Haijai.com


ศัลยกรรมตกแต่ง ลูกกระเดือก


 
เปิดอ่าน 5699

ศัลยกรรมตกแต่ง ลูกกระเดือก

 

 

คำพูดติดปากที่ว่า อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ คงใช้ไม่ได้ในสมัยนี้สักเท่าไร เพราะขนาดมองลึกลงไปถึงลูกกระเดอกก็อาจทำให้เกิดความสับสนกันได้แล้วว่าใครเป็นใคร เพศไหนยังไงกัน แต่ก็ถือเป็นวิวัฒนาการที่น่าภูมิใจของมนุษย์เลยก็ว่าได้ เพราะเชื่อว่าใครหลายคน ไม่ว่าชายหรือหญิง (แท้-เทียม) คงเคยรู้สึกมีปัญหากับขนาดของลูกกระเดือกของตัวเอง หรือแม้แต่ปัญหาลูกกระเดือกที่เกินมาของบางคนด้วยแน่ๆ อย่าเพิ่งร้องไห้หนักไป เพราะลูกกระเดือกไม่เคยทำร้ายชีวิตเรามากมายขนาดนั้น

 

 

ลูกกระเดือกมีหน้าที่อะไร

 

ลูกกระเดือก คือ กระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนชิ้นใหญ่ที่สุดใน 9 ชิ้นทั้งหมดของกล่องเสียง และมักจะสังเกตเห็นได้ชัดมากในผู้ชาย เพราะกระดูกไทรอยด์ของผู้ชายจะใหญ่กว่าของผู้หญิงมาก กระดูกอ่อนนี้จะอยู่ในตำแหน่งต้นทางของหลอดลม และทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของกล่องเสียง

 

 

ลูกกระเดือกผู้หญิง กับ ลูกกระเดือกผู้ชาย ต่างกันตรงไหน

 

ใครใคร่ไม่ทราบว่าผู้หญิงเราเองก็มีลูกกระเดือกกับเขาด้วยเหมือนกันนะ เพียงแต่ลูกกระเดือกของผู้หญิงจะเล็กกว่าลูกกระเดือกของผู้ชาย ซึ่งมีสาเหตุดังนี้

 

 

ในช่วงแรกเกิดเลยนั้น ผู้หญิงและผู้ชายจะมีขนาดของกระดูกอ่อนไทรอยด์ที่เท่ากัน แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่เพิ่มขึ้นในเด็กผู้ชาย จะทำให้เสียงของพวกเขาทุ้มขึ้น และลูกกระเดือกก็จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นด้วย

 

 

ไขมันบริเวณลำคอของผู้หญิงนั้นมีมากกว่าในผู้ชาย จึงทำให้บดบังขนาดของลูกกระเดือก และด้วยเพราะกล่องเสียงของผู้ชายมีขนาดที่ใหญ่กว่าของผู้หญิง จึงทำให้ลูกกระเดือกนั้นยื่นออกมามากกว่าโดยปริยาย

 

 

กระดูกอ่อนไทรอยด์จะทำมุม 90 องศาในผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นกระดูกอ่อนจะทำมุมเอียงประมาณ 120 องศา จึงเป็นที่มาที่ลูกกระเดือกของผู้หญิงจะมีความนูนน้อยกว่าผู้ชาย แต่สำหรับผู้ชายบางคนที่มีปัญหาว่าตัวเองไม่มีลูกกระเดือก ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของแต่ละคนเท่านั้น

 

 

การผ่าตัดลูกกระเดือก

 

 ขั้นตอนแรก คนไข้ควรเตรียมตัวงดแอสไพริน (Aspirin) ไอบิวโพรเฟน (Ibuprofen) และวิตามินอี ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ และควรงดน้ำกับอาหาร 6 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ต่อมาแพทย์จะทำการประเมินว่าคนไข้แต่ละคนเหมาะสมที่จะใช้การวางยาสลบแบบใด เพราะสำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป กระดูกอ่อนไทรอยด์จะมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงเป็นความแข็ง เนื่องจากการสะสมของแคลเซียมที่เป็นไปตามวัย และจะทำให้การผ่าตัดทำได้ยากขึ้น ซึ่งบางกรณีที่คนไข้มีอายุมาก การฉีดยาชาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องการดมยาสลบเพิ่มด้วย

