© 2017 Copyright - Haijai.com
คอนแทคเลนส์ รักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD) คือ อาการผิดปกติทางด้านวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้สาเหตุหลักมักมาจากอายุที่มากขึ้น เป็นอาการที่พบได้มากในกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมไปถึงสาเหตุจากการสูบบุหรี่ ลักษณะม่านตาสีอ่อน (Light Iris Coloration) แสงแดด การกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ และกรรมพันธุ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าโรคจอประสาทตาเสื่อมจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสี่ยงต่ออาการตาบอดแล้ว ยังเกิดความบั่นทอนต่อประสิทธิภาพการทำงานของดวงตาในเรื่องของการใช้งาน เช่น การจดจำใบหน้า ขับรถ การเขียน การอ่าน และกิจกรรมอื่นๆ
นวัตกรรมใหม่ล่าสุดนี้ ถูกคิดค้นจากกลุ่มสมาคมอเมริกัน เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (AAAS) โดยหนึ่งในทีมผู้พัฒนานวัตกรรมเลนส์สำหรับรักษาจอประสาทตาเสื่อมนี้ได้กล่าวว่า พวกเขาได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ล้ำสมัยนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางด้านวิสัยทัศน์ในการมอง รวมไปถึงในกลุ่มของผู้สูงอายุด้วย และแม้ในปัจจุบันอุปกรณ์ชิ้นนี้จะยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย แต่พวกเขาก็มีความหวังและมั่นใจว่า คอนแทคเลนส์ตัวใหม่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนทั่วโลกในไม่ช้า เพราะด้วยคุณสมบัติของคอนแทคเลนส์ที่สามารถขยายวัตถุตรงหน้าได้มากขึ้น 2.8 เท่า โดยมีหลักการจากการตกกระทบของแสงบนเลนส์ แล้วทำหน้าที่สะท้อนแสงเหล่านั้นออกบริเวณรอบตัวคอนแทคเลนส์ จนเกิดมุมมองของภาพใหม่ ทำให้เรามองเห็นวัตถุนั้นมีขนาดที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยข้อมูลจากสิ่งที่เราเห็นจะถูกส่งต่อไปยังจอประสาทตาผ่านเส้นประสาท ในรูปแบบของกระแสไฟฟ้า และในช่วงเวลาที่กระแสไฟฟ้าทำการส่งข้อมูลไปยังสมอง ก็จะดัดแปลงข้อมูลเหล่านั้นให้กลายเป็น “ภาพ” ให้เราเห็นนั่นเอง
พวกเขาเรียกคอนแทคเลนส์ตัวใหม่นี้ว่า “นวัตกรรมสุดล้ำ” ซึ่งได้รับทุนจาก The Pentagon (สำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา) ในการสนับสนุนงานวิจัยนี้ เพราะการพัฒนานวัตกรรมสุดล้ำนี้ ไม่ใช่แต่เพียงการช่วยสร้างความสะดวกสบายแก่คนสูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาทางสายตาเท่านั้น พวกเขายังออกแบบคอนแทคเลนส์นี้ให้เหมาะกับการใช้งานในหน่วยทหารอีกด้วย และด้วยความตั้งใจที่ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานในทางทหาร พวกเขาจึงต้องคำนึงถึงราคาที่ประชาชนทั่วไปจะต้องสามารถหยิบซื้อได้เช่นกัน
ทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายของงานวิจัยนี้ว่า พวกเขาจะช่วยให้คนกว่า 285 ล้านคน กลับมามีวิสัยทัศน์และศักยภาพในการมองที่ดีขึ้น โดยพวกเขาจะเริ่มทำการทดลองคอนแทคเลนส์นี้ในปี 2016 ร่วมกับทีมวิจัยจากปารีส อย่างไรก็ตามผลของการพัฒนาคอนแทคเลนส์หรือ “นวัตกรรมสุดล้ำ” โดยผ่านสัตว์ทดลองอย่าง “หนู” ที่สายตาไม่ดีหรือตาบอด ก็พบว่าจำนวนของหนูกว่าครึ่งสามารถกลับมามีวิสัยทัศน์ที่ดี ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าและแนวโน้มที่ดีต่อจุดประสงค์ในการพัฒนาคอนแทคเลนส์นี้ต่อไป
ถ้าการทดลองนี้ประสบความสำเร็จจริงๆ ก็นับว่าเป็นผลงานที่สร้างสรรค์แห่งยุคเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะแปลกใหม่และใช้ได้จริงแล้ว ทีมวิจัยกลุ่มนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีปัญหาทางด้านสายตาอย่างจริงจัง ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือคนที่ได้อย่างสร้างสรรค์และเหลือล้ำมากจริงๆ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)