
© 2017 Copyright - Haijai.com
“ดังนอกบ้าน” กลเม็ดจัดการคุณหนูจอมแผดเสียง
“คุณตา!!!!!! ปล่อยหนูไป” เจ้าตัวเล็กส่งเสียงแหลมสูง เมื่อคุณตาพยายามจะอุ้มหนูน้อยให้ห่างจากร้านของเล่น “จาอาวของเล่นน!!!” เจ้าตัวดียังไม่วายแผดเสียงพร้อมเตะต่อยขาอย่างสุดฤทธิ์ คุณตาได้แต่มองไปรอบๆ ไม่เพียงแต่อายคนรอบข้าง แต่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับหลานรักอย่างไรดี ที่จู่ๆ หนูน้อยกลายเป็น คน(เสียง)ดังนอกบ้านไปได้ ว่าแล้วลองมาหาคำตอบกันดีค่ะว่า อาการแผดเสียง กรีดร้องทุกครั้งที่ออกนอกบ้านนั้นมีสาเหตุจากอะไร
กรี๊ดทำไม ใครบอกที
อาการกรี๊ดกร๊าดของลูกนั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรำคาญให้กับคุณหรือคนรอบข้าง (แม้ว่าบางครั้งคุณจะรู้สึกอย่างนั้นก็เถอะ) แต่ทั้งนี้เป็นเพราะหนูน้อยรู้สึกว่าโลกนี้มันช่างน่าตื่นตาตื่นใจต่างหาก กระทั่งพลังเสียงของเจ้าตัวเล็กเองก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเช่นกัน แล้วทำไมจะต้องทำเสียงเบาๆ เมื่อคุณแม่พาไปเที่ยวนอกบ้านด้วยล่ะ นอกไปจากนี้ หากเจ้าตัวดีได้รับความสนใจทุกครั้งที่ทำเสียงดังในที่สาธารณะ ก็มีความเป็นไปได้ที่ลูกอาจจะยิ่งใช้วิธีนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณด้วย หนูน้อยอาจกำลังจะบอกคุณว่า “แม่หันมามองหนูสิ” หรือบางครั้งหนูน้อยบางคนก็กรีดร้องเพราะถูกขัดใจ และเสียงร้องนั้นก็เพื่อจะสื่อว่า “หนูอยากกินลูกอม ให้หนูกินเดี๋ยวนี้นะ!!”
จัดการอย่างไร กับวายร้ายจอมแผดเสียง
การตวาดกลับหรือทำเสียงดังเข้าสู้กับคุณหนูจอมแผดเสียงไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นค่ะ น่าจะดีกว่าหากคุณหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้หนูน้อยเร่งเสียงให้ดังขึ้น รวมทั้งเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อรู้สึกว่าเสียงของลูกเริ่มดังขึ้นทุกที วิธีง่ายๆ ต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับวายร้ายจอมแผดเสียงได้ง่ายขึ้นค่ะ
• กินอิ่ม นอนหลับ การป้องกันวิธีแรกที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ ให้เจ้าตัวเล็กพักผ่อนให้เพียงพอ กินให้อิ่ม และขับถ่ายให้ร่างกายโล่งสบาย ตราบใดที่หนูน้อยรู้สึกสบายเนื้อสบายตัว โอกาสที่เขาจะงอแงหรือเรียกร้องความสนใจก็จะลดลง
• กลบเสียงดัง ด้วยเสียงดังกว่า หากคุณรู้ว่าเจ้าตัวเล็กมักกรี๊ดกร๊าดเมื่อออกไปนอกบ้าน ก็ลองพยายามหลีกเลี่ยงร้านอาหารทางการที่มักมีบรรยากาศเงียบสงบ แล้วเลือกร้านอาหารสำหรับครอบครัวแทน เพื่อที่คุณจะได้ไม่รู้สึกขายหน้าหากจู่ๆ เจ้าตัวดีก็เกิดแผดเสียงขึ้นมา รวมทั้งคุณอาจรู้สึกดีขึ้นที่พบว่ายังมีหนูน้อยบ้านอื่นที่เสียงดังกว่าลูกคุณอีกตั้งเยอะ
• หรี่เสียงๆ หากเจ้าตัวเล็กส่งเสียงดังเพราะกำลังสนุกหรือมีความสุข พยายามอย่าดุว่า แต่ควรขอร้องให้ลูกหรี่เสียงลง ด้วยเสียงสงบแผ่วเบา เพื่อที่ว่าลูกจะต้องหยุดเสียงดังเพื่อตั้งใจฟังคุณ ลองบอกกับลูกว่า “แม่รู้ว่าลูกกำลังสนุกแต่ลูกส่งเสียงดังเกินไป และมันทำให้แม่รู้สึกปวดหัวมาก”
