
© 2017 Copyright - Haijai.com
เดินทางกับเด็ก เรื่องเล็กๆ ไม่เห็นยาก
การเดินทางโดยเฉพาะที่จะต้องนั่งอยู่บนยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ หรือเครื่องบิน นานๆ นั้น คงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกนัก ยิ่งหากคุณกระเตงเจ้าตัวเล็กไปด้วยก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตั้งแต่เบบี้ขี้แย วัยเตาะแตะจอมซน ไปจนคุณหนูวัยเรียน ล้วนต่างต้องออกอาการเหนื่อยล้า เบื่อ เซ็ง จนอาจทำลายให้วันหยุดแสนหรรษาของครอบครัว เพราะการเดินทางอันแสนสาหัสนี่เอง
เตรียมให้พร้อม ก่อนล้อหมุน
หากคุณวางแผนไว้แล้วว่าช่วงหน้าร้อนนี้จะกระเตงลูกไปพักผ่อนต่างจังหวัดกันสักที คุณก็ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ด้วยค่ะ
• ปลอดภัยไว้ก่อน ก่อนออกเดินทางสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณควรคำนึงถึงคือเรื่องของความปลอดภัยค่ะ คุณควรตรวจสอบเครื่องยนต์หากคุณขับรถไปเอง ในกรณีที่คุณใช้บริการขนส่งมวลชน หรือเครื่องบินโดยสาร ก็ควรเลือกบริการที่มีความน่าเชื่อถือให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก สิ่งที่คุณควรมีไว้ติดตัวหรือติดรถขณะเดินทางคือ สายชาร์ตโทรศัพท์มือถือที่ต่อชาร์ตในรถส่วนตัวได้ และหากคุณขับรถเองก็ควรนอนหลับให้เต็มอิ่ม พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทางด้วยค่ะ
• จัดกระเป๋าอย่างมือโปร ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนออกเดินทางคุณควรจดลิสต์รายการสิ่งของสำคัญที่คุณต้องนำติดตัวไปด้วย เพราะนอกจากที่คุณจะต้องแพ็คข้าวของส่วนตัวของคุณเองแล้ว คุณก็ยังต้องดูแลจัดการสัมภาระของลูกน้อยด้วย ซึ่งเจ้าตัวเล็กเนี่ยล่ะข้าวของเยอะกว่าผู้ใหญ่เสียอีก การจดลิสต์และทยอยเก็บของล่วงหน้าจะทำให้คุณมีเวลาคิดว่ายังขาดสิ่งใดอีก สิ่งของที่ต้องหยิบใช้บ่อยๆ อย่างกระดาษทิชชู ของเล่นของลูก ควรแยกไว้ในกระเป๋าที่คุณหิ้วติดตัว รวมทั้งหมวก และอุปกรณ์กันแดดทั้งหลายด้วย
• วางแผนการเดินทาง หากคุณเดินทางโดยรถส่วนตัว อย่าลืมตรวจสอบเส้นทางว่าต้องใช้ทางหลวงใด มีทางลัดหรือไม่ มีจุดพักช่วงใดบ้าง หากมีเส้นทางที่สั้นกว่าแต่ไม่มีจุดพักเลย คุณก็อาจต้องเลือกทางที่ไกลออกไป แต่มีจุดพักให้เจ้าตัวเล็กยืดเส้น ยืดสาย เข้าห้องน้ำ แต่หากเดินทางโดยรถสาธารณะ หรือเครื่องบินโดยสาร ก็ควรเช็คเวลาออกเดินทางให้ดี และไปถึงสถานีหรือสนามบินก่อนเวลา คุณควรเลือกออกเดินทางก่อนเวลานอนของลูกเล็กน้อย เพื่อที่ว่าเมื่อขึ้นรถ เจ้าตัวดีจะได้หลับพักผ่อนได้พอดี
