
© 2017 Copyright - Haijai.com
อายุไม่ใช่แค่ตัวเลข
ปัจจุบันผู้สูงอายุมีบทบาทในการดูแลเด็กมากขึ้น และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของเด็กด้วย เพราะในขณะที่คนรุ่นพ่อแม่ต้องทำงานเพิ่มขึ้น เด็กยังคงมีปฏิสัมพันธ์ มีกิจกรรมกับครอบครัวผ่านทางปู่ย่าตายายได้ ก่อให้เกิดความผูกพันทางอารมณ์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการเติบโต นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการสื่อสาร เพราะธรรมชาติผู้สูงอายุมักใช้เรื่องเล่า ซึ่งเป็นรูปแบบการดูแลเด็กที่ถ่ายทอดในสังคมไทย เป็นการพัฒนาการฟัง การจับใจความของเด็ก หลายท่านใช้หนังสือนิทานร่วมกับการเล่าเรื่อง ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาภาษา และเป็นการดึงเด็กให้มีกิจกรรม ไม่ปล่อยให้เด็กต้องอยู่ตามลำพังกับสื่อ แบบทีวีหรือดิจิตัลมากเกินไป จนกระทบกับพัฒนาการด้านการสื่อสาร
อายุไม่ใช่แค่ตัวเลขเท่านั้น แต่อายุบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเจ้าของอายุด้วย ในครอบครัวปัจจุบัน โอกาสที่จะอยู่กันเป็นสามช่วงอายุลดน้อยลง แต่การดูแลเด็กโดยผู้สูงอายุ กลับเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการีดูแลร่วมกันที่ยังมีทั้งสามวัย แต่อาจต่างไปตรงที่วัยของพ่อแม่อาจเหลือเพียงพ่อหรือแม่ แบบเลี้ยงเดี่ยว โดยมีครอบครัวเดิมอย่างปู่ย่าตายายเข้ามาช่วย หรือการส่งหลานไปให้พ่อแม่ช่วยดูแลในต่างจังหวัด ส่วนรุ่นพ่อแม่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวในตัวเมือง
ตัวเลขอายุที่ระบุความเป็นผู้สูงอายุอาศัยแนวคิด เรื่องสภาพร่างกายและสภาพการทำงาน ที่อายุ 60 ปี เคยเป็นตัวเลขที่ใช้แบ่งจากวัยกลางคนสู่วัยสูงอายุ รวมทั้งเป็นอายุเกษียณจากการทำงานของหน่วยงานส่วนใหญ่ในประเทศ ยกเว้นบางท่านอาจเลือกหยุดการทำงานประจำก่อนอายุ 60 ปี หรือบางสาขาที่มีความขาดแคลน ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูง อาจต้องทำงานแบบประจำต่อไปอีกระยะหนึ่งหลังอายุ 60 ปี
อายุที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขของแต่ละท่านมีเกณฑ์กลางๆ ที่อาจพอบอกได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น เมื่อเปลี่ยนช่วงวัย แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็มีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองก่อนจะถึงวัย สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตทั้งที่อยู่อาศัยที่ทำงาน สภาพการทำงานหนักเบา คนแวดล้อมสนับสนุนในครอบครัว ในชุมชน และยังอาจมีปัจจัยเฉพาะตัวอย่างพันธุกรรมอีก จึงมีทั้งปัจจัยที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง สามารถส่งผลดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังพบว่าการมีผู้สูงอายุในครอบครัว ส่งผลต่อการเติบโตของเด็กๆ ในครอบครัว ยิ่งในปัจจุบันผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยเลี้ยงดูหลาน การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำหน้าที่นี้ จึงเป็นการช่วยเด็กในรุ่นปัจจุบันไปด้วย
ผู้สูงอายุในครอบครัวมีบทบาทที่ส่งเสริมความผูกพันในครอบครัว ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ในบ้านที่สามารถเป็นศูนย์รวมให้สมาชิกในครอบครัว สามารถมีกิจกรรมร่วมกัน ร่วมไปกับการเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ช่วยทำบทบาทพ่อแม่ในการเลี้ยงหลาน ทำให้ผู้สูงอายุในครอบครัวมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ผู้สูงอายุช่วยเพิ่มการพัฒนาเด็กในครอบครัว
