© 2017 Copyright - Haijai.com
กัญชาช่วยรักษาโรคซึมเศร้า
มนุษย์ทุกยุคล้วนเป็นทุกข์เพราะความคิด เมื่อใดที่หยุดคิดก็อาจจะหยุดทุกข์ การที่จะทำให้คนๆ หนึ่ง หยุดคิดทุกอย่างเลย ก็ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าจะให้คนๆ หนึ่ง ลองปรับทัศนคติของความคิดซะใหม่ คงดูเป็นเรื่องที่สามารถจะเป็นไปได้ง่ายกว่า เพราะความทุกข์ไม่เคยให้คุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายเลย มีแต่จะทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่และกำลังใจอ่อนแอลงทุกวัน นักคิดวิเคราะห์ทั้งหลายจึงพยายามเสาะหาของดี เพื่อช่วยคลายทุกข์ให้มนุษยชาติในรูปแบบต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่นำกัญชามาทดลอง
เมื่อพูดถึง “กัญชา” ใครหลายคนคงจะนึกถึงสารเสพติดที่มีแต่ให้โทษรุนแรง เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้กัญชามักจะมีอาการล่องลอย ความคิดสับสน ประสาทหลอน และควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งหากมีการเสพในปริมาณที่มากขึ้น หรือมีการใช้เป็นประจำจนมากเกินไป ก็อาจส่งผลทำให้จิตเสื่อมและกลายเป็นโรคจิตได้ จุดเด่นที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทและจิตใจนี้เอง ที่ทำให้นักวิจัยมีความคิดในมุมกลับว่า หากนำกัญชามาเข้ากระบวนการที่ถูกต้อง สิ่งเสพติดที่มีแต่โทษที่ว่า ก็อาจจะช่วยบรรเทาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับความคิดและจิตใจของผู้ป่วยได้ อย่างเช่น โรคซึมเศร้านั่นเอง
อาการของโรคซึมเศร้า
ลักษณะของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป เรียกว่าเป็นการสะสมอาการป่วยของโรค แต่อาจจะเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เจอเหตุการณ์ที่กระทบกรเทือนรุนแรงต่อจิตใจ หรือบุคลิกลักษณะนิสัยส่วนตัวของแต่ละคน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความสมดุลของสารเคมีในร่างกาย ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีผลต่ออารมณ์ซึมเศร้าของคนด้วย
ทั้งนี้จะมีอาการอื่นๆ ให้สังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น จะมีความรู้สึกเบื่อ เศร้า ท้อแท้บ่อยๆ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และนอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ข้อควรสังเกตสำคัญของคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าคือ
• อารมณ์เปลี่ยนแปลง เป็นข้อสังเกตหลักที่พบได้กับทุกคนที่เป็นโรคนี้ โดยจะมีความรู้สึกหดหู่ ร้องไห้บ่อย สะเทือนใจง่าย ในบางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าที่ชัดเจน แต่มักจะบอกว่าตนเองจะรู้สึกหม่นหมองไม่แจ่มใสหรือไม่รู้สึกสดชื่น มีการพบปะผู้คนน้อยลง ไม่ค่อยอยากทำอะไร เพราะรู้สึกเบื่อและไม่สบายใจไปซะหมด
• ความคิดที่เปลี่ยนไป จะมีความคิดที่ติดลบกับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา คิดว่าตัวเองไร้ค่าจนกลายเป็นคนที่หมดความมั่นใจในตัวเอง ไม่สามารถตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองได้
• มีสมาธิความจำต่ำลง โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ เช่น ลืมของที่ตัวเองเคยวางของไว้ นึกเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นา แบบแต่ก่อน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
• สุขภาพร่างกายไม่เหมือนเดิม ผู้ป่วยมักจะมีความรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง มักจะพบร่วมกับความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร รวมไปถึงอาการนอนหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หรือนอนตื่นเช้ามืด แล้วหลับต่อไม่ได้
หากแพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีอาการของโรคซึมเศร้า ก็จะทำการรักษาโดยการให้ยาขนาดต่ำก่อน แล้วจะเฝ้าดูอาการหลังจากนั้นไปอีก 1-2 สัปดาห์ หากผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียงหลังได้รับยาก็จะมีการปรับขนาดยาไปทุกๆ 1-2 สัปดาห์
กัญชากับจิตใจ
จากการศึกษาได้ระบุว่า ปกติแล้วร่างกายของคนเราจะผลิตสารเคมีชนิดหนึ่งขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารเคมีที่คล้ายกันกับสาร Cannabinoids ซึ่งมีอยู่ในกัญชา โดยมีความเกี่ยวข้องต่อความรู้สึกอยากอาหาร ความจำ อารมณ์และความรู้สึกเจ็บปวดต่อร่างกาย และได้มีการอธิบายต่อว่าสารดังกล่าว สามารถฆ่าเซลล์มะเร็ง เซลล์เนื้องอกและปกป้องอวัยวะที่อยู่รอบๆ บริเวณนั้นได้ หากได้รับเข้าไปในปริมาณที่พอดี อีกทั้งร่างกายของคนเรก็มีสาร Endocannabinoids ที่มีฤทธิ์คล้ายกันในกัญชา ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายความจำดี เจริญอาหาร ลดความรู้สึกปวดและความเครียดได้ ซึ่งความเครียดนี่เองที่จะส่งผลทำให้บุคคลนั้น เกิดเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามผลสรุปนี้ ยังคงเป็นการทดลองที่เกิดขึ้นกับหนู จึงยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า กัญชาจะให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันในร่างกายคน หรือไม่
การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยกัญชา ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงการแพทย์ ว่าจะสามารถทำไดจริงหรือไม่ ซึ่งปัญหาสำคัญที่ยังคงเป็นประเด็นในการเลือกใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าก็คือ สายพันธุ์ของกัญชาที่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้อย่างแท้จริง เพราะอย่างที่ทราบกันว่า กัญชามีโทษอยู่มาก หากได้รับในปริมาณที่สูงหรือถึงขั้นเสพติด ก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ ร่างกาย และประสาทโดยตรง
สาระกัญชา จากการวิจัย
• ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด เนื่องจากกัญชาจะเข้าไปช่วยขยายหลอดลม และลดการหดตัวของหลอดลม
• บำบัดมะเร็ง ผลจากการรักษาได้ระบุว่า เมื่อใช้กัญชาร่วมกับยารักษาโรคมะเร็ง จะช่วยให้ชะลอการเติบโตของเนื้อมะเร็งได้ และยังสามารถลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วย ที่ได้รับการเคมีบำบัดอีกด้วย
• รักษาต้อหิน กัญชาจะทำให้ความดันของลูกนัยน์ตาลดลงได้ดีผ่านการกิน ซึ่งมีผลมาจากฤทธิ์กล่อมประสาท แต่กัญชาไม่ได้ช่วยให้การรักษาหายขาด แต่จะช่วยยับยั้งไม่ให้มีอาการที่ร้ายแรงไปกว่าเดิม ทั้งนี้ได้เคยมีการทดลองใช้กัญชาในรูปแบบของยาหยอดตา แต่ก็ไม่พบว่ามีประสิทธิภาพ
โทษจากกัญชา
แม้ว่ากัญชามีประโยชน์ที่เหลือเชื่ออยู่มาก แต่หากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากจนเกินไป ก็จะทำให้เกิดกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างจัง ไม่ว่าจะเป็นภาวะร่างกายเสื่อมโทรม ทำลายความรู้สึกทางเพศ และแม้ว่าจะมีการระบุว่าการใช้กัญชาจะไม่ทำให้เกิดมะเร็งปอดเหมือนการสูบบุหรี่ แต่ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ที่มีจำนวนมากเกินความพอดี ก็มักจะส่งผลร้ายในภายหลังได้เสมอ
ถือเป็นการค้นพบยาวิเศษชนิดใหม่เลยก็ว่าได้ เพราะส่วนมากคนมักจะมองว่ากัญชาคือยาเสพติดที่มีแต่โทษ และแม้จะเป็นข่าวดีว่ากัญชาก็ยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์อยู่บ้าง แต่การใช้กัญชาในการรักษาโรคซึมเศร้า ก็ยังไม่เป็นที่รับรองจากกลุ่มแพทย์ว่าจะสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาได้อย่างเป็นทางการ และแม้มีการยืนยันว่ากัญชามีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ขั้นตอนการรักษาทั้งหมด ก็ควรที่จะอยู่ในความดูแลจากแพทย์ ไม่ใช่ทำการรักษาด้วยตนเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)