• เตรียมพร้อมกิจกรรม การเดินทางกับเด็กๆ สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือกลเม็ดหลอกล่อให้เจ้าตัวน้อยไม่งอแงค่ะ อย่าลืมเตรียมของเล่นชิ้นโปรดที่ลูกเล่นได้นานๆ ไม่มีเบื่อติดไว้ในรถ นอกจากนี้อาจจะมีหนังสือนิทานไว้ในกรณีที่ของเล่นใช้ไม่ได้ผล รวมไปถึงต้องมีขนมของว่างกันหิว และน้ำดื่มให้พร้อมอยู่เสมอด้วยค่ะ
พยายามอย่าขับรถต่อเนื่องกันนานกว่า 2-3 ชั่วโมง นี่คือกฎข้อแรก หากคุณไม่ต้องการให้หนูน้อยร้องโยเยงอแงไปตลอดทาง การคาดหวังจะให้หนูน้อยนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานานนั้น ยากที่จะเป็นจริงได้ แม้ว่าคุณจะหาเกมมาเล่นกับลูกอยู่ตลอดเวลา เด็กๆ ก็ยังต้องการที่จะยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำ และเปลี่ยนบรรยากาศอยู่ดี
ระงับหิว ระหว่างทาง
กองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด ระหว่างการเดินทางไปเที่ยวก็ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างฉันนั้นค่ะ ใครๆ ก็รู้ว่าการปล่อยให้ท้องร้องจ้อก จ้อก ด้วยความหิวนั้นทรมานเพียงใด ขนาดผู้ใหญ่บางทียังอด “โมโหหิว” ไม่ได้ นับประสาอะไรกับเด็กๆ เพราะฉะนั้นระหว่างการเดินทาง “อย่าปล่อยให้ความหิวลอยนวล” ค่ะ
• ทารก ก็หิวเป็นนะ แม้ว่าอาหารของเจ้าตัวเล็กจะไม่มากมายไปกว่าน้ำนมอุ่นๆ ซึ่งคุณสามารถป้อนลูกได้ระหว่างทาง แต่ทั้งนี้คงจะดีไม่น้อยหากคุณเลือกเวลาหยุดพักให้ตรงกับเวลาอาหารของลูกพอดี เพื่อที่เจ้าตัวเล็กจะได้ผ่อนคลายระหว่างที่คุณให้นม
• วัยเตาะแตะจอมซน คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยนี้คงรู้ดีว่า เจ้าตัวเล็กวัยเตาะแตะนั้นซุกซนขนาดไหน ไปที่ไหนก็ไม่เคยนั่งได้นานๆ อยากลุกไปโน่นนี่อยู่เสมอ ก็แหม! วัยกำลังอยากรู้อยากเห็นนี่หน่า เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณจึงควรเลือกร้านอาหารที่มีบริเวณ หรือสนาม ให้เจ้าตัวเล็กเดินไปเดินมาแก้เบื่อระหว่างรออาหาร ไม่แนะนำให้กินอาหารมื้อหลัก ที่ไม่ใช่ของว่างในรถค่ะ เพราะว่าหนูน้อยวัยนี้ มักจะอยู่ไม่เฉย กินไปชมวิวไป ขณะที่รถกำลังวิ่ง เผลอๆ อาจจะเลอะเทอะจนคุณแม่ต้องเหนื่อยเป็นสองเท่าได้ แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าควบคุมได้ และไม่รู้จะแวะระหว่างทางที่ไหนนี้ ก็ควรเตรียมผ้ารองกันเปื้อน ถุงขยะ และกระดาษทิชชู ไว้ให้พร้อม (หลังจากอิ่มแล้ว ระวังเจ้าตัวดีจะร้องขอเข้าห้องน้ำอีกนะคะ)
