Haijai.com


ภาวะช่องคลอดแห้ง วัยสาวใกล้หมดประจำเดือน


 
เปิดอ่าน 6210

สาวใหญ่วัย (ใกล้) หมดระดู

 

 

สังขารไม่เที่ยงหนอ พ้นวัยสาวไป วัยผู้ใหญ่ก็เดินเข้ามา อายุที่มากขึ้นผิวพรรณที่เปลี่ยนไป สภาพร่างกายที่โรยราเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนห้ามปรามไม่ได้ ยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยทองแล้วล่ะก็ใครๆ ก็เพรียก หาว่าเป็นวัยใกล้ฝั่ง อารมณ์แปรปรวน จะออกแนวอินดี้วัยเก๋าไปสักหน่อย ไม่ต้องหัวเราะไป เพราะความแก่จะเข้าใครออกใครกับทุกคน

 

 

แบบไหนที่เรียกว่า “วัยทอง”

 

ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองจะสังเกตได้จากประจำเดือน  ซึ่งมีสาเหตุมาจากรังไข่มีการทำงานน้อยลง ส่งผลให้ผู้หญิงในวัยนี้มีความแปรปรวนทางด้านอารมณ์มากกว่าผู้หญิงวัยอื่น โดยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงวัยทองจะเริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปี มาเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ร่วมด้วยเช่น กรรมพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการบริโภคอาหารด้วย เพราะในกรณีผู้ที่บริโภคอาหารที่มีแคลอรี่สูง อาจทำให้ประจำเดือนหมดช้า หรือผู้ที่เคยมีการผ่าตัดเอามดลูกออก และผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง จะส่งผลกระทบให้มีการหมดประจำเดือนที่เร็วขึ้นได้

 

 

หลังหมดประจำเดือนประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ผู้หญิงจะเจอกับภาวะ “เลือดจะไป ลมจะมา” ซึ่งเป็นภาวะเริ่มต้นของผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยทอง โดยจะมีอาการวูบวาบเหงื่อออกมากผิดปกติ เนื่องมาจากสมองในส่วนที่คอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายเริ่มทำงานผิดปกติ เพราะขาดฮอร์โมน เพศหญิงหรือเอสโตรเจนนั่นเอง

 

 

ลักษณะที่เปลี่ยนไปในวัยหมดฮอร์โมน

 

อาการของผู้ที่หมดฮอร์โมน มักจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ และมักจะเกิดหลังจากหมดประจำเดือนใหม่ๆ ซึ่งจะมีอาการดังนี้

 

 มีอาการร้อนๆ หนาวๆ ในช่วงบริเวณส่วนบนของร่างกาย บางครั้งถึงกับหน้าแดงและมีเหงื่อออกพร้อมอาการหนาวสั้น

 

 

 มีอารมณ์แปรปรวน เช่น อาการซึมเศร้า โกรธง่ายฉุนเฉียวบ่อย ขี้น้อยใจและนอนไม่ค่อยหลับ เริ่มมีอาการหลงลืม หรือความจำเสื่อมลง โดยเฉพาะความจำในระยะสั้นๆ มักจะมีอาการหลงลืมไปชั่วขณะ

 

 

 มีอาการช่องคลอดแห้ง หรืออาจติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย ผิวพรรณแห้ง ปัสสาวะบ่อย และมักจะปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม อีกทั้งยังไม่สามารถอั้นปัสสาวะได้แบบแต่ก่อน เพราะหูรูดสูญเสียการทำงานที่ปกติไป อันเนื่องมาจากภาวะการขาดฮอร์โมน

 

 

หมดเร็วหรือช้า แบบไหนปลอดภัยกว่ากัน

 

สำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หรือเริ่มขาดฮอร์โมนเพศหญิง ก่อนอายุ 40 ปี ถือว่าผิดปกติ ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพราะนั่นอาจหมายถึงคุณกำลังมีโรคแฝงติดตัวอยู่ก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (โรคเอสแอลอี) ซึ่งจะต้องมีการรักษาเฉพาะโรค แบบในภาวะที่หมดประจำเดือน อาจส่งผลทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น คอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และพบภาวะช่องคลอดแห้ง หรือมีปัญหาต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้

 

 

อาการช่องคลอดแห้ง

 

โดยปกติแล้วช่องคลอดของผู้หญิงจะมีสารหล่อลื่น ซึ่งมีลักษณะเหนียวใส สีมุกขุ่นๆ ที่มีหน้าที่ในการช่วยให้เชื้ออสุจิเข้าไปผสมกับรังไข่ได้ง่ายขึ้น และช่วยลดการเสียดสีไม่ให้อวัยวะเพศของทั้งสองฝ่ายถลอก หรือฉีกขาด และปัญหาที่สามารถพบได้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ไปจนถึงวัยสาวใกล้หมดประจำเดือน ก็คือ ภาวะช่องคลอดแห้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากสุขภาพของช่องคลอดเริ่มเสื่อมนั่นเอง

