Haijai.com


สอนให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตนเอง


 
เปิดอ่าน 2573

สอนให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตนเอง

 

 

หนูทำได้ หากคุณพ่อคุณแม่อยากได้ยินลูกพูดแบบนี้ หรืออยากเห็นเขาโตขึ้นเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองแบบเต็มเปี่ยมแล้วล่ะก็ มีกิจกรรมสำหรับฝึกฝนลูกให้มีความเชื่อมั่น (Confidence) ซึ่งความมั่นใจเล็กๆ ในวัยเยาว์จะเป็นทุนให้เขามีความมั่นใจในการทำสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งเห็นความเก่งของตนเองเพิ่มมากขึ้นทุกๆ วัน คุณควรเริ่มต้นสอนให้เขาด้วยคำว่า “หนูทำได้” ทั้งในบ้านและในโรงเรียน สอนให้เขาเป็นคนกล้าทำ กล้าคิด และมีความมั่นใจในตัวเองด้วยค่ะ

 

 

โทรศัพท์สร้างปัญญา (สำหรับเด็กวัย 4-6 ปี)

 

สิ่งที่ลูกได้จากการฝึกกิจกรรมนี้ ความคิด

 

 ความจำ

 

 สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเลขกับการติดต่อกับผู้อื่น

 

1.อ่านหมายเลขโทรศัพท์บ้านของคุณดังๆ พร้อมทั้งชี้ตัวเลขแต่ละตัวให้ลูกรู้ด้วย เช่น เบอร์โทรศัพท์ 0 2 4 7 6 4 7 7 9

 

 

2.เขียนหมายเลขโทรศัพท์แต่ละหมายเลขลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เตรียมไว้แผ่นละ 1 เลข และเรียงหมายเลขนั้นๆ ตามลำดับจากซ้ายไปขวา

 

 

3.สอนให้ลูกเรียงหมายเลขให้ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์บ้าน โดยการเรียงจากซ้ายไปขวา และพยายามให้ลูกอ่านหมายเลขจากแผ่นกระดาษดังๆ พ่อแม่สามารถให้ความช่วยเหลือลูกได้ จนกว่าจะจำและอ่านหมายเลขได้

 

 

4.จากนั้นคละรวมกระดาษเหล่านี้ แล้วให้ลูกลองเรียงเบอร์โทรศัพท์บ้านที่ถูกต้อง

 

 

5.เมื่อออกไปนอกบ้านกับลูก ให้ลองโทรศัพท์กลับมาบ้านแล้วให้มีคนคอยรับโทรศัพท์ ลูกจะตื่นเต้นดีใจมากที่ติดต่อกับใครได้สำเร็จและได้ยินเสียงตอบรับ หรือให้ลองกดโทรศัพท์ไปที่บ้านญาติๆ ก็ได้ จะเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับเขามากๆ

 

 

สร้างตารางชมโทรทัศน์ (สำหรับเด็กทุกวัย)

 

สิ่งที่ลูกได้จากการฝึกกิจกรรมนี้

 

 ความคิด การเลือก

 

 ควบคุมความต้องการของคน

 

1.ให้ลูกหารายการโทรทัศน์ที่เขาชอบ โดยคุณอ่านรายการโทรทัศน์จากหนังสือพิมพ์ให้เขาฟัง และอธิบายรายการต่างๆ ในหลายแง่มุม ลูกจะค่อยๆ คิดได้ว่า ผู้ใหญ่พูดและคิดถึงรายการโทรทัศน์ชนิดต่างๆ ในรูปแบบใดบ้าง จากมุมมองไหนได้บ้าง และช่วยกันเลือกรายการโทรทัศน์ให้ลูกดูได้เพียง 2 ชั่วโมง

 

 

2.ควบคุมการดูโทรทัศน์ด้วยตัวของเด็กเอง บางบ้านอาจควบคุมเวลาดูโทรทัศน์ของลูกทันที โดยให้ลูกคิดนับเวลาที่ใช้ดูโทรทัศน์ เพื่อให้ลูกคิดดูว่า เขาเสียเวลาไปมากเท่าไรต่อ 1 วันหรือ 1 สัปดาห์

 

 

3.ถามลูกต่อไปด้วยว่า หากต้องการเลือกระหว่างดูโทรทัศน์ กับการทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ที่สนุกๆ ลูกต้องการจะเลือกทำอะไร ถ้ายังเลือกชมโทรทัศน์แสดงว่าลูกยังตัดสินใจทำเรื่องสำคัญก่อนหลังไม่เป็น

 

 

4.ทำตารางง่ายๆ สัก 2 สัปดาห์ และให้ลูกขีดเครื่องหมายว่า ทำได้ตามที่ตกลงไว้หรือไม่ และนำมาให้พ่อแม่ดูทุกวัน ชมเชย ลงชื่อหรือให้กำลังใจตามที่เห็นเหมาะสม อาจมีการดูโทรทัศน์เกินเวลาที่กำหนดไว้บ้างก็ได้ แต่หากสมาชิกคนใดทำได้ตรงตามที่กำหนด จะให้รางวัลทั้งครอบครัวหรือเฉพาะคนก็ได้ค่ะ

 

 

5.คุณพ่อคุณแม่น่าจะลองใช้โทรทัศน์เป็นแหล่งข้อมูลในเรื่องที่น่าสนใจ ด้วยการศึกษารายการต่างๆ เลือกว่าใครจะดูอะไรที่ชอบ น่าสนใจ คุณอาจเป็นผู้ช่วยลูกดูว่า เขาสนใจอะไรแล้วช่วยมองหารายการที่มีเรื่องนั้นๆ และแนะแนวการดูให้ลูก จะช่วยพัฒนาลูกให้มีทิศทางจุดมุ่งหมายในการดูโทรทัศน์ได้ นอกจากนั้นพ่อแม่ยังสามารถช่วยลูกให้รู้จักใช้แหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่น จากนิตยสาร หนังสือ หรือหนังสือพิมพ์มาประกอบการดูโทรทัศน์ในสิ่งที่สนใจด้วยก็จะยิ่งดีค่ะ

 

 

ฝึกความกล้าต่อความกลัว

 

คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินคำว่า “เงินต่อเงิน” เช่นเดียวกันกับความมั่นใจและความกล้าก็ต่อความมั่นใจและความกล้ามากขึ้นทวีคูณได้เรื่อยๆ พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้ความกล้ากับลูก เพื่อให้ลูกเพิ่มความกล้ามากขึ้นต่อๆ ไปด้วยการเปิดใจ เปิดโอกาส ลดความขยาดขลาดกลัวที่อยู่ในตัวเด็ก โดยอาจลองฝึกลูกด้วยวิธีดังนี้ค่ะ

 

 ให้ลูกไปซื้อของให้ที่ร้านค้าในหมู่บ้าน

 

 

 ให้ลูกไปเล่นกับเพื่อนๆ โดยลำพังที่สนามเด็กเล่น

 

 

หลังจากคุณมั่นใจแล้วว่า ลูกโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ และละแวกบ้านมีความปลอดภัยพอสำหรับลูกค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)