Haijai.com


ทารกนอนหลับกลางวัน สำคัญจริงหรือ?


 
เปิดอ่าน 25042

นอนกลางวัน สำคัญจริงหรือ?

 

 

มีคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อย ที่พิศวงงงงวยกับการนอนของเจ้าตัวเล็ก โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกๆ ที่หนูน้อยหลับได้หลับดีในเวลากลางวัน แต่มักจะงอแงในเวลากลางคืน ผ่านไปสัก 2-3 เดือน ระยะเวลาการนอนของลูกก็เปลี่ยนไปอีก ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ปรับตัวไม่ทัน ในขณะที่หนูน้อยบางส่วนก็ไม่ยอมนอนกลางวันเอาเสียเลย จนทำให้พ่อแม่(อีกนั่นแหละ) เป็นกังวลว่าการที่หนูน้อยไม่นอนกลางวัน แต่หลับฝันหวานยามกลางคืนนั้นจะเป็นอะไรหรือเปล่า ??

 

 

เข้าใจกันก่อน เรื่องนอนของลูก

 

พ่อแม่หลายคนคงอดที่จะเหนื่อยใจไม่ได้ ที่กล่อมให้ทารกนอนหลับไม่ทันไรผ่านไปแค่ครึ่งชั่วโมงเจ้าตัวดีก็ตื่นมาโยเยอีกแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวงจรการนอนของเบบี๋สั้นกว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ ค่ะ เวลานอนของทารกโดยทั่วไปมักจะอยู่ที่ประมาณ 50-60 นาที เท่านั้นเอง และในช่วงขวบปีแรกคุณจะพบการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการนอนของลูกตามแต่ละช่วงวัย ดังต่อไปนี้

 

 ทารกแรกเกิด ใช้เวลานอนประมาณวันละ 16-20 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลานี้รวมถึงการนอนกลางวันด้วย อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยหยอกล้อเล่นกับลูกหลังจากให้อาหารสักพัก เพื่อที่ทารกจะได้ไม่ติดนิสัยว่าจะต้องกินก่อนจึงจะนอนหลับได้ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อไปเมื่อหนูน้อยโตขึ้น

 

 

 หนูน้อยวัย 2 เดือน วัยนี้นับเป็นช่วงเวลาดีที่จะเริ่มต้นให้หนูน้อยได้ฝึกการนอนหลับด้วยตัวเอง หากเจ้าตัวเล็กร้องไห้เมื่อคุณวางเขาลงบนที่นอน นั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาค่ะ คุณอาจจะลองปล่อยให้ลูกร้องอยู่สัก 2-3 นาที เพื่อเปิดโอกาสให้หนูน้อยได้ฝึกปลอบประโลมตัวเอง หากลูกยังร้องไห้งอแง ลองตบก้นเบาๆ ลูบหลัง หรือลูบศีรษะเจ้าตัวน้อยเบาๆ พร้อมส่งเสียงกล่อม หนูน้อยก็จะสงบได้เองในที่สุด โดยที่คุณไม่ต้องอุ้มเขาขึ้นมาค่ะ

 

 

 เจ้าตัวเล็ก 3-6 เดือน เมื่อย่างเข้าวัยนี้ คุณจะพบว่าลูกนอนกลางวันน้อยลง โดยทั่วไปหนูน้อยอาจจะนอนกลางวันแค่สองหรือสามครั้ง คุณควรพยายามอย่าให้ลูกนอนหลับในช่วงบ่ายแก่ๆ หรือประมาณหลัง 4 โมงเย็น เพื่อจะได้ฝึกให้ลูกเข้านอนตอนกลางคืนได้เป็นเวลา และหลับยาวได้ตลอดทั้งคืน

 

 

 ขวบปีแล้วจ้า เอาล่ะ ได้เวลาที่หนูน้อยเริ่มโตเป็นหนุ่มน้อย สาวน้อย เพราะฉะนั้นการนอนบ่อยๆ ระหว่างวันก็ไม่ค่อยมีอีกแล้ว เมื่อถึงวัยนี้เจ้าตัวเล็กจะนอนกลางวันในช่วงบ่ายๆ ได้นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง และนอนกลางวันเพียงครั้งเดียว พอตกกลางคืนก็จะนอนต่อเนื่องได้ยาว 10-12 ชั่วโมง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเหนื่อยกับการตื่นมาดูลูกกลางดึกอีกแล้วค่ะ

 

 

นอนกลางวัน สำคัญแค่ไหน?

