© 2017 Copyright - Haijai.com
เต้านมส่วนเกินแก้ไขอย่างไรดี
หญิงทั้งหลายที่อยากใส่บิกินี่ ใส่เกาะอก หรือใส่ชุดรัดรูป อวดรูปร่างสวย แต่กลับมาสะดุดอยู่ที่เนื้อปลิ้นออกมาข้างหน้าอก หรือใต้รักแร้ อย่างกับมีเต้านมเพิ่มมาเป็น 4 เต้า แน่นอนว่าเมื่อเป็นแบบนี้ จะต้องสูญเสียความมั่นใจในการเดินเฉิดฉายใส่ชุดงามๆ แล้วกลับไปใส่เสื้อมีแขนปกปิดส่วนที่ล้นนั้นเหมือนเดิม สำหรับผู้ที่มีรูปร่างอวบนั้น อาจไม่แปลกใจที่มีเนื้อล้น เพราะไขมันและน้ำหนักตัวที่มากขึ้นทั้งร่างกาย แต่บางคนที่เจอปัญหาเหล่านี้ คงแปลกใจว่ารูปร่างก็ไม่ได้อ้วน แต่ทำไมเนื้อปลิ้น หรือหน้าอกก็ไม่ได้ใหญ่มากมายขนาดนั้น ทำไมจึงล้นออกมาได้
เหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าการที่เนื้อปลิ้นข้างหน้าอกไม่ได้มาจากน้ำหนักตัวมาก หรือจะเกิดกับคนอ้วนเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดได้ และที่ดีกว่านั้นอาการเหล่านี้สามารถแก้ไขให้หายได้ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องเปลืองเงิน และใช้การรักษาทางการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้างต้องมาอ่านกัน รับรองว่าจะช่วยให้คุณแก้ไขปัญหานมเกินได้อย่างแน่นอน
เต้านม (Breast) คือ อวัยวะส่วนหนึ่งที่อยู่บริเวณหน้าอกทั้งสองข้าง และมีการพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการปรับตัวของฮอร์โมนเพศ ลักษณะเต้านมในแต่ละคนนั้น จะมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกัน คือ หัวนม ลานหัวนม ต่อมน้ำนม และท่อน้ำนม ซึ่งจะคลุมด้วยผิวหนังและเนื้อเยื่อไขมัน โดยเมื่อยังเด็กเต้านมจะมีลักษณะแบนราบ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น และการที่เต้านมมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ได้มาจากอายุที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ช่วงประจำเดือนและการคลอดบุตร เป็นต้น ที่สำคัญยังก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงให้เกิดโรคหรือเกิดความผิดปกติได้
เต้านมส่วนเกินมีลักษณะอย่างไร
เต้านมส่วนเกิน (Accessory Breast) หรือบางคนเรียกว่าเนื้อล้นใต้รักแร้ เป็นอาการเต้านมที่เกินมา เช่น มีเต้านมอีก 2 เต้าเกิดขึ้นที่รักแร้ มีจุดหัวนม มีเต้านมโดยไม่เห็นหัวนม ตามแนวตั้งแต่รักแร้ไปจนถึงขาหนีบ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดที่ใต้รักแร้ ในบางรายจะย้อยออกเป็นเต้านมชัดเจน รวมทั้งอาจมีหัวนมด้วย และหากเป็นเต้านม มีขนาดใหญ่มาก อาจมีน้ำนมไหลออกมา แต่ส่วนใหญ่มักจะพบเป็นเพียงเนินเล็กๆ ไม่เห็นเป็นก้อนชัดเจน หรืออาจมีหัวนมขนาดเล็ก ซึ่งเห็นเป็นจุดเท่านั้น ซึ่งบางคนอาจคิดว่าเป็นไฝก็ได้ โดยอาจพบเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้
เกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุที่ทำให้เกิดเต้านมส่วนเกินนั้นมี 2 สาเหตุหลักด้วยกัน ได้แก่
1.เกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เช่น วัว แมว สุนัข เป็นต้น มีเต้านมหลายเต้าเรียงตัวอยู่ระหว่างขาหน้าและหลังเป็นแนวสองข้าง เช่นเดียวกับมนุษย์เมื่ออยู่ในครรภ์มารดา ร่างกายจะมีพัฒนาการเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่เมื่อใกล้จะคลอดตุ่มใต้ผิวหนังจะฝ่อและสลายไป จนเหลือเพียงสองตุ่มบริเวณหน้าอก ซึ่งต่อมาจะพัฒนากลายเป็นเต้านมซ้ายและขวา แต่ในบางรายตุ่มใต้ผิวหนังในบริเวณอื่นๆ ที่นอกจากหน้าอก อาจจะไม่ฝ่อและสลายตัวไปอย่างที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้เกิดเต้านมเกินขึ้นได้เช่นกัน และตำแหน่งที่พบมากที่สุด ก็คือ บริเวณรักแร้นั่นเอง ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกว่า เต้านมรักแร้ (Axillary Breast)