• วัยเรียนช่างเลือก หนูน้อยวัยเรียน ที่เริ่มสื่อสารรู้เรื่อง ขณะเดียวกันก็เริ่มที่จะต่อรองเป็น ดังนั้น หากคุณตัดสินใจที่จะแวะร้านก๋วยเตี๋ยวที่ดูสะอาด ถูกสุขอนามัย และมีห้องน้ำให้เข้า เจ้าตัวดีก็อาจจะเริ่มงอแง อยากให้คุณแวะปั๊มน้ำมัน ที่มีขนมขบเคี้ยวมากกว่า ดังนั้นก่อนออกเดินทางคุณควรพูดคุยและทำความตกลงกับลูกให้เรียบร้อยว่าระหว่างทางจะแวะที่ใด เพื่อทำอะไรบ้าง คุณอาจแวะปั๊มเพื่อเติมน้ำมัน และอนุญาตให้ลูกซื้อขนมเล็กๆ น้อยๆ ได้ แต่เมื่อแวะร้านอาหารแล้วลูกก็ต้องยอมกินอาหารในร้านที่คุณเลือกด้วย
แม้ว่าคุณจะแวะร้านอาหารระหว่างทาง แต่ก็ควรเตรียมของว่าง และน้ำดื่มเผื่อไว้ในรถด้วย เพราะคุณไม่มีทางเดาใจเจ้าตัวดีได้เลยว่าจะงอแงร้องหิวขึ้นมาเมื่อไร ขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ ได้แก่ ชีสแท่ง ข้าวเกรียบ ปลาเส้น ซีเรียล คุกกี้ข้าวโอ๊ต ขนมปังกรอบ ขนมและของว่างที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างการเดินทาง เพราะกินยากและเลอะเทอะง่าย ได้แก่ ผลไม้ส่วนใหญ่ โยเกิร์ต ขนมปังจิ้มช็อกโกแลต เป็นต้น
สนุกแบบนี้ ไม่มีเบื่อ
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงจะมีกลเม็ดเคล็ดลับในการหลอกล่อเจ้าตัวน้อย เมื่อเกิดอาการงอแง ขึ้นมาแน่ๆ ไม่ว่าจะอุ้มเดินเปลี่ยนบรรยากาศ หรือจะชวนเล่นของเล่นชิ้นใหม่ แต่ถ้าอยู่ในสถานที่จำกัดอย่างในรถระหว่างเดินทางล่ะ จะทำอย่างไร หากเจ้าตัวเล็กเกิดอาการเบื่อ แล้วเริ่มโยเยขึ้นมา ไม่ต้องห่วงค่ะ เรามีไอเดียทำกิจกรรมสนุกๆ กับหนูน้อยแต่ละวัย ที่ไม่ว่าจะเดินทางนานแค่ไหน ก็ไม่มีเบื่อแน่นอน!!
• เล่นกับลูกวัยเบบี๋ การเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับหนูน้อยขวบปีแรก คือการให้ลูกนั่งอยู่ในเบาะนั่งนิรภัย (Car Seat) ซึ่งแม้ว่าอาจจะทำให้ลูกน้อยเบื่อ ที่มองไม่เห็นวิวสองข้างทาง แต่ก็เป็นการปลอดภัยกว่าสำหรับเจ้าตัวเล็ก การเล่นกับหนูน้อยวัยนี้ คุณควรนำของเล่นชิ้นโปรดของลูกติดมาด้วย นอกจากนั้น แนะนำว่าให้เตรียมสิ่งของสีสันสดใส สะดุดตา และหนูน้อยสามารถไขว่คว้าเพื่อจะหยิบมาเล่น มาไว้ใกล้ๆ ก็จะทำให้ลูกเพลิดเพลินได้ระดับหนึ่ง อย่าลืมหาหนังสือภาพสีสันสดใสสำหรับเด็กเล็กไว้เล่าให้ลูกฟังด้วยนะคะ หรือจะเป็นซีดีนิทาน หรือซีดีเพลง ก็เพลินไปอีกแบบค่ะ
• เล่นกับหนูวัยเตาะแตะ นอกจากจะชี้ชวนให้ลูกชมวิวสองข้างทางแล้ว คุณก็อาจจะชวนลูกเล่นเกม เช่น คอยนับรถตักดินที่เห็นริมทางว่ามีกี่คัน มีสีอะไรบ้าง หรือจะหาสมุดภาพสติ๊กเกอร์มาให้ลูกติดๆ แปะๆ ก็น่าสนใจค่ะ ก่อนออกเดินทางคุณอาจนำรูปภาพ หรือตัดกระดาษเป็นรูปต่างๆ มาแปะไว้ที่ด้านหลังของเบาะหน้า วิธีนี้จะทำให้คุณมีกิจกรรมเล่นกับลูกเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะผูกเรื่องราวจากรูปภาพที่นำมาติด หรือถามคำถามเจ้าตัวเล็กว่าเห็นอะไรในภาพบ้าง เป็นต้น