 

คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง คงไม่ปฏิเสธว่าการนอนกลางวันของลูกนั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองที่จะได้พักหลังจากการเฝ้าดูแลประคบประหงมลูกมาหลายชั่วโมงด้วย ส่วนประโยชน์ต่อเจ้าตัวน้อยนั้นก็มีมากมายเช่นกัน

 

 การที่ทารกได้นอนหลับอย่างเพียงพอ จะช่วยในการพัฒนาสมอง มีงานวิจัยส่วนหนึ่งที่ระบุว่าการนอนกลางวันจะช่วยทำให้เด็กๆ จดจำข้อมูลต่างๆ ได้ยาวนานขึ้น

 

 

 มีการศึกษาพบว่าเด็กๆ ที่นอนกลางวันจะมีสมาธิมากกว่า รวมทั้งงอแงน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้นอนกลางวัน

 

 

 การนอนกลางวันจำเป็นต่อเจ้าตัวเล็ก โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน เพราะเวลานี้พลังงานในร่างกายเริ่มลดลง หากทารกได้นอนกลางวันก็เท่ากับเป็นการชาร์ตพลังงานให้กลับมาอีกครั้ง

 

 

 การนอนหลับ จะปล่อยฮอร์โมนที่ต่อสู้กับความเครียด หากหนูน้อยได้นอนเต็มอิ่มก็จะทำให้เด็กๆ ตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่นไม่งอแง

 

 

 การนอนกลางวันจะช่วยชดเชย ในกรณีที่หนูน้อยนอนไม่หลับในช่วงคืนก่อนหน้า

 

 

จัดการอย่างไร ถ้าลูกไม่นอนกลางวัน

 

มีหลายเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวน้อยไม่ยอมนอนกลางวันค่ะ โดยทั่วไปถ้าลูกเหนื่อยมากๆ และไม่ได้นอนหลับในเวลาที่เขาควรจะนอน หนูน้อยก็จะโยเยและไม่ยอมนอนง่ายๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนตารางการนอนของลูกเสียใหม่ และต่อไปก็ควรจะคอยสังเกตอาการของลูก ที่ระบุว่าเขาเหนื่อยและต้องการพักผ่อน ซึ่งสัญญาณเหล่านั้นได้แก่

 

 ขยี้ตา

 

 

 หาวนอน

 

 

 ดูเซื่องซึม ไม่ยิ้ม ไม่เล่น

 

 

 โยเย งอแง

 

 

 ร้องหาผ้าห่มหรือตุ๊กตาที่กอดเวลานอนเป็นประจำ หรือร้องหานมแม่

 

 

นอนกลางวัน แค่ไหนดี?

 

ระยะเวลาการนอนกลางวันของหนูน้อยแต่ละคนอาจจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและวัยของเจ้าตัวเล็ก โดยทั่วไปหากทารกรู้สึกเหนื่อยล้า ก็มักจะนอนหลับได้เอง คุณจึงควรสังเกตว่าลูกมักจะง่วงนอนช่วงไหน แล้วนำมาปรับเป็นตารางเวลาการนอนให้ลูก โดยยึดความต้องการของลูกเป็นหลัก ส่วนคำตอบที่ว่านอนกลางวันแค่ไหนดีนั้น ขึ้นอยู่กับวัยของทารกเป็นหลัก ยิ่งหนูน้อยโตขึ้นเท่าไร ระยะเวลาการนอนกลางวันก็จะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ

 

Need to Read หลับฝันสำคัญกับทารก

 

การสำรวจคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัย 0-3 ปี พบว่าการนอนหลับในเด็กเล็กแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ หลับธรรมดา เป็นช่วงที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วงหลับฝัน ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาสมองของลูก แต่ทั้งนี้ เด็กไทยกลับไม่สามารถเข้าสู่ช่วงหลับฝันได้ ทั้งนี้เป็นเพราะ สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม ทำให้หลับไม่สนิท หรือไม่เพียงพอ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรฝึกลูกให้นอนเป็นเวลา ทำกิจกรรมก่อนนอนให้เป็นกิจวัตร ไม่ว่าจะเล่านิทาน นวด พูดคุย รวมทั้งสร้างบรรยากาศในการนอนให้อบอุ่นและปลอดภัย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)