 

 

 ขั้นตอนที่สอง เมื่อแพทย์ทำการสรุปแล้วว่าคนไข้ควรได้รับยาสลบในรูปแบบใด ต่อมาแพทย์จะทำการวางตำแหน่งแผลที่จะผ่าตัด โดยจะประเมินด้วยการให้คนไข้แสดงอิริยาบถทั่วไป เช่น การนั่ง การยืน และมุมเงยหน้า ทั้งนี้เพราะแพทย์จะลงแผลให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงสุด เพื่อไม่ให้เป็นจุดสังเกตได้เมื่อเวลามองหน้าตรง ด้วยการซ่อนแผลไว้ที่ใต้คาง แต่ถ้าแผลอยู่ในตำแหน่งที่สูงเกินไป ก็อาจทำให้การผ่าตัดทำได้ยาก และเกิดความลำบากมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น แพทย์จึงต้องมีการประเมินที่รอบคอบว่าควรเปิดแผลและซ่อนแผลจากการผ่าตัดไว้ที่ระดับใด

 

 

 ขั้นตอนที่สาม แพทย์จะทำการเปิดเนื้อบริเวณกระดูกอ่อน โดยมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร สำหรับคนไข้ที่มีความแข็งของกระดูกไทรอยด์มาก แพทย์อาจจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือเสริม เช่น เครื่องกรอ และเครื่องมือตัดกระดูก เพราะในคนไข้ที่มีอายุมากจะพบว่ากระดูกไทรอยด์นั้น จะมีความแข็งมากขึ้น และสำหรับคนไข้ที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความแข็งของกระดูก แพทย์จะทำการผ่าตัดในขั้นตอนปกติ

 

 

 ขั้นตอนสุดท้าย แพทย์จะทำการเย็บปากแผลทั้งด้านในและด้านนอก ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดขั้นตอนการผ่าตัด อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญของการผ่าตัดลูกกระเดือกนั้น คือ ไม่ควรตัดกระดูกอ่อนชิ้นเนื้อออกไปมาก เพราะอาจมีอันตรายต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาทกล่องเสียงได้ รวมระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง ทั้งนี้คนไข้จะต้องนอนพักฟื้นอยู่บ้านเป็นเวลา 1-2 วัน จึงจะสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ

 

 

วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

 

ควรงดใช้เสียงในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด และดูแลบาดแผลให้แห้งสนิท โดยวันแรกที่คนไข้เปิดพลาสเตอร์ปิดแผลออก ให้ใช้ครีมแก้อักเสบทาบริเวณแผลเช้าเย็น

 

 

ทั้งนี้แพทย์จะนัดทำการตัดไหมหลัง 5 วัน ที่ได้ทำการผ่าตัดแล้ว คนไข้จะมีแผลเป็นบริเวณลำคออยู่ประมาณ 1 เดือนแรก หลังจากนั้น แผลจะจางลง สัปดาห์ที่ 2-4 หลังผ่าตัด ควรมีการนวดบริเวณลำคอด้วยครีม เพื่อเป็นการลดความตึงของแผล และตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 หลังผ่าตัด จะสามารถทารักษาแผลเป็นด้วยครีมกันแดด วิตามินอี หรือครีมบำรุงต่างๆ ได้ตามปกติ

 

 

ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน

 

ในช่วงหลังจากผ่าตัดประมาณ 3-5 วัน คนไข้จะมีอาการกลืนยาก และอาจมีอาการเสียงแหบ หรือเสียงเปลี่ยนไปอย่างถาวรก็มี เพราะมีสาเหตุมาจากการผ่านกระดูกอ่อนเพื่อลดขนาดของลูกกระเดือกที่มากเกินไป อย่างไรก็ตามอาการแทรกซ้อนดังกล่าว จะลดลงได้ตามลำดับขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดนั่นเอง

(Some images used under license from Shutterstock.com.)