• ความผูกพันในครอบครัว ในครอบครัวที่มีทั้งรุ่นพ่อแม่และรุ่นปู่ย่าตายาย ช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงด้านอารมณ์ของสมาชิกในครอบครัว ในสภาพที่พ่อแม่ใช้เวลาในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ในเวลาที่พ่อแม่ยังไม่กลับเข้าบ้าน จากการทำงาน เด็กๆ กลับบ้านโดยมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ช่วยให้เด็กยังคงมีปฏิสัมพันธ์แบบครอบครัว ผ่านกิจกรรมกับปู่ย่าตายาย หลายท่านทำหน้าที่ตั้งแต่ดูแลรับส่งหลานจากที่โรงเรียน ถึงบ้านช่วยดูเรื่องอาหาร เรื่องการบ้าน เรื่องเล่น พูดคุยกับหลาน เล่านิทานให้ฟัง ซึ่งนำไปสู่ความผูกพันทางอารมณ์ที่เป็นรากฐานสำคัญในการเติบโตสำหรับเด็กๆ
• การแก้ไขปัญหา เป็นที่ยอมรับว่าผู้สูงอายุมีประสบการณ์ชีวิต การพูดคุยกับหลานนำไปสู่การมีมุมมองชีวิต ที่มีความหลากหลายแตกต่างไปจากพ่อแม่ เป็นทางเลือกสำหรับเด็กที่จะมองการใช้ชีวิต โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักให้วิธีคิดในแบบที่ให้ความสำคัญ กับการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงความเอื้อเฟ้อ การอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามประสบการณ์ในช่วงชีวิตของท่าน เป็นการสร้างความเข้าใจแบบที่เด็กที่เติบโตในปัจจุบัน อาจไม่ค่อยได้มีโอกาสที่จะเห็นวิธีคิดแบบนี้ ในการใช้ชีวิตทางสังคมปัจจุบันมากนัก
• การสื่อสาร แม้ผู้สูงอายุจะมีช่วงชีวิตที่แตกต่างจากวัยของหลานมาก แต่การมีผู้สูงอายุในบ้านเป็นผู้ช่วย สำคัญที่ช่วยในการพูดคุยสื่อสาร ธรรมชาติผู้สูงอายุ มักใช้เรื่องเล่าซึ่งเป็นรูปแบบการดูแลเด็กที่ถ่ายทอดในสังคมไทย เป็นการพัฒนาการฟัง การจับใจความของเด็ก หลายท่านใช้หนังสือนิทานร่วมกับการเล่าเรื่อง ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาภาษา และเป็นการดึงเด็กให้มีกิจกรรม ไม่ปล่อยให้เด็กต้องอยู่ตามลำพัง ที่มีแนวโน้มให้เด็กอยู่กับสื่อแบบทีวีหรือดิจิตอลมากเกินไป จนกระทบกับพัฒนากรด้านการสื่อสาร
ความผูกพันทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุในครอบครัว เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังสามารถทำสิ่งที่มีคุณค่าได้ ทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ต้องมีความตื่นตัว มีความสุข แต่ก็ต้องมีการจัดความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างรุ่น โดยเฉพาะรุ่นพ่อแม่กับรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน แม้ปู่ย่าตายายจะช่วยในการส่งเสริมการเลี้ยงดูหลาน แต่ผู้สูงอายุยังต้องการเวลาในการดูแลตนเอง โดยเฉพาะเวลาในการพักผ่อน การได้รับการสนับสนุนจากระบบครอบครัว ไม่สร้างภาระทั้งด้านเวลาและด้านเศรษฐกิจ จนผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เพราะภาวะสุขภาพกายสุขภาพใจของผู้สูงอายุจะไปส่งผลกับการดูแลหลานด้วย
ความชัดเจนในขอบเขตของพ่อแม่เป็นการแบ่งภาระความรับผิดชอบในการดูแลเด็ก ซึ่งพ่อแม่ยังเป็นคนหลักในการดูแลลูก การวางกิจวัตรประจำวันของลูก ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ต้องใช้เวลากับลูก สร้างสัมพันธภาพกับลูก และฝึกลูกให้เรียนรู้ที่จะสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม ในครอบครัวที่ไม่ชัดเจน จะมีทั้งการผลักภาระการเลี้ยงดูลูกให้เป็นของผู้สูงอายุ และการห่างเหินแยกห่างจากกันของคนสามรุ่น จนแทบไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเด็ก
วันของครอบครัว เป็นวันที่ครอบครัวได้มีโอกาสแสดงความรู้สึกต่อกัน โดยเฉพาะการแสดงความรู้สึกต่อผู้สูงอายุในครอบครัว แม้จะมีความไม่เข้าใจต่อกันบ้าง แต่การสร้างความรู้สึกที่ดีที่ครอบครัวจะได้ร่วมกัน รวมตัวคนสามรุ่น ในช่วงเวลาของวันครอบครัว จะเป็นแบบอย่างที่ดี และสานความสัมพันธ์ต่อกันของทุกรุ่นที่ต่างพึ่งพาต่อกัน การดูแลผู้สูงอายุด้วยระบบครอบครัวเป็นส่วนที่สนับสนุนผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุเองก็ทำหน้าที่ในการช่วยดูแลรุ่นถัดไปให้เติบโต ในช่วงเวลาที่แม้จะมีลูกน้อยลง แต่การดูแลลูกแต่ละคนก็ต้องการผู้สนับสนุน สุขสันต์วันครอบครัวของคนสามรุ่น
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)