• เล่นกับเจ้าตัวเล็กวัยเรียน หนูน้อยวัย 3 ปีขึ้นไปสามารถเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ หนังสือนิทานเกี่ยวกับเรื่องราวที่หนูน้อยสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ อวกาศ ไดโนเสาร์ ตุ๊กตา ฯลฯ น่าจะเรียกแก้เบื่อให้ลูกน้อยได้ดีค่ะ หลังจากเล่าเรื่องราวจบ เจ้าตัวเล็กก็อาจตามมาด้วยคำถาม ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ อย่าเบื่อที่จะตอบคำถามลูกนะคะ เพราะหนูน้อยวัยนี้กำลังเรียนรู้สิ่งรอบตัว หนำซ้ำจะช่วยถ่วงเวลาไม่ให้ลูกงอแงขณะเดินทางได้ด้วย นอกจากนี้ การเล่นเกมและร้องเพลงก็ได้ผลดีเช่นกัน
ขณะที่คุณพ่อขับรถ คุณแม่ควรนั่งเป็นเพื่อนเจ้าตัวเล็กที่เบาะหลังค่ะ และหากว่าคุณเดินทางกับเจ้าตัวเล็กมากกว่าหนึ่งคน คุณอาจใช้หมอนวางขั้นระหว่างหนูน้อยทั้งสอง เพื่อให้แต่ละคนมีพื้นที่ส่วนตัว และป้องกันกรณีพี่น้องทะเลาะกัน แต่หากว่าหนูน้อยเกิดทำสงครามย่อยๆ กันขึ้น คุณอาจเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการทำอะไรที่ลูกไม่คาดคิดมาก่อน เช่น เปิดเสียงเพลงให้ดังขึ้นสักครู่ หรือจะเป่าลูกโป่งฟองสบู่ เพื่อเรียกร้องความสนใจก็น่าจะได้ผลดีเช่นกัน
จัดการอย่างไร เมื่อลูกมีใครๆ ร่วมทาง
บางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องกระเตงเจ้าตัวเล็กใช้บริการระบบขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็น รถทัวร์ รถไฟ หรือเครื่องบิน ซึ่งอาจจะทำให้อะไรๆ ยากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะนอกจากคุณจะควบคุมให้คนขับแวะตามแต่ใจเจ้าตัวเล็กต้องการไม่ได้แล้ว คุณก็ยังควบคุมไม่ให้ลูกส่งเสียงดังหรือทำความรำคาญให้กับเพื่อนร่วมทางไม่ได้เสียด้วย คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปนี้ อาจจะช่วยลดความลำบากใจ เมื่อเจ้าตัวเล็ก ต้องมีเพื่อนร่วมทาง หลายคน หลายวัย ได้ในระดับหนึ่งค่ะ
• หากเป็นไปได้คุณควรเลือกออกเดินทางระหว่างสัปดาห์ที่คนส่วนใหญ่ทำงานกัน เช่น วันอังคาร วันพุธ หรือวันพฤหัสบดี
• เลือกเวลาเดินทางเป็นรอบแรกของวัน เพราะเป็นรอบที่มีผู้โดยสารน้อยที่สุด รวมทั้งหากคุณเดินทางโดยเครื่องบิน ไฟล์แรกมักจะไม่ค่อยดีเลย์ ทำให้หนูน้อยไม่ต้องแกร่วอยู่ที่สนามบินนานๆ รวมทั้งควรเลือกการเดินทางโดยเครื่องบินแต่ละครั้งไม่เกินกว่า 4 ชั่วโมง หากคุณต้องเดินทางข้ามทวีป แนะนำว่าควรเลือกไฟล์ที่มีจอดพักเปลี่ยนเครื่องจะดีกว่า