2.เกิดจากสาเหตุภายนอกอื่นๆ ทั้งจากการใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่รัดจนเกินไป จนเป็นการบีบเนื้อบริเวณเต้านม ทำให้เกิดเป็นเต้านมส่วนเกินได้ในที่สุด อีกทั้งอายุที่มากขึ้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินได้น้อยลง การเผาผลาญไขมันส่วนเกินจึงทำได้ไม่ดีเท่าเดิม และกลายเป็นเต้านมส่วนเกิน สำหรับคนที่มีรูปอวบหรือน้ำหนักเกินก็จะสามารถสังเกตเห็นได้ชัดมาก เนื่องจากฐานเต้านมที่มีขนาดกว้างและเนื้อหน้าอกจะมีการขยายออกด้านข้างอย่างชัดเจนนั่นเอง
เมื่อเป็นแล้ว มีอันตรายหรือไม่
โดยปกติแล้ว การมีเต้านมส่วนเกินจะไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย เพียงแต่อาจส่งผลต่อจิตใจและรูปลักษณะเมื่อต้องการใส่เสื้อผ้าให้สวยงามดังใจ แต่กลับต้องผิดหวัง ซึ่งในบางคนอาจพบอาการปวด คัด ตึงบริเวณนั้นในช่วงก่อนหรือมีประจำเดือน ในช่วงตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร เพราะเป็นช่วงเวลาที่เนื้อเยื่อเต้านมได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้มีการขยายใหญ่ขึ้น เนื้อเต้านมที่เกินจึงขยายตัวตามไปด้วย จนบางครั้งอาจทำให้รู้สึกตึงหรือเจ็บได้ แต่จะไม่มีผลต่อการผลิตน้ำนมให้บุตร
หากมีเต้านมเกินขนาดใหญ่และมีหัวนม ก็ยังมีน้ำนมไหลออกมาได้ปกติ โดยอาการเหล่านี้จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีไปแล้ว เพราะเป็นช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนจะไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเต้านมได้มาก และด้วยความที่เนื้อในส่วนนี้มีลักษณะเหมือนเต้านมได้มาก และด้วยความที่เนื้อในส่วนนี้มีลักษณะเหมือนเต้านมทั่วไป จึงอาจก่อให้เกิดโรคเช่นเดียวกับเต้านมได้ เช่น มะเร็ง เป็นต้น
วิธีการตรวจ
แม้การที่มีเต้านมเกิน หรือเนื้อล้นใต้รักแร้จะไม่มีอันตรายใดๆ แต่อย่างที่บอกไปว่าเนื้อส่วนนี้มีลักษณะคล้ายเต้านมปกติทุกอย่าง จึงอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ เหมือนเต้านมแบบปกติ อีกทั้งการที่พบเนื้อล้นใต้รักแร้นั้น อาจไม่ใช่เต้านมเกินอย่างที่คาดคิด แต่อาจเป็นภาวะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต หรืออาจเป็นการอักเสบของต่อมไขมันรอบรูขุมขนที่รักแร้ก็เป็นได้ ดังนั้น หากมีเนื้อในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง ควรไปตรวจวินิจฉัยโรคกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้แน่ชัด โดยอาจใช้วิธีการให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย หรือหากต้องการเห็นผลอย่างละเอียดที่สามารถใช้วิธีอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) และการทำ BMI เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคก็ได้
การรักษา
เนื่องจากภาวะเต้านมเกินไม่มีอันตรายใดๆ จึงไม่ค่อยมีความจำเป็นที่จะต้องกำจัดออก แต่หากภาวะนี้ส่งผลรบกวนต่อการทำกิจกรรมต่างๆ การเลือกหาเสื้อผ้าในการใส่ปกปิดลำบาก และไม่สวยงาม ก็สามารถทำการกำจัดได้ด้วยตัวเอง แต่อาจต้องใช้วินัยและเวลาในการทำนานกว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน ที่สำคัญเนื้อเต้านมส่วนเกินนั้น ต้องไม่ได้มีสาเหตุที่เกิดมาตั้งแต่ในครรภ์มารดาด้วย ซึ่งคุณสามารถทำได้ง่ายๆ และไม่ต้องเสียเงินในการทำ โดยมีวิธีดังนี้
• ควรเลือกใส่ชุดชั้นในที่มีขอบกั้นด้านข้างลำตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อหน้าอกไหลหรือถูกเบียดมาด้านข้าง ที่สำคัญเวลาเลือกชุดชั้นในต้องเลือกที่มีคุณภาพดี มีการตัดเย็บที่ช่วยเก็บเนื้อหน้าอกไว้ในชุดชั้นในได้ทั้งหมด และต้องหลีกเลี่ยงชุดชั้นในที่ไม่มีสาย เพราะจะทำให้เนื้อกระจายออกไป
• เวลาสวมใส่ชุดชั้นในต้องก้มตัวลงให้มากๆ แล้วใช้มือโกยเนื้อหน้าอกเข้ามา อยู่ในชุดชั้นในให้หมดทั้งสองข้าง
• ควรนวดหน้าอกอย่างสม่ำเสมอ โดยพยายามไล่เนื้อหน้าอี่อยู่ด้านข้างลำตัวมาด้านหน้า เพื่อช่วยแก้ปัญหาเนื้อล้นได้
• ระวังท่านอน เพราะการนอนหงายหรือนอนคว่ำตลอด จะทำให้เกิดเนื้อล้นใต้วงแขน หน้าอกห่าง หรือหน้าอกสองข้างไม่เท่ากันได้ ดังนั้น ควรเปลี่ยนท่านอน หรือนอนตะแคงบ้าง
• ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญไขมันส่วนเกินได้ดี