• ชวนลูกสังเกตความรู้สึก หากคุณรู้สึกว่าเจ้าตัวเล็กแผดเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ ลองถามตัวเองดูสิว่าน่าจะมาจากการที่หนูน้อยรู้สึกไม่สบายตัว หรือเป็นเพราะรู้สึกดีมากๆ กันแน่ หากคุณคิดว่าสภาพแวดล้อมที่คุณอยู่ในขณะนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมแผดเสียงของลูก เช่น ซุปเปอร์มาร์เกตที่คนพลุกพล่าน คุณก็ควรรีบซื้อของให้เสร็จและออกจากบริเวณนั้น ครั้งต่อไปลองพาลูกไปซื้อของในที่ที่คนน้อยกว่าและดูซิว่าเจ้าตัวเล็กยังส่งเสียงดังอีกไหม? แต่ถ้าคุณคิดว่าลูกแผดเสียงเพราะรู้สึกเบื่อ ลองพูดกับลูกอย่างสงบว่า “แม่รู้ว่าลูกเบื่อ และอยากกลับบ้าน รอให้แม่ซื้อของให้เสร็จ แล้วเดี๋ยวเราก็จะได้กลับบ้านกันแล้วจ๊ะ” ไม่เพียงแต่คุณจะทำให้ลูกรู้ว่าคุณก็ใส่ใจความรู้สึกของเขา แต่ยังเป็นวิธีการสอนอย่างอ้อมๆ ให้หนูน้อยรู้จักการแสดงความรู้สึกด้วยการพูดดีๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากคุณรู้ว่าลูกแผดเสียงเพราะต้องการบางสิ่งบางอย่าง อย่า! ให้สิ่งนั้นกับลูก ในทางกลับกันคุณควรจะพูดดีๆ ว่า “แม่รู้ว่าลูกอยากได้ของเล่น แต่ลูกต้องรอให้แม่เสร็จธุระแล้วเราจะคุยเรื่องการซื้อของเล่นกัน”
• อย่าปล่อยให้ลูกว่าง การที่คุณหาโน่นหานี่มาให้เจ้าตัวเล็กทำไปเพลินๆ ขณะที่คุณวุ่นอยู่กับธุระ ก็น่าจะช่วยให้ลูกสงบสติอารมณ์ลดการแผดเสียงได้ค่ะ ซึ่งเราขอแนะนำกิจกรรมง่ายๆ ต่อไปนี้
- ใคร ทำอะไร ที่ไหน? ขณะที่คุณพาลูกออกไปนอกบ้านเพื่อทำธุระ ลองใช้วิธีพูดคุยบอกลูกถึงสิ่งที่คุณกำลังทำ เช่น “ตอนนี้เรามาที่ธนาคารนะจ๊ะ เดี๋ยวแม่ต้องไปติดต่อเคาน์เตอร์ตรงนั้น ลูกต้องเงียบๆ คอยฟังนะว่าพี่คนสวยที่เคาน์เตอร์จะถามแม่ว่าอะไร” วิธีนี้อาจจะเรียกความสนใจของเจ้าตัวดีให้มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่คุณทำไปด้วย หรือหากไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เกตคุณก็อาจให้ลูกช่วยมองหาสิ่งที่ต้องการ เช่น “แม่กำลังอยากได้ขนมปังซักปอนด์หนึ่ง เรามาแข่งกันนะว่าใครจะเจอขนมปังก่อน” เป็นต้น
- ของเล่น ของว่าง ต้องแน่ใจว่าคุณได้ให้ของเล่นและของว่างกับลูกก่อนที่เขาจะแผดเสียงร้องเท่านั้นนะคะ เพราะหากว่าคุณให้หลังจากที่ลูกส่งเสียงดัง นั่นก็เท่ากับว่าคุณกำลังส่งเสริมพฤติกรรมแผดเสียงนี้ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าเมื่อแผดเสียงแล้วเขาจะได้ของเล่น ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หากของว่างสำหรับเจ้าตัวเล็กคือซีเรียล ลองส่งให้ลูกทั้งกล่อง เพื่อให้หนูน้อยสาละวนอยู่กับการแกะกล่องขนมจนลืมที่จะแผดเสียงป่วน หรือนำของเล่นชิ้นโปรดที่ลูกเล่นได้นานๆ เวลาไปไหนต่อไหน ก็น่าจะยื้ดเวลาได้สักระยะค่ะ
• อย่าสนใจสายตาคนอื่น หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกลำบากใจเมื่อเจ้าตัวดี มีอาการ “ดังนอกบ้าน” คือแผดเสียงทุกครั้งที่พาไปไหนต่อไหน ทำให้ใครๆ หันมามองเป็นตาเดียว จนคุณอายแทนลูก แต่เชื่อเถอะคะว่า ไม่ใช่คุณคนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น หลายคนที่มองคุณก็อาจเคยอยู่ในสถานการณ์เดียวกับคุณก็เป็นได้ เพียงแต่ว่าวันนี้เขาไม่ได้พาเจ้าตัวดีมาด้วยก็เท่านั้น รวมทั้งคนอื่นๆ ก็มีธุระที่ต้องทำ เขาคงไม่มาหยุดมองและใส่ใจกับการแผดเสียงของเจ้าตัวดีมากเกินกว่า 5 วินาทีหรอกค่ะ หากคิดได้อย่างนี้คุณอาจรู้สึกดีขึ้นและไม่ต้องหัวเสียใส่ลูกที่ทำให้คุณต้องอาย หากคุณอยู่ในสถานที่ที่ต้องการความเงียบเช่นในวัด หรือร้านอาหาร ก็เพียงแค่พาลูกออกไปนอกบริเวณสักพัก แต่หากเป็นห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ฯลฯ ก็ไม่จำเป็นที่คุณต้องสนใจสายตาคนอื่น ไม่เขาเลิกมอง ก็ลูกคุณเลิกร้องก็เท่านั้นเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)