Haijai.com


ภาวะฉุกเฉิน มดลูกแตก ในแม่ตั้งครรภ์


 
เปิดอ่าน 3247

ภาวะฉุกเฉิน มดลูกแตก ในแม่ตั้งครรภ์

 

 

มดลูกแตก Uterine Rupture

 

เมื่อเร็วๆหลายท่านคงอาจเคยไดยินข่าวเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลจากสาเหตุมดลูกแตก ภาวะมดลูกแตกเป็นกรณีฉุกเฉินอันนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิตของแม่และทารกในครรภ์ แต่ก็เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก จึงไม่อยากให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่วิตกกังวลจนเกินไป การแตกของมดลูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

 

 

เกิดจากการที่มดลูกได้รับบาดเจ็บหรือการกระแทก ที่พบได้บ่อยคือ

 

 เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

 

 

 การใช้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูกอย่างไม่ถูกต้องทำให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกอย่างรุนแรง

 

 

 การทำคลอดทารกด้วยสูติศาสตร์หัตถการ เช่นการทำคลอดทารกท่าก้นทางช่องคลอด การกลับตัวทารกในโพรงมดลูกและทำคลอดทารกติดไหล่

 

 

 การคลอดทารกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง หรือการออกแรงดันที่มดลูกอย่างแรงระหว่างเบ่งคลอดเป็นต้น

 

 

 สาเหตุอื่นนอกจากนี้ได้แก่ การคลอดที่ติดขัดเป็นเวลานานจากสาเหตุต่างๆ เช่น เชิงกรานแคบ ทารกตัวโตมาก ท่าทารกผิดปกติ หรือทารกหัวบาตร เป็นต้น

 

 

การแตกของตัวมดลูกที่เกิดขึ้นเอง

 

 ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีประวัติที่ทำให้เกิดแผลเป็นที่โพรงมดลูกมาก่อน เช่นเคยได้รับการผ่าตัดที่มดลูก เช่นการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก การผ่าตัดคลอด หรือเคยรับการขูดมดลูก หรือทำให้แท้งบุตรแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังมดลูก ไม่ว่าจะเป็นผลจากมดลูกทะลุ หรือการติดเชื้อ เป็นต้น

 

 

 บางครั้งการแตกของมดลูกอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติได้รับการผ่าตัดที่ตัวมดลูกมาก่อน และไม่เคยได้รับการทำหัตถการใดๆในโพรงมดลูกมาก่อน แต่กล้ามเนื้อของมดลูกเองมีความอ่อนแอจากการตั้งครรภ์ และคลอดบุตรมาแล้วหลายครั้งก็เป็นได้

 

 

การแตกของมดลูกอาจเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ทำให้โพรงมดลูกสามารถติดต่อกับช่องท้องได้โดยตรง หรือการแตกแบบไม่สมบูรณ์ซึ่งยังคงมีเยื่อบุช่องท้องบางๆที่คลุมมดลูกกั้นอยู่ระหว่างโพรงมดลูกและช่องท้อง สำหรับการแยกตัวของมดลูกจากการผ่าตัดมดลูกครั้งก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดคลอดและการผ่าตัดเนื้องอกของมดลูกนั้น ถือเป็นการแตกของมดลูกแบบไม่สมบูรณ์อย่างหนึ่ง โดยที่ถุงน้ำคร่ำอาจยังไม่แตกและทารกยังคงอยู่ในโพรงมดลูก การแยกของแผลเป็นจากการผ่าตัดมดลูกลักษณะนี้นั้นมักแยกออกเพียงบางส่วนของแผลเป็น และยังคงมีเยื่อบุช่องท้องกั้นระหว่างโพรงมดลูกและช่องท้อง ในกรณีนี้เลือดที่ออกมาให้เห็นทางช่องคลอดมักมีน้อยมากหรือไม่มีเลือดออกมาให้เห็นเลย

 

 

กรณีที่มีการแตกของมดลูกแบบสมบูรณ์ทารกจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งถ้าสามารถตรวจพบว่าทารกยังมีชีวิตอยู่ภายหลังมดลูกแตก แพทย์จะรีบทำการผ่าตัดเพื่อทันทีเพื่อช่วยชีวิตทารก อย่างไรก็ตามการผ่าตัดคลอดในขณะที่แม่มีอาการวิกฤตก็ย่อมส่งผลต่อชีวิตของแม่ด้วย

 

 

การวินิจฉัยภาวะมดลูกแตกหากสามารถวินิจฉัยได้เร็ว ก็ยิ่งมีความปลอดภัยต่อชีวิตของทั่งมารดาและทารก อาการที่นำไปสู่การวินิจฉัยมดลูกแตกได้แก่

 

 อาการปวดและกดเจ็บบริเวณเหนือหัวหน่าว

 

 

 มดลูกหยุดการหดรัดตัวโดยทันทีภายหลังจากที่มีการหดรัดตัวอย่างรุนแรง

 

 

 ไม่สามารถฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกได้

 

 

 ส่วนนำของทารก (ศีรษะหรือก้นหรือส่วนแรกที่จะคลอดออกมา) ลอยสูงขึ้น

 

 

 มีเลือดออกทางช่องคลอด หลังจากนั้นจะตามมาด้วยอาการแสดงของภาวะช็อค ได้แก่ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ เนื่องจากมีการเสียเลือดมีเลือดออกในช่องท้อง

 

 

 การแตกของมดลูกสามารถเกิดได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามส่วนมากมักเกิดขึ้นในระยะเจ็บครรภ์ สิ่งที่สำคัญก็คือไม่มีอาการแสดงใดๆที่จำเพาะก่อนที่มดลูกใกล้จะแตก

 

 

การรักษา นอกเหนือจากการรักษาสภาวะช็อคแล้ว การตัดมดลูกออกเป็นการรักษาหลักของภาวะมดลูกแตกแบบสมบูรณ์ ในกรณีที่มดลูกแตกแบบไม่สมบูรณ์และผู้ป่วยต้องการมีลูกอีก ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการเก็บมดลูกไว้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากประเมินแล้วว่ามีความปลอดภัยสูงแพทย์อาจทำการเย็บซ่อมแซมบริเวณรอยต่อของมดลูกไว้ให้ได้ และวางแผนให้มีบุตรภายหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี และต้องดูแลในระหว่างตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิดเพราะมีโอกาสเกิดมดลูกแตกซ้ำได้อีก และอาจต้องเตรียมความพร้อมในการคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีประวัติมดลูกแตกเมื่ออายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด

 

 

มรว.นพ.ทองทิศ ทองใหญ่

(Some images used under license from Shutterstock.com.)