนกว่ากระดูกจะติดกันอย่างสนิท โดยร่างกายจะสร้างกระดกขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดหายไปจนเต็ม ซึ่งจะต้องรอประมาณ 3-6 เดือน เมื่อมีกระดูกเกิดขึ้นใหม่มากและแข็งแรงพอ แพทย์ก็ผ่าตัดนำเครื่องยึดกระดูกออก
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
ผู้ป่วยต้องนอนพักที่โรงพยาบาล เพื่อทำการกายภาพบำบัดรอให้กระดูกเชื่อมติดกัน จนกว่าบริเวณส่วนที่ผ่าตัดจะสามารถทำงานได้ทีละข้าง หรือทั้งสองข้างพร้อมกัน พร้อมกับหมั่นรับประทานยาที่แพทย์แนะนำควบคู่กันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ น้ำหนักตัวและสภาวะทางร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย
ผลลัพธ์ที่ได้
แพทย์จะทำการยืดความสูงหรือยืดกระดูกตามความสามารถทางร่างกายของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นผลอย่างชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยจะมีความสูงที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจและไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับความสูงของตนเองอีกต่อไป และในบางคนอาจทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็นที่บริเวณขา ลักษณะแผลนูน (คีรอยด์) หรือแผลอาจมีสีคล้ำร่วมด้วย อาการแทรกซ้อน การติดเชื้อ ปัญหาของข้อยึดหรือเส้นเอ็น เนื่องจากการผ่าตัดสามารถยืดกระดูกได้แต่เพียงอย่างเดียว ในส่วนของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นนั้น ไม่สามารถยืดได้ อาจทำให้กระดูกเกิดการผิดรูป หรือกระดูกไม่แข็งแรงได้
เทคนิคอื่นๆ ช่วยเพิ่มส่วนสูง
• การฉีดโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เพื่อเป็นการกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมถึงส่วนสูงด้วย แต่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดโกรทฮอร์โมนในเด็ก เพราะในวัยเด็กจะมีการเจริญเติบโตของฮอร์โมนชนิดนี้อยู่แล้ว ซึ่งหากร่างกายได้รับระดับฮอร์โมนตัวนี้ที่มากจนเกินไป อาจทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตและเกิดภาวะสะสมกลายเป็นโรคกระดูก รวมถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
• การดื่มน้ำนมเหลือง หรือโคลอสตรุม (Colostrum) หรือในอีกชื่อที่บางคนเรียกว่า “หัวน้ำนม” ซึ่งก็คือน้ำนมที่หลั่งออกมาช่วงหลังการคลอดของแม่วัว ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณที่สูง
• เสริมแผ่นรองส้นเท้าเพิ่มความสูง เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและไว สามารถทำได้ทุกคน โดยเป็นการเสริมแผ่นรองส้นเท้าที่มีความสูงตั้งแต่ 3.5-10 เซนติเมตรเข้าไปในรองเท้า ซึ่งปัจจุบันได้มีการผลิตรองเท้าที่ใช้สำหรับช่วยเพิ่มความสูงโดยเฉพาะ ออกมาจำหน่ายแล้วด้วย
• การฝังเข็มเพื่อเพิ่มความสูง ยังไม่เป็นที่ระบุอย่างชัดเจนว่าสามารถใช้ได้จริง เพราะมีการระบุว่าตามตำราแพทย์แผนจีน ไม่ได้มีการบันทึกว่าสามารถรักษา “โรคเตี้ย” โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความอ่อนแอ ร่างกายซูบผอม ซึ่งการรักษาก็จะเน้นช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีเรี่ยวแรง แต่ไม่ใช่เพื่อเพิ่มความสูง
ผลการวิจัยเกี่ยวกับความสูง
โดยปกติแล้วร่างกายของผู้หญิงจะหยุดสูงเมื่ออายุประมาณ 17 ปี ส่วนผู้ชายจะหยุดสูงเมื่ออายุประมาณ 19 ปี จนถึง 25 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย รวมถึงสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย
งานวิจัยหนึ่งระบุว่าผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่าผู้หญิงมากกว่า 76% ไม่กล้าขอออกเดทกับผู้หญิงที่มีส่วนสูงมากกว่าตัวเอง เป็นเพราะขาความมั่นใจในตัวเอง และกลัวที่จะถูกฝ่ายหญิงปฏิเสธ
อย่างไรก็ตามผลจากงานวิจัยก็ยังระบุต่อไปว่า ผู้หญิงเพียง 13% เท่านั้น ที่ยอมออกเดทกับผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่าตัวเอง ถึงแม้ว่าผู้ชายคนนั้นจะมีรูปร่างหน้าตาดีแค่ไหนก็ตาม ซึ่งในรายงานได้ระบุว่า ผู้หญิงมักจะเลือกอยู่กับผู้ชายที่มีลักษณะตัวสูง เพราะพวกเธอจะรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยนั่นเอง
อีกหนึ่งผลการวิจัยที่มีนัยสำคัญเรื่องความสูงนั่นก็คือ จากการสำรวจในหลายๆ ประเทศระบุว่า ผู้ชายที่มีรูปร่างสูงมักจะมีรายได้ที่มากกว่าผู้ชายที่มีรูปร่างเตี้ย เนื่องจากความสูงเป็นการสื่ออย่างมีนัยสำคัญของพลังอำนาจ และความเฉลียวฉลาดได้นั่นเอง
สำหรับบางสายงานนั้น อาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้ส่วนสูงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเป็นนักกีฬา รวมไปถึงอาชีพประเภท นายแบบ นางแบบ แอร์โฮสเตส หรือสจ๊วต ความสูงจึงเปรียบเสมือนการแข่งขันอย่างหนึ่ง ซึ่งหากคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่มักจะเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบกว่า แต่อย่างไรก็ตามความเตี้ยก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะหากคุณเป็นคนที่มีความสามารถ มีความตั้งใจ รวมไปถึงการมีทัศคติที่ดีในการใช้ชีวิตก็จะทำให้คุณเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จได้ไม่แพ้คนตัวสูงเช่นกัน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)