• การเลือกที่นั่ง โดยเฉพาะบนเครื่องบิน คุณควรเลือกที่นั่งบริเวณด้านหลังที่ใกล้กับห้องน้ำ รวมทั้งเลือกนั่งริมหน้าต่างหากคุณต้องให้นมลูก เพื่อที่คุณจะได้มีมุมที่เป็นส่วนตัว
Stroller Do’s & Don’ts
การอุ้มลูกใส่รถเข็น พาไปเดินเล่นนอกบ้านหรือไหนต่อไหน อาจดูเป็นเรื่องง่ายๆ สะดวกสบายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่ทั้งนี้ก็มีข้อห้าม ข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยของลูกด้วย
Do’s |
Don’ts |
ตรวจสอบให้มั่นใจว่าคุณคาดสายรัดตัวลูกกับเบาะนั่งเรียบร้อย และรถเข็นมีร่มบังแดดที่ดึงออกมาปกป้องลูกจากแสงแดดได้ |
อย่าใช้รถเข็นประเภทที่พับเก็บได้เหมือนร่ม (Umbrella Stroller) จนกว่าลูกจะอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะรถเข็นประเภทนี้ไม่มีที่รองรับศีรษะและคอของทารก |
เบาะพิงของรถเข็นควรเป็นพื้นเรียบและนุ่ม เพื่อป้องกันศีรษะของเจ้าตัวเล็กจากการเคลื่อนที่ของรถเข็น |
อย่าใช้รถเข็นชนิดปรับระดับได้จนกว่าทารกจะอายุ 6 สัปดาห์ |
ตรวจสอบให้ดีว่าระบบล๊อคชิ้นส่วนต่างๆ ของรถเข็นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ก่อนใช้ |
อย่าแขวนถุงใดๆ ก็ตามบริเวณด้ามจับของรถเข็น |
10 สิ่งสำคัญ เมื่อถึงวันเดินทาง
พกสิ่งเหล่านี้ควรไว้ใกล้ตัว เพื่อให้การเดินทางของคุณง่ายและเป็นระเบียบยิ่งขึ้นค่ะ
• กล่องพลาสติก เก็บอาหารว่างสำหรับทุกๆ คน
• กระโถนแบบพกพา คุณไม่มีทางรู้ว่า เจ้าตัวเล็กจะปวดหนักปวดเบาเมื่อไร และเวลานั้นคุณจะหาห้องน้ำได้หรือไม่ กระโถนพกพาน่าจะเป็นพระเอกของเหตุการณ์นี้ได้ดีค่ะ
• หมอน ไม่เพียงแต่จะทำให้เจ้าตัวเล็กนั่ง นอน สบายขึ้น แต่ยังใช้เป็นกำแพงกั้นป้องกันพี่น้องทะเลาะกันได้ด้วยนะ
• ถุงซิปล๊อค ใส่ของเล่น ของกิน และกรณีฉุกเฉิน เมื่อเจ้าตัวดีเมารถ!
• ของเล่นชิ้นโปรด และหนังสือนิทาน ไว้หลอกล่อ เมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มงอแง
• ขนมปังกรอบ บ๊วยเค็ม ของกินต่างๆ ที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้จากการเมารถ
• กระติกน้ำแบบพกพา ที่มีหลอดดูดอยู่ในตัว เพื่อสะดวกในการหยิบให้ลูกน้อยดื่ม
• กระดาษทิชชู เบบี้ ไวพ์ ใครจะรู้ว่าเจ้าตัวดีจะทำอะไรเลอะเทอะเมื่อไหร่ พกไว้ต้องได้ใช้แน่ๆ
• หมวกและร่ม เที่ยวหน้าร้อนจะขาดสองสิ่งนี้ได้อย่างไร
• First Aid Kit ยาทาแก้คัน พลาสเตอร์ ฯลฯ ไม่มีใครรู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเมื่อไร มีไว้ให้อุ่นใจก็ดีค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)