แต่สำหรับผู้ที่มีเนื้อเต้านมส่วนเกินเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเกิดมาจากสาเหตุใด แต่ส่งผลให้หุบแขนลำบาก หรือมีอาการปวด ตึงจนรู้สึกคับมาก หรือต้องการความรวดเร็วในการเห็นผลที่ชัดเจน ก็สามารถรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ได้ โดยการเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการกำจัดเอาเต้านมเกินออก
ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความประสงค์และความเหมาะสมในแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็น การร้อยไหม การดูดไขมัน และวิธีที่ดีที่สุดคือผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อเต้านมพิเศษ ที่งอกย้อยบริเวณรักแร้นี้ออกไปได้
• การร้อยไหมละลาย แพทย์จะร้อยไหมละลายใต้ชั้นผิวหนังเต้านมส่วนเกิน ซึ่งจำนวนเข็มจะขึ้นอยู่กับสภาพและขนาดของไขมัน เพื่อให้เกิดการดึงรั้งผิว กระตุ้นให้ผิวกระชับ และสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ ทำให้ผิวบริเวณนั้นแข็งแรง เต่งตึงขึ้น ถือว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อร่างกาย ไม่เจ็บปวด ไม่ต้องพักฟื้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเต้านมส่วนเกินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
• การดูดไขมัน เหมาะกับผู้เต้านมส่วนเกินในระดับปานกลาง และมีเนื้อเยื่อส่วนเกินอยู่ติดกับเต้านมปกติ โดยเป็นการนำเอาเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นท่อ เจาะเข้าไปใต้ผิวหนัง ซึ่งต้องเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ตรงข้อพับของรักแร้ แล้วดูดไขมันออกมา วิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดแผลขนาดใหญ่ เจ็บตัวน้อยกว่าการผ่าตัด แต่ก็จะเสี่ยงทำให้เกิดแผลเป็นนูนแบบคีลอยด์ได้
• การผ่าตัด ถือเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการกำจัดเต้านมส่วนเกิน เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเต้านมเกินจำนวนมาก โดยขั้นแรกแพทย์จะทำการเปิดแผลบริเวณข้อพับของรักแร้ แล้วผ่าตัดเอาเนื้อส่วนเกินของเต้านมออก จากนั้นก็จะทำการปิดแผล ซึ่งจะทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ ยาว และทำให้เกิดโพรงบริเวณทางเดินของระบบน้ำเหลือง ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาในการพักรักษาและฟื้นตัวนานกว่า 6 เดือน
ข้อดี ของการผ่าตัดก็คือเห็นผลในการรักษาอย่างรวดเร็วและชัดเจน และไม่เกิดภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคจากเต้านมอีก
ข้อเสีย คือ อาจทำให้เกิดเป็นแผลเป็น และใช้เวลาในการพักฟื้นนาน ในส่วนภาวะแทรกซ้อนก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดทั่วไป ซึ่งเกิดได้น้อยมาก
เพราะว่าผู้หญิงทุกคนรักสวย จึงต้องมีการรักษาดูแลร่างกายเป็นอย่างดี แต่วิธีรักษาในแต่ละรูปแบบ ทั้งการร้อยไหม การดูดไขมัน หรือการผ่าตัดนั้น ต้องศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบให้ดีเสียก่อน ที่สำคัญต้องปรึกษากับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นจริงๆ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาน่าพอใจ ประสบผลสำเร็จ และไม่ต้องเสียเงินและเจ็บตัวซ้ำซ้อน แต่ในรายที่มีเต้านมส่วนเกินไม่มาก ขนาดไม่ใหญ่ และไม่มีอาการผิดปกติอื่นใด ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา หรือหากมมั่นใจในการใส่เสื้อผ้าก็อาจใช้วิธีการรักษาด้วยตัวเอง แม้จะใช้เวลานานหน่อย แต่ก็ไม่ต้องเจ็บตัวและเสียเงิน รวมทั้งไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาทางการแพทย์ด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือควรไปตรวจสอบกับแพทย์ให้แน่ชัดเสียก่อนว่า ใช้เต้านมส่วนเกินจริงหรือไม่ อย่าได้ชะล่าใจว่าเป็นเพียงเต้านมส่วนเกินธรรมดา เพราะอาจเป็นอย่างอื่นที่ร้ายแรง และต้องเข้ารับการรักษาก็ได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)