© 2017 Copyright - Haijai.com
ลบหลุมแผลเป็นอวดผิวเรียบเนียน
แผลเป็นหลุม เป็นร่อ เป็นแอ่ง ทั้งเล็ก ใหญ่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ส่วนไหนของร่างกาย ก็ล้วนสร้างความปวดใจให้กับผิวสวย แถมสร้างความไม่มั่นใจ เมื่อต้องอวดผิวนอกร่มผ้าของคุณใช่หรือไม่ มาหยุดปัญหาน่าปวดหัว พร้อมสลัดผ้าอวดผิวเนียนเรียบกับทางแก้เรื่องหลุมแผลเป็นกัน
รอยหลุมแผลเป็นสะเทือนใจ
แผลเป็น (Scar) คือ การเปลี่ยนแปลงของผิวที่เกิดจากเนื้อเยื่อเส้นใย (Fibrous Tissue) ถูกสร้างเข้าไปแทนที่ผิวปกติ โดยเส้นใยคอลลาเจนในแผลเป็นจะมีการเรียงตัวและเกาะเกี่ยวที่ผิดไป ซึ่งเป็นกระบวนการสมานรักษาแผลตามธรรมชาติ และเมื่อแผลหายดีแล้ว ก็จะทิ้งรอยแผลเป็นบริเวณที่เกิดแผล แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ทั้งแผลเป็นที่โตนูนแผลเป็นที่มีการหดรั้ง และแผลเป็นที่ลึกบุ๋ม ซึ่งแผลเป็นที่ลึกบุ๋ม (Depressed Scar) นั้น ดูจะกวนใจคุณไม่น้อย เพราะมีลักษณะเป็นร่องหรือรูบุ๋มลึกลงไปใต้ผิวหนัง เกิดมาจากการเป็นอีสุกอีใส เชื้อแบคทีเรีย รอยสิว อุบัติเหตุ การเย็บ หรือผ่าตัด
ประเภทของรอยหลุม
หลุมแผลเป็นทางการแพทย์แบ่งเป็น 3 ประเภท
1.หลุมแผลเป็นที่เป็นแหลมลึกลงไป เหมือนรูปตัว V
2.หลุมแผลเป็นที่มีฐานกว้าง เหมือนรูปตัว U ไม่มีพังผืดดึงรั้งที่ก้นแผล (เมื่อดึงแผลเป็นให้ตึง แผลจะเต็มขึ้นมาได้)
3.หลุมแผลเป็นที่มีฐานกว้าง เหมือนรูปตัว U แต่มีพังผืดดึงรั้งตรงก้นแผล (เมื่อดึงแผลเป็นให้ตึง แผลจะไม่เต็มขึ้นมา)
การรักษาหลุมแผล สร้างผิวเรียบเนียน
1.ทายาแก้หลุมแผลเป็น
วิธีนี้อาจช่วยลดอาการคัน ทำให้แผลเป็นสีจางลงหรือบางลงได้เล็กน้อย แต่กว่าจะเห็นผลนั้นต้องใจเย็นพอสมควร เพราะกว่ายาจะออกฤทธิ์ต้อใช้เวลาหลายสัปดาห์ และต้องทาอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นแผลเก่า อาจจะดีขึ้น เพียง 10-20% เท่านั้น แต่ถ้าหากเป็นแผลเป็นที่ไม่มีพังผืดดึงรั้ง อาจทำให้แผลเต็มขึ้นมาได้ 100% โดยยาทานั้นจะอยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์ ซิลิโคนเจล
• ยาในกลุ่มของกรดวิตามินเอ หรือเรตินอยด์ (Topical Retinoids) ตัวยาจะซึมเข้าไปในชั้นหนังแท้ ช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างและจัดเรียงคอลลาเจน พร้อมผลัดเซลล์เก่าที่ไม่ดีทิ้งไป ทำให้แผลตื้นขึ้น ซึ่งยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดการระคายผิว
• ยาในกลุ่มของ AHA ทำให้เซลล์ผิวหนังกำพร้าชั้นบน หรือเซลล์ที่ตายแล้วหลุดลอกได้ง่าย จึงทำให้ผิวมีความสดใส สร้างและจัดเรียงคอลลาเจนใหม่ และกระตุ้นเซลล์ชั้นหนังแท้ใหม่ ผลข้างเคียงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้หากใช้แรกๆ และอาจทำให้ผิวลอกได้
• กรดวิตามินซี ช่วยสร้างคอลลาเจนใหม่ ซึ่งเป็นเส้นใยทำหน้าที่เชื่อมเนื้อเยื่อต่างๆ ไว้ด้วยกัน
2.การใช้สารเคมีในการผลัดเซลล์ผิวหนัง (Chemical Peeling Rejuvenation)