 

 

จากผลสำรวจพบว่าผู้หญิงกว่า 70% จะมีปัญหาของภาวะช่องคลอดแห้ง เนื่องจากเนื้อเยื่อของช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะฝ่อตัวลง จึงทำให้เกิดอาการช่องคลอดแห้ง โดยช่องคลอดจะมีลักษณะแคบตีบลง และมีความยืดหยุ่นลดลง แข็งเกร็งมากขึ้นจนทำให้มีเพศสัมพันธ์ได้ลำบากมากขึ้น ซึ่งแพทย์จะมีการช่วยรักษาอาการนี้ด้วยการใช้ยา หรือครีมทาที่ช่องคลอด ตามความเหมาะสมของสภาพช่องคลอดในแต่ละคน

 

 

จำเป็นหรือไม่ต้องใช้ “ฮอร์โมนทดแทน”

 

 ฮอร์โมนทดแทน คือ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดสกัดจากธรรมชาติ (Bio-identical Hormone) ที่มีโครงสร้างเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าการให้ฮอร์โมนเอสโรเจน จำเป็นต่อคนไข้แต่ละรายหรือไม่ ซึ่งจะมีการใช้ก็ต่อเมื่อพบว่า ร่างกายขาดฮอร์โมนนี้ในระดับกลางถึงระดับที่มาก ถ้ามีระดับเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนวิธีการดำรงชีวิต รวมถึงการควบคุมอาหารก็จะสามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ส่วนใหญ่แพทย์มักจะแนะนำให้คนไข้ใช้ฮอร์โมนในรูปแบบรับประทาน เพราะใช้ได้ง่ายแต่รูปแบบนี้อาจส่งผลให้ผู้ที่เคยมีอาการปวดหัวไมเกรน มีอาการปวดหัวบ่อยมากขึ้น ทั้งนี้ยังมีรูปแบบของการใช้ฮอร์โมนทดแทนในแบบต่างๆ เช่น แบบเจลครีมทาผิวหนัง โดยเป็นตัวฮอร์โมนสองชนิดผสมกัน และครีมทาช่องคลอดแบบมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการช่องคลอดแห้ง หรือแบบแผ่นแปะผิวหนังด้วย

 

 

 ผลที่ได้หลังการใช้ฮอร์โมนทดแทน คือ ผู้ป่วยจะคลายอาการซึมเศร้า เหนื่อยง่าย ใจสั่น ลดอาการผิวหนังอักเสบ ช่วยเพิ่มระดับความจำที่ดีและมีสมาธิมากขึ้น อย่างไรก็ตามการรับประทานฮอร์โมนทดแทนนี้ จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสุขภาพของแต่ละคน

 

 

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับฮอร์โมนทดแทน

 

ฮอร์โมนไม่ได้ทำให้ผิวกลับมาเต่งตึง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฮอร์โมนจะเข้าไปทำหน้าที่ให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกายทำงานช้าลง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำให้สาวขึ้น ถึงขนาดเห็นได้ชัดว่าเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เช่น ในกรณีที่ผิวพรรณเหี่ยวย่น ฮอร์โมนก็จะช่วยทำให้ผิวไม่เหี่ยวเร็วไปกว่าเดิม

 

 

เมื่อถึงวัยทองต้องทานฮอร์โมนทดแทน คนสูงอายุบางคนก็ไม่จำเป็นต้องทานฮอร์โมนทดแทน เพราะหากเป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และออกกำลังกายเป็นประจำ รวมไปถึงคนที่ไม่มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ ก็ถือว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆ จนต้องพึ่งพาฮอร์โมนทดแทน

 

 

เลือกทานของดีมีประโยชน์

 

ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ธัญพืช แบล็กเคอร์แรนต์ ผัก น้ำมันงา แปะก๊วย และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ควรงดทานกาแฟ ช็อคโกแลต แอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้มีผลต่ออารมณ์ที่แปรปรวนได้ ทั้งนี้คนวัยทองควรหมั่นออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพ และทานน้ำเปล่าเยอะๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อช่วยลดปัญหาในการขับถ่าย

 

 

การดูแลเอาใจใส่คนสูงอายุจากคนในครอบครัว หรือคนรอบข้าง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สภาพจิตใจของคนวัยทองแข็งแรง และส่งผลต่อสุขภาพที่ดีตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองก็เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่วัยทองควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะสิ่งดีๆ มักจะเริ่มต้นจากตัวเราก่อนเสมอนะคะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)