คือ การใช้สารกลุ่มของ AHA, BHA และกลุ่มของกรดไตรคอลโรอะซิติกแอซิด (Chloroacetic acid) วิธีนี้จะทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบน และสร้างเซลล์ผิวหนังด้านล่างใหม่ ที่มีความนุ่มนวล สีผิวสม่ำเสมอ ริ้วรอยและร่องผิวจะตื้นขึ้น เหมาะสำหรับแผลเป็นชนิดหลุมตื้นๆ แม้วิธีนี้มีความสะดวก รวดเร็วก็จริง แต่เห็นผลช้า และต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญในระหว่างทำต้องหลีกเลี่ยงแสงแดด เพราะผิวจะบางและไวต่อแสงแดด อีกทั้งมีโอกาสที่จะเป็นแผลเป็นสูง หากแกะสะเก็ดที่เกิดจากการทำ
3.การใช้เครื่องเลเซอร์
การใช้เลเซอร์จะช่วยสลายคอลลาเจนที่ผิดปกติและกระตุ้นให้เกิดการสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะมีโครงสร้าง และการเรียงตัวที่เป็นปกติ (Neo-collagenesis and remodeling) แผลเป็นจึงดีขึ้น ได้ผลดีและมีความปลอดภัยสูง แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มเลเซอร์ทีทำให้เกิดแผลใหม่ (Ablative Laser) เลเซอร์ และลำแสงที่ไม่ทำให้เกิดแผลใหม่ (Non-ablative Photorejuvenation) และ Fractional Laser
• กลุ่มเลเซอร์ที่ทำให้เกิดแผลใหม่ (Ablative Laser) ได้แก่ Carbon dioxide Laser (CO2 Laser) และ ErbiumYag Laser ทำงานโดยการกรอผิวชั้นบนออก ทำให้เกิดแผลใหม่ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเร่งสร้างผิวใหม่ ที่มีการจัดเรียงตัวของคอลลาเจนอย่างปกติ วิธีนี้ได้ผลดีมาก แต่แพทย์ผิวหนังในปัจจุบันไม่นิยมใช้ เนื่องจากยากต่อการดูแลรักษา เพราะมีโอกาสเป็นรอยคล้ำ รอยด่างขาวและติดเชื้อได้ง่าย
• เลเซอร์และลำแสงที่ไม่ทำให้เกิดแผลใหม่ (Non-ablative Photorejuvenation) เนื่องจากการทำ Ablative Laser มีแผลสดที่ดูแลรักษา จึงปรับความรุนแรงของแสงเลเซอร์ให้เบาลง และใส่ความเย็นลงไป เพื่อช่วยลดความร้อนของเลเซอร์ที่พร้อมทำลายทุกอย่าง ทำให้ผิวชั้นบนไม่ถูกเผาไหม้ โดยแสงเลเซอร์จะผ่านผิวชั้นบนเข้าทำปฏิกิริยากับผิวหนังส่วนลึก เพื่อให้ร่างกายสร้างและจัดเรียงตัวคอลลาเจน และอีลาสตินใหม่ ทำให้หลุมแผลเป็นเรียบเนียนขึ้น ในปัจจุบันวิธีการนี้มีหลากหลาย เช่น IPL (Intense Pulse Light), FPL (Flurescent Pulse Light), Long Pulse Nd Yag, Cool Touch, Erbium Glass, Smooth Beam ที่สำคัญผลข้างเคียงน้อยมาก ไม่เกิดแผลไม่มีรอยแดง แต่เห็นผลช้ากว่า Ablative Laser และไม่สามารถรักษาแผลเป็นที่เป็นหลุมใหม่ได้ รวมทั้งต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสภาพผิว
• Fractional Laser เป็นการรักษาที่ผสมผสานกันภายใต้พลังงานคลื่นวิทยุ (Radio Frequency) โดยทำให้ผิวหนังเกิดรูเล็กๆ จำนวนมาก เพื่อทำลายคอลลาเจนเดิม ทำให้เกิดการสร้างและเสรสิมความแข็งแรงของคอลลาเจนใต้ผิวหนังขึ้นใหม่ รวมทั้งกำจัดเม็ดสีเมลลานินให้หมดไป ซึ่งผลการรักษาการรักษาแผลเป็นหลุมจะใกล้เคียง Ablative Laser เห็นผลเร็ว ชัดเจนกว่าการใช้เลเซอร์กลุ่ม Non-ablative Photore-juvenation แต่อาจมีอาการแดงชัดหลังทำ 2-3 วัน และไม่สามารถรักษาแผลเป็นที่หลุมใหญ่ได้
4.การฉีดสารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์
ฟิลเลอร์ (Filler) เป็นการฉีดสารเติมเต็มผิวเข้าไปในบริเวณแผลที่เป็นหลุมโดยตรง ทั้งหลุดเล็กและหลุมใหญ่ การเติมด้วยสารนี้จะเห็นผลได้อย่างรวดเร็วทันที มีผลข้างเคียงน้อย โดยหลังฉีดจะมีอาการบวมตึงหรือแดงเล็กน้อย แต่จะหายเอง และใช้ในกรณีกลุ่มแผลเป็นหลุมที่ไม่มีพังยึดเกาะเท